เอ็มโอเอ แหล่งเรียนรู้เกษตรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ปวยเล้งในแปลง

การใช้สารเคมีในการทำการเกษตรที่ผ่านมาหลายสิบปี กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สารพิษที่ตกค้างอยู่ในพืชผัก อากาศ ดิน และแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เกิดปัญหาการเจ็บป่วยเนื่องจากบริโภคอาหารที่มีสารพิษตกค้าง การใช้เคมีนานๆ ทำให้ดินเสื่อมไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก

โมกิจิ โอกาดะ นักปรัชญาชาวญี่ปุ่นได้ริเริ่มทำเกษตรธรรมชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 หลักการของเกษตรธรรมชาติของโมกิจิ คือการทำให้ความสมดุลและวิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตมีความถาวร ด้วยการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่สอดคล้องกับธรรมชาติและให้ความสำคัญต่อดินเป็นพื้นฐาน

โมกิจิ โอกาดะ กล่าวไว้ว่า “ตัวธรรมชาติเองซึ่งบริสุทธิ์และไม่มีการแต่งเติมนั่นแหละคือสัจธรรม ฉะนั้น ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดก็ตาม มนุษย์ควรยึดธรรมชาติเป็นหลัก การเรียนรู้จากธรรมชาติเป็นเงื่อนไขสูงสุดแห่งความสำเร็จ”

“พลังที่เป็นหลักสำคัญในการเจริญเติบโตของพืชนั้นมาจากธาตุดิน โดยมีพลังของธาตุน้ำและธาตุไฟเป็นส่วนเสริม เนื่องจากการเจริญเติบโตของพืชขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน ซึ่งเป็นพลังหลักเป็นสำคัญ ดังนั้น เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของการเพาะปลูกจึงต้องอยู่ที่ต้องปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดี ทั้งนี้ เพราะดินยิ่งดีก็จะยิ่งได้ผล ส่วนวิธีการปรับปรุงดินก็คือการเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าให้ดิน ซึ่งทำได้โดยการทำดินให้มีความสะอาดและบริสุทธิ์ เพราะว่าดินยิ่งบริสุทธิ์ก็จะยิ่งทำให้พลังการเจริญเติบโตของพืชดีขึ้น”

โมกิจิ โอกาดะ ได้ขยายความคิดแนวทางเกษตรธรรมชาตินี้ไปทั่วโลก รวม 170 ประเทศ รวมทั้งเมืองไทยด้วย แต่ในทวีปเอเชียมีเฉพาะในไทย เกาหลี และญี่ปุ่น

โรงเรียนวิทยาศาสตร์ชีวิตและศิลปะ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย
โรงเรียนวิทยาศาสตร์ชีวิตและศิลปะ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย

มูลนิธิเอ็มโอเอไทย สาขาลพบุรี ตั้งอยู่ เลขที่ 273 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เกษตรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้เริ่มทดลองทำเกษตรธรรมชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยเริ่มจากการปรับปรุงดินจนสามารถที่จะปลูกผักเกษตรธรรมชาติโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรใดๆ เลย

จากนั้นจึงได้จัดอบรมเกษตรกรรมธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้สนใจทั่วไปในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จนสามารถจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรทำการเกษตรธรรมชาติได้ นอกจากนี้ ยังมีคณะครู อาจารย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษาทั้งในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงมาศึกษาดูงาน

ต่อมาทางศูนย์ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ทำการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรในประเทศไทยโดยศึกษาวิจัยส่งเสริมพัฒนาและเผยแพร่เกษตรธรรมชาติเพื่อมุ่งสร้างระบบการเกษตรยั่งยืน นอกจากนี้ ศูนย์ยังได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมล็ดพันธุ์เกษตรธรรมชาติ การปรับปรุงดินโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ การฝึกปฏิบัติในแปลงเกษตร การป้องกันและการกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี การวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อคุณภาพชีวิตตามหลักโภชนาการ

สถานที่อบรมของสาขาลพบุรี มีอาคารขนาดกลางสามารถจัดเป็นห้องประชุมได้ และห้องพักสำหรับผู้อบรมประมาณ 30-50 คน และอำนวยความสะดวกครบ การอบรมเกี่ยวกับเกษตรธรรมชาติที่สาขาลพบุรีจะแบ่งเป็น 3 รุ่น รุ่นละ 35 คน ใช้เวลาอบรม 4 วัน นอกจากนี้ ยังมีฐานเรียนรู้ภาคปฏิบัติ เช่น การเตรียมแปลง การปลูกผัก และการทำปุ๋ยหมักอีกด้วย

 

สมาชิกที่ปลูกผักอินทรีย์จำหน่าย

อาจารย์ชูชาติ ดูสัจธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ของ MOA กล่าวว่า “หลังจากเกษตรกรหรือผู้สนใจผ่านการอบรมแล้ว ก็สามารถนำวิธีการไปปลูกผักอินทรีย์บริโภคได้ที่บ้านด้วยตัวเอง แต่ถ้ามุ่งมั่นที่จะผลิตเพื่อการค้าด้วย ทางมูลนิธิยินดีจะรับซื้อผลผลิตอินทรีย์ของเกษตรกร โดยจะมีการวางแผนการผลิตกับมูลนิธิ หลังจากนั้น มูลนิธิก็จะไปตรวจแปลงเกษตรกรเพื่อรับรองแปลงเกษตรตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่สากลยอมรับเพื่อรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก มาจำหน่ายต่อไป”

ป้าอุทัย กับแปลงผักบุ้ง
ป้าอุทัย กับแปลงผักบุ้ง

ป้าอุทัย สายสะอาด อยู่บ้านบ่อหก ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังว่า “ไปอบรม ที่ MOA มาเมื่อปี พ.ศ. 2554 ก็กลับมาทำเลยโดยใช้พื้นที่ข้างบ้าน งานกว่าๆ ปลูกผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า ผักโขม ผักชี วนเวียนกันไป แต่กระเทียมปลูกได้เฉพาะหน้าหนาว ปุ๋ยใส่แปลงจะใช้ขี้วัวมาหมักกับ พด.1 ใช้เวลาประมาณ 30 วัน ก็ใช้ได้ ผักปลูกตอนแรกๆ แมลงยังไม่มี พอปลูกซ้ำๆ กันก็จะมารบกวน ต้องเปลี่ยนชนิดผักปลูกไปเรื่อย ทุกครั้งที่รื้อแปลงจะต้องใส่ปุ๋ยขี้วัวหมักเพิ่มเข้าไปทุกครั้ง ทำแปลงปลูก กว้าง 1 เมตร ยาว 12 เมตร” นอกจากนี้ ป้าอุทัยได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 20 ไร่

ป้าสุบิน กับแปลงผักสลัด
ป้าสุบิน กับแปลงผักสลัด

ส่วนเกษตรกรอีกรายซึ่งอยู่รั้วติดกันคือ ป้าสุบิน สารีพันธุ์ ปลูกบร็อกโคลี่ ผักชี กวางตุ้ง คะน้าฮ่องเต้ ขึ้นฉ่าย เรดโอ๊ก สวนมะนาว และมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 10 ไร่ ผักอินทรีย์ที่ปลูกส่งให้กับ MOA เป็นงานอดิเรกที่ใช้พื้นที่ข้างบ้านประมาณ 200 ตาราวา

ป้าบำรุง ตรัสกุล อยู่ที่บ้านวังน้ำดำ ตำบลนิคม ปลูกผักอินทรีย์บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ข้างบ้าน นอกเหนือจากทำไร่มันสำปะหลัง จะปลูกผักเลื้อย เช่น ถั่วฝักยาว บวบ และผักกินใบเป็นหลัก ยาที่ใช้ฉีดไล่แมลงจะใช้มะพร้าวขูดครึ่งกิโลกรัม ผสมกับยาสูบแห้ง 1 กำมือ ใช้น้ำ 1 ลิตร คั้นออกมา แช่ตู้เย็นไว้ เวลาจะใช้ อัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ตอนเช้าหรือเย็นก็ได้ตอนที่ไม่มีแดดจัด ถั่วพอเริ่มมีใบ 2 ใบ ก็จะต้องฉีด ฉีดซ้ำทุกๆ 7 วัน ป้องกันแมลงรบกวนถั่วฝักยาว

ป้าบุญเรือน กับปวยเล้ง
ป้าบุญเรือน กับปวยเล้ง

ป้าบุญเรือน กะโปรงทอง รายนี้ตั้งใจทำผักอินทรีย์เป็นอาชีพ ไม่ได้เป็นงานอดิเรกเหมือนท่านอื่นเขา ด้วยพื้นที่เกือบ 3 ไร่ แต่อีก 20 ไร่ ทำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ต้องเอาใจใส่มาก ป้าบุญเรือนเป็นคนดูแลกับน้องสาวสำหรับผักอินทรีย์นี้ ผลผลิตของสวนนี้มีจำนวนมากพอสมควรเพราะนอกจากส่งให้ MOA แล้ว ผลิตส่วนหนึ่งจะขายที่ตลาดนัดใกล้บ้าน ของที่ปลูกจึงหลากหลาย เช่น คะน้า กวางตุ้ง ปวยเล้ง บวบ ตะไคร้ กะเพรา โหระพา พริก มะเขือ และกล้วยไข่ ส่วนปวยเล้ง ป้าบุญเรือนบอกเราว่า สามารถปลูกได้ทั้งปี ผู้เขียนขอซื้อปวยเล้งมาผัดน้ำมันหอย แต่ป้าบุญเรือนไม่ยอมเอาเงิน ถอนมาให้เฉยๆ ซะงั้น 2 กิโล เลยต้องแจกเพื่อนฝูงไปบางส่วน แต่แปลกมากปวยเล้งอินทรีย์ผัดแล้วไม่ยุบเหมือนปวยเล้งเคมีทั่วไป การทำผักของป้าบุญเรือนได้เปรียบคนอื่นเนื่องจากน้องชายที่อยู่ติดกันเลี้ยงหมูจึงได้ขี้หมูกับขี้วัวมาใส่ในสวน ผักจึงงามกว่าที่อื่นๆ

สมาชิกส่วนใหญ่ที่ได้รับการอบรมมักจะนำความรู้ทางเกษตรอินทรีย์ไปปลูกกินที่บ้าน มีจำนวนน้อยที่สามารถผลิตพืชผักอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้กับ MOA โดยปกติ MOA จะไปรับผักเพื่อจำหน่ายทุกวันในจังหวัดลพบุรี ส่วนวันอาทิตย์จะนำผักเข้าศูนย์รวบรวมผักที่ปัฐวิกรณ์ 10 โดยจะมีผักจากสระแก้ว สิงห์บุรี และเชียงราย มาสมทบเพื่อจำหน่ายในกรุงเทพฯ

อาจารย์ชูชาติ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “MOA จะจัดอบรมปีละ 3 ครั้ง โดยปีนี้ได้จัดอบรมไปแล้ว ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมติดต่อได้ที่ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย เลขที่ 273 หมู่ที่ 2 ซอยวิเศษสุข ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โทรศัพท์ (036) 422-597 และ (036) 414-242 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีข้อผูกมัดว่าจะทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิจะจัดที่พักและอาหาร 3 มื้อ ให้ทุกท่านอีกด้วย”

สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต หากมีโอกาสที่จะปลูกผักอินทรีย์กินเอง ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากทำไม่ได้ก็จำเป็นต้องเสาะหาพืชผักปลอดภัยเพื่อสุขภาพ สุขภาพที่แข็งแรงไร้โรคภัย เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนายิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ