เกษตรกรเมืองอุบลฯ เลี้ยงแพะกึ่งยืนโรง ทำตลาด 3 ทาง เสริมมูลค่าช่วยเพิ่มกำไร

“เลี้ยงให้รอด ก่อนถามเรื่องตลาด” เป็นอีกหนึ่งหลักคิดของเกษตรกรเลี้ยงแพะที่อยู่จังหวัดอุบลราชธานี คือ คุณธีร์ไพทูรย์ ขาวดอกไม้ หรือที่ทุกคนเรียกเขาว่า คุณธีร์ เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ผ่านการเลี้ยงแพะมานั้น เขามักจะสอนกับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงแพะเป็นอาชีพรายใหม่เสมอว่า การเลี้ยงให้รอดและมีประสบการณ์ต่อการจัดการนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแพะเป็นสัตว์ที่มีชีวิต ถ้ามีการจัดการที่ไม่ดีหรือรับมือไม่เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้าก็จะทำให้แพะตายก่อนที่จะถึงวันส่งขาย เท่ากับว่าสิ่งที่ทำมานอกจากเสียเวลาแล้ว ยังไม่ได้กำไรจากการขายอีกด้วย

จากสถานการณ์ไม่กี่ปีที่ผ่านมาในเรื่องของการปรับเปลี่ยนจากทำพืชเชิงเดี่ยว โดยแบ่งพื้นที่มาทำด้านปศุสัตว์นั้น ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่มีการปรับตัวและเลี้ยงสัตว์อย่างแพะแกะเพื่อเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น จึงทำให้ตลาดแพะแกะในบ้านเราไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ถือได้ว่ามีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งสร้างตลาดที่มั่นคง ตลอดไปจนถึงการนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า จึงทำให้แพะแกะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคได้หันมาบริโภคต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการรวมไปถึงการส่งออกด้วยเช่นกัน

คุณธีร์ไพทูรย์ ขาวดอกไม้ หรือ คุณธีร์

คุณธีร์ รองประธานเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะอุบลราชธานี อยู่บ้านเลขที่ 121 หมู่ที่ 5 ตำบลยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้เล็งเห็นถึงตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขาเกิดความสนใจที่อยากจะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม และมีการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดไปด้วย คือนอกจากขายเป็นพ่อแม่พันธุ์แล้ว ยังทำเป็นแพะขุนเพื่อนำเนื้อไปแปรรูป และนำน้ำนมแพะที่ได้มาต่อยอดเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางต่างๆ ยิ่งเพิ่มกำไรให้กับเขาได้เป็นเท่าตัวทีเดียว

ให้ความรู้กับผู้สนใจเลี้ยง

เลี้ยงแพะลูกผสม

ช่วยต่อยอดทางตลาด  

คุณธีร์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนที่ยังไม่ได้มาจับในเรื่องของการเลี้ยงแพะ เขายึดอาชีพรับซื้อของเก่า แต่ด้วยราคาของการทำไม่เสถียร จึงมองว่าไม่น่าจะเป็นอาชีพที่มั่นคงกับตัวเขาได้ ทำให้มีโอกาสได้ซื้อที่ดินเพื่อมาทำสวนในเวลาต่อมา ปัญหาของสวนทั่วไปอย่างที่ทราบๆ กันดี ก็จะเป็นในเรื่องวัชพืชที่เป็นอุปสรรคหลัก เขาจึงมองว่าน่าจะนำสัตว์เข้ามาเลี้ยง นอกจากจะได้กำจัดวัชพืชแล้ว มูลของสัตว์ที่ได้ยังสามารถเป็นปุ๋ยให้กับพืชได้อีกด้วย

พื้นที่โรงเรือน

“ตอนเริ่มนำแพะมาเลี้ยง ไม่ได้คิดว่าจะต่อยอดได้ขนาดนี้ เพราะมองว่าจะเลี้ยงเพื่ออยู่ในสวน ต่อมาเลี้ยงไม่นานแพะให้ลูกที่ไวมาก และเราก็ลองไปขายดูก็ได้ผลตอบรับดี ทีนี้ก็เพิ่มแม่พันธุ์เข้ามาเลี้ยงเรื่อยๆ พร้อมกับเข้ากลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะที่อยู่ในเขตอีสาน เหตุผลที่นี่มีการเลี้ยงแพะมาก เพราะทางอีสานถือว่าอากาศมีความแห้งแล้ง สภาพดินก็เป็นดินทราย เวลาสัตว์ฉี่มันก็จะซึมลงดินไป ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น พอได้เข้ารวมกลุ่ม ผมก็ขยายการเลี้ยงมากขึ้น ตอนนี้มีแพะตัวเมียอยู่ประมาณ 120 ตัว ตัวผู้ 2 ตัว” คุณธีร์ เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงแพะ

โดยสายพันธุ์ที่เลือกเลี้ยงเป็นแพะสายพันธุ์ลูกผสมแองโกลนูเบียน ที่นำมาผสมกับสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์ชามี่ ซึ่งภายในฟาร์มก็จะเน้นเลี้ยงเป็นแพะสายพันธุ์ลูกผสมเป็นหลัก ทำให้ผลผลิตที่ได้จากแพะที่เลี้ยงมีเนื้อและนมที่นำไปต่อยอดการทำตลาดเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด

แปลงหญ้าที่อยู่ติดโรงเรือน

เน้นพื้นที่เลี้ยงกึ่งยืนโรง

ช่วยจัดการได้ง่ายขึ้น

ในเรื่องของการจัดสรรที่ดินเพื่อเลี้ยงแพะนั้น คุณธีร์ บอกว่า จะทำโรงเรือนแบบกึ่งยืนโรงให้ข้างโรงเรือนมีแปลงปลูกหญ้าประมาณ 2 ไร่ พื้นที่สำหรับปลูกหญ้าอาหารสัตว์จำนวน 6 ไร่ ซึ่งการทำโรงเรือนแบบกึ่งยืนโรงนี้เอง ช่วงไหนที่งานประจำยุ่งๆ แพะก็จะออกมากินหญ้าที่อยู่ข้างโรงเรือนได้เอง โดยที่เขาไม่ต้องไปตัดหญ้าจากแปลงที่ปลูกมาให้ จึงทำให้ในแต่ละวันเขาสามารถไปทำกิจกรรมด้านอื่นๆ ได้

การผสมพันธุ์แพะภายในฟาร์ม หลักการเลือกพ่อพันธุ์จะใช้พ่อพันธุ์ที่มีโครงสร้างใหญ่ ส่วนตัวเมียไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่จะเน้นให้มีเต้านมที่ใหญ่ เพื่อเวลามีลูกจะสามารถให้นมลูกได้นานตลอด 3 เดือน

แพะภายในคอก

“แม่พันธุ์ที่ดีต้องมีอายุอย่างต่ำ 8 เดือน จึงจะเหมาะสมมาผสมกับพ่อพันธุ์ พอพ่อพันธุ์ผสมติดแล้ว รอตั้งท้องประมาณ 5 เดือน แม่พันธุ์ก็จะคลอดลูกออกมา ในช่วงแรกพยายามให้ลูกดื่มน้ำนมแม่ให้ได้มากที่สุด เพราะแพะที่ได้กินนมแม่จะค่อนข้างแข็งแรง ซึ่ง 3 เดือนแรกนี้ ให้กินนมแม่ไปเลยเรื่อยๆ สลับกับกินอาหารข้นที่มีโปรตีนอยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแม่พันธุ์ก็ให้กินอาหารข้นเสริมเข้าไป ต่อตัวต่อวันประมาณ 100-300 กรัม ก็จะช่วยให้แม่สมบูรณ์ให้น้ำนมที่ดี” คุณธีร์ บอก

สำหรับหญ้าอาหารสัตว์ที่ให้แพะกินตลอดทั้งวัน จะเป็นหญ้าแพงโกล่าสลับกับหญ้าเนเปียร์ พร้อมทั้งหาพืชผลทางการเกษตรในท้องถิ่นมาให้แพะกินเสริมด้วย ก็จะทำให้แพะมีอาหารกินหลากหลาย ส่วนในเรื่องของการทำวัคซีนก็จะมีโปรแกรมที่กำหนดไว้ชัดเจน หลักๆ ก็จะเป็นการถ่ายพยาธิและทำวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยปีละ 1 ครั้ง

โดยแพะที่หย่านมแล้วมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หากต้องการขายสามารถขายได้ทันที

พื้นที่ฟาร์ม

ทำตลาด 3 ทาง

มีผลกำไรมากขึ้น

จากการมีกลุ่มที่เข้มแข็งและความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง คุณธีร์ บอกว่า ในเรื่องของตลาดไม่เป็นห่วงมากนัก เพียงแต่ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจในเรื่องคุณภาพ ให้แพะมีความแข็งแรงอยู่เสมอ พ่อค้าจะเข้ามาติดต่อขอซื้ออยู่เสมอ จนบางช่วงเลี้ยงแพะโตไม่ทันขายก็มี ซึ่งตลาดที่เขาทำแบ่งออกเป็น 3 ทาง คือ 1. ตลาดพ่อแม่พันธุ์ 2. ตลาดแพะขุน และ 3. ตลาดสำหรับแปรรูป

ตลาดพ่อแม่พันธุ์จะขายพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นทรงสวยทรงดี และเพื่อนๆ เกษตรกรท่านอื่นต้องการซื้อไปขยายพันธุ์ต่อ ราคาตัวเมียอยู่ที่ตัวละ 3,500-5,500 บาท และตัวผู้ราคาอยู่ที่ตัวละ 5,000-7,000 บาท

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมแพะ

ตลาดแพะขุนที่จะขายส่งต่อให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ แพะอายุ 3 เดือนขึ้นไป น้ำหนักแพะอยู่ที่ 15-20 กิโลกรัม และ 21-45 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 90-110 บาท

ส่วนตลาดที่นำมาทำการแปรรูป ก็จะประกอบไปด้วยการทำลูกชิ้นและเนื้อสเต๊กต่างๆ พร้อมทั้งนำน้ำนมแพะที่รีดจากแม่ให้นม มาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ราคาผลิตภัณฑ์เริ่มต้นอยู่ที่ 80 บาท จึงนับว่าเป็นการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าได้เป็นเท่าตัว

สบู่นมแพะ

“พอเรามาทำตลาดแบบ 3 ทาง ค่อนข้างตอบโจทย์มาก เพราะสามารถเลือกและกำหนดได้ ว่าแพะจะไปสู่ตลาดไหน อย่างตัวสวยๆ ก็ไปเป็นตลาดพ่อแม่พันธุ์ ตัวทรงไม่ได้ก็ขุนขาย จึงนับว่ารายได้จากการเลี้ยงแพะเรากำหนดได้ เพราะฉะนั้นใครที่สนใจเลี้ยง ผมก็จะแนะนำว่า ต้องมาอบรม มาหัดเลี้ยงก่อน ลองมาเลี้ยงจริงๆ ในฟาร์มผมก็ได้ ถ้าชอบและรักที่อยากจะทำจริงๆ ผมเชื่อว่าการเลี้ยงแพะเกิดรายได้แน่นอน” คุณธีร์ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงแพะหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแปรรูปต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธีร์ไพทูรย์ ขาวดอกไม้ หมายเลขโทรศัพท์ 064-654-7993

………………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354