ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
“ชาวมอแกน” เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่บริเวณเกาะในทะเลอันดามันมานานหลายร้อยปี โดยอาศัยอยู่บน “เรือก่าบาง” ซึ่งเป็นเรือขุด เสริมกาบไม้ระกำ ใช้ใบเตยทะเลเย็บเข้าด้วยกันเป็นใบเรือและหลังคา ชาวมอแกนหากินกับทะเล งมหอย ตกปลา จับปูและสัตว์ทะเลต่างๆ อาหารหลักคือ เผือก มัน

ชาวมอแกนมีรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งค่านิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง และดำเนินวิถีชีวิตสอดคล้องกับฤดูกาล เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ มีคลื่นลมแรงจัด ชาวไทยมอแกนจะอพยพฝั่งสร้างบ้านเรือนตามเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามันเพื่อหลบลมพายุ เนื่องจากชาวมอแกนเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเชื้อชาติ ชาวมอแกนไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ภาษาไทย ทำให้มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก และขาดความรู้ความเข้าใจในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวมอแกนในด้านต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ

ศรช.ชาวไทยมอแกน
ช่วงปลายปี 2547 ชาวมอแกนประสบภัยธรรมชาติคลื่นสึนามิ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำชาวมอแกนที่กระจัดกระจายมาอยู่รวมกัน และสร้างหมู่บ้านขึ้นบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และมีพระราชดำริให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) ชาวไทยมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริ

ศรช.ชาวไทยมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548 อยู่ภายใต้การดูแลของ กศน.อำเภอคุระบุรี สำนักงาน กศน.จังหวัดพังงา โดยมุ่งจัดการเรียนการสอนแก่เยาวชนชาวมอแกน ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน 3 ประเด็นหลัก คือ การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กเยาวชนให้สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ การดูแลสุขภาพอนามัยแก่เด็กเยาวชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข

เสริมทักษะชีวิตชาวมอแกน
ศรช.ชาวไทยมอแกน มุ่งจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ เพื่อให้ชาวไทยมอแกนสามารถอ่าน เขียน ฟังภาษาไทย พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวันได้ สามารถสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ และมีความรู้ความเข้าใจและเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร

ที่ผ่านมา อบต.เกาะพระทอง ได้คัดเลือกครูระดับปฐมวัยเข้ามาจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 1-3 ให้แก่เยาวชนชาวไทยมอแกน ในพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็ส่งมอบเด็กเยาวชนดังกล่าวให้เข้าเรียนต่อในหลักสูตร กศน.ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา กับครู ศรช.ชาวไทยมอแกน ตามลำดับ

ศรช.ชาวไทยมอแกน ได้จัดการศึกษาส่งเสริมให้เยาวชนชาวไทยมอแกนมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสุขอนามัย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ และการเป็นพลเมืองดี โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมอแกน
ขณะเดียวกัน ศรช.ชาวไทยมอแกน ได้จัดหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวไทยมอแกน เช่น การกำจัดขยะ สอนให้เด็กเยาวชนเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกต้อง โดยขุดหลุมฝังกลบขยะเปียกและขยะแห้ง เพื่อลดปัญหาขยะในสิ่งแวดล้อม ส่วนการเรียนการสอนหลักสูตรอาชีพ ประกอบด้วย อาชีพรับจ้าง การสานกระปุกและเสื่อ การทำเรือจำลอง การทำประมงชายฝั่ง การทำอาหารทะเลตากแห้ง อาหารหมักดอง การปลูกผักสวนครัว การผลิตสมุนไพรเสริมรายได้ หลักสูตรนวดแผนไทย

ปัจจุบัน มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย เนื่องจากช่วงฤดูการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ดังนั้น ศรช.ชาวไทยมอแกน จึงสนับสนุนให้ชาวไทยมอแกนสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติและเป็นไกด์นำทางการท่องเที่ยวภายในบริเวณเกาะซึ่งเป็นที่อยู่ชาวไทยมอแกน และมีรายได้จากการจำหน่ายของที่ระลึกเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยมอแกนให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ศรช.ชาวไทยมอแกน ได้จัดหลักสูตรที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อของชาวไทยมอแกน ประกอบด้วย หล่อโบง วิถีชีวิตของมอแกน, พิธีรับบุญเดือนสิบ, พิธีศพ…ดินกลบหน้า, ความเชื่อและศาสนา, ครอบครัวและสังคมมอแกน, ด้วยสายใยรัก, ก่าบาง…เรือแห่งชีวิต, การละเล่นของเรา, ยิ้มสวยด้วยมอแกน, ปลาสวย และพืชสมุนไพรบ้านเรา ฯลฯ

ประเพณี ความเชื่อ ชาวไทยมอแกน
ปัจจุบัน พิธีกรรมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันของชาวมอแกนยังคงมีปรากฏในพิธีการฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ หรือเหนียะเอนหล่อโบง เรียกกันสั้นๆ ว่า “พิธีหล่อโบง” ซึ่งมอแกนถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ โดยมีความเชื่อว่า เสาหล่อโบง เป็นสิ่งคอยปกปักคุ้มครองกลุ่มของตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากอันตรายทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บ จากอุบัติภัยทางธรรมชาติและทางทะเล มักจัดขึ้นในเดือน 5 ทางจันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูแล้งเข้าฤดูฝน

มีชาวมอแกนจากเกาะต่างๆ มาร่วมพิธีกันอย่างคึกคัก ถือว่าเป็นการรวมญาติ โดยมี โต๊ะหมอ หรือ ออลอง ปูตี เป็นผู้ประกอบพิธีและสื่อสารกับวิญญาณที่อยู่เหนือธรรมชาติ โดยใช้ดนตรีประกอบพิธีสวดเชิญบรรพบุรุษสร้างบรรยากาศให้เกิดความครึกครื้นในพิธี
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก รายการเรียนนอกรั้ว ตอน การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไทยมอแกน กศน. อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา, สำนักงาน กศน.จังหวัดพังงา และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
………………………………………….
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354