ศิริมน พันธุ์พิริยะ ยุวเกษตรกรดีเด่นระดับชาติ ปี 2565

งานพระราชพิธี พืชมงคจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2565 มีพิธีพระราชทานโล่รางวัลประเภทต่างๆ เพื่อประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานให้ปรากฏต่อสาธารณชน ขอแสดงความยินดีกับ นางสาวศิริมน พันธุ์พิริยะ นักเรียนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภท “สมาชิกยุวเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ศิริมน พันธุ์พิริยะ

ครอบครัวเกษตรกร 100 เปอร์เซ็นต์

นางสาวศิริมน พันธุ์พิริยะ หรือ แก้ว อยู่บ้านเลขที่ 178 หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เกิดในครอบครัวเกษตรกรรม คุณพ่อประสงค์ – คุณแม่เรไร พันธุ์พิริยะ ทำสวนผลไม้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มีพี่น้อง 3 คน แก้วเป็นคนสุดท้อง เป็นสมาชิก    ยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปี 2564 ได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มยุวเกษตรกร ตอนนั้นกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อส่งผลงานเข้าประกวดอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุ 17 ปี ปัจจุบัน จบการศึกษาแล้ว ศิริมน พันธุ์พิริยะ ได้สอบเข้าศึกษาต่อที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะการจัดการทรัพยากรเกษตร กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1

ปฎิบัติการสมาชิกกลุ่มยุวเกษตร

พี่ชายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ

นำเสนอผลงานประกวดระดับเขต 3
ไม้อวบน้ำ

จากการหล่อหลอมของครอบครัวเกษตรกรรม ศิริมน เล่าว่า ได้เรียนรู้และซึมซับการทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ประสบการณ์ด้วยการช่วยพ่อแม่ทำงานในสวนทุกอย่าง ทำให้มีทักษะในงานด้านการเกษตรและสามารถช่วยเหลืองานของครอบครัวได้ และอนาคตมีความตั้งใจที่จะสืบทอดอาชีพของเกษตรกรรมต่อไป เมื่อเข้าศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 ที่โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ปี 2559 สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร เนื่องจากมีพี่ชาย สิทธิศักดิ์ พันธุ์พิริยะ เป็นต้นแบบ พี่ชายได้รับรางวัลสมาชิกยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศเมื่อปี 2559 จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เข้ามาเป็นสมาชิกยุวเกษตรกร ดำเนินตามรอยพี่ชายในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการเป็นประธานกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม

โดยได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มยุวเกษตรกร ปี 2564 เมื่อเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรจะเลือกกิจกรรมที่สนใจและสามารถนำไปต่อยอดที่บ้านได้ เช่น การทำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ กิจกรรมบริษัทจำลองกลุ่มอุบลชาติ (ขยายพันธุ์บัว ดูแลไม้ดอกไม้ประดับ) กลุ่ม  ไม้อวบน้ำ แค็กตัส ไม้ขวด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ช่วยให้การขยายพันธุ์พืชเพิ่มปริมาณได้จำนวนมาก รวมทั้งกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นทีม การวางแผนการทำงานที่เป็นขั้นตอนและการคำนวณต้นทุนการผลิต การทำบัญชี การตลาด

ภายในโรงเรือน

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นการขยายพันธุ์ที่ได้ปริมาณมาก สมาชิกยุวเกษตรกรนำไปปฏิบัติที่บ้านได้ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้จะประหยัด หาง่าย ทำเองได้ เช่น กล่องสำหรับเลี้ยงต้นอ่อน ต้องมีที่ใส่วุ้นอาหารด้วย ใช้กล่องพลาสติกที่มีฝาปิด ตู้ย้ายกล้าพัฒนามาจากกล่องใส่รองเท้าพลาสติก แต่การเพาะเลี้ยงจะเข้มงวดเรื่องความสะอาด เริ่มตั้งแต่ล้างมือให้สะอาดก่อนปฏิบัติการ กล่องย้ายกล้าต้องปลอดเชื้อ ใช้ไฮเตอร์หยดก่อนใส่วุ้นอาหาร มีช่องเล็ก เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และใช้สเปย์แอลกอฮอล์พ่นกล่องพลาสติกที่ปิดไว้ ป้องกันสิ่งเจือปนจากสิ่งแวดล้อมเข้าไปได้

สระน้ำใกล้บ้าน

ทำธุรกิจไลฟ์สด ขายออนไลน์

รายได้เดือนละ 100,000 บาท

ศิริมล เล่าว่า การทำกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มยุวเกษตรกร ได้นำไปใช้ในครอบครัว ชีวิตประจำวัน เช่น ทำแปลงผักสวนครัวและแปลงผักสมุนไพร การแปรรูปสับปะรดเพื่อใช้บริโภคและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกและดูแลไม้ดอกไม้ประดับที่ชื่นชอบ กับกลุ่มยุวเกษตรกร ชุมชนที่สนใจ ทำให้หลงรักต้นไม้ จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดการเลี้ยงไม้ใบเพื่อสร้างรายได้ จึงเริ่มสะสมไม้นานาชนิดเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ม.3 เรื่อยมา เริ่มจากไม้ดอกไม้ประดับ ขยายผลไปไม้อวบน้ำ แค็กตัส เพราะเห็นช่องทางการทำธุรกิจขายพันธุ์ไม้ทำเงินได้ดีและรวดเร็ว

พันธุ์ไม้นานาชนิด

“ตอนนั้นโรงเรียนจะสนับสนุนการทำธุรกิจขายต้นไม้ เริ่มจากไปออกบู๊ธตามงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ชุมชนท้องถิ่น และได้ทำตลาดออนไลน์ควบคู่กันไป ทำให้นักเรียนมีรายได้มากพอสมควร สถานการณ์ที่ทำให้มีการปรับเปลี่ยนอย่างเฉียบพลัน คือ การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า Covid -19 คือ ปี 2563-64  โรงเรียนปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ การทำกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรและนักเรียนต้องมีการปรับตัว ตอนนั้นการทำงานรูปแบบ work form home มีมากขึ้น ทำให้ความสนใจ ความต้องการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นตามมา โดยเฉพาะไม้ประดับ และเป็นช่วงที่ไม้ใบด่างได้รับความนิยมสูงมาก จึงขายทางออนไลน์และไลฟ์สดเป็นส่วนใหญ่สามารถทำเงินได้ดีและรวดเร็ว”

วัสดุปลูก

“เราใช้ประโยชน์จาก Social media และเรียนรู้หลักการตลาด ความต้องการของลูกค้า การกำหนดราคาเพิ่มเติมจากโรงเรียน เป็นช่องทางจำหน่ายต้นไม้ออนไลน์ เปิดเพจ SSP Pirate garden ผ่านการแชร์ ในกลุ่มคนรักไม้ด่าง ไม้ใบ ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 247,600 ยูสเซอร์ โดยมีรูปแบบการขายไลฟ์สด ตามกลุ่มย่อยของสมาชิกที่ว่าง สมาชิกทุกคนไลฟ์สด ผ่านเพจ และ facebook ส่วนตัวขายอยู่ที่บ้านได้ ใน 1 สัปดาห์จะมีวันว่าง 1  วัน จะร่วมเปิดไลฟ์สดขายต้นไม้ออนไลน์ ผ่าน facebook shopee หลักการสำคัญ คือ การตั้งราคาตามกลไกตลาด การศึกษาความต้องการของลูกค้า ช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่เหมาะสม ช่วงโควิด-19 กระแสความนิยมไม้ใบสูงมาก เช่น กล้วยด่าง โอกินาวา หูช้างด่างเหลือง-ขาว  ที่ราคาต้นละเป็น 10,000 บาท ระยะเวลา 2-3 เดือน ทำให้สร้างรายได้ให้เดือนละนับ 100,000 บาท เพราะที่บ้านเพาะพันธุ์ต้นไม้ไว้จำนวนมาก” ศิริมน กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ครูตือ ที่ปรึกษายุวเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2562

 ความภูมิใจ ความสำเร็จ จากการผลักดันหน่วยงาน

ผลงานของ ศิริมน สมาชิกยุวเกษตรกรและประธานยุวเกษตรกร ด้วยความเป็นผู้นำ และการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความตั้งใจปฏิบัติงานสร้างกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรอย่างเด่นชัด ทำให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ได้นำเสนอผลงานส่งประกวดได้รับรางวัลยุวเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด และระดับเขต 3 ภาคะวันออก และที่สุดคือได้รับพระราชทานโล่รางวัล “สมาชิกยุวเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565”

ศิริมน กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลพระราชทานครั้งนี้ว่า มีความประทับใจกับผู้สนับสนุนทุกคน ตั้งแต่ ครูตือ อาจารย์สมเกียรติ แช่เต็ง ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น ระดับชาติ ปี 2562 และอาจารย์โรงเรียนเขาน้อยทุกท่าน เพื่อนๆ สมาชิกยุวเกษตรกร ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และพ่อแม่ พี่ชาย ได้พยายามสนับสนุน ให้กำลังใจและมีความคาดหวังในตัวเรา ทำให้การเตรียมเป็นตัวแข่งขันมีแรงกดดันมาก แต่ขณะเดียวกันจะรู้สึกมีพลังทุกครั้งจากผู้สนับสนุนรอบข้าง รางวัลที่ได้รับคือความภาคภูมิใจ และความประทับใจกับผู้ที่คอยให้กำลังทุกคน อนาคตเมื่อเรียนจบจะกลับบ้านสืบสานอาชีพเกษตรกรรมของครอบครัว และคิดว่าการทำเกษตรกรรมถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เกษตรรายย่อยควรได้เข้าถึงการตลาด ซื้อ-ขายกับลูกค้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม

ศิริมน พันธุ์พิริยะ ฝากข้อคิดจากประสบการณ์ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าใจรักและพร้อมที่จะทำ ให้ลงมือทำเลย

น้องแก้ว กับแบล็คเวลเวท ตระกูลอโลคาเซีย

ยุวเกษตรกร สร้างรายได้เรือนแสนต่อเดือน

ศิริมน พันธุ์พิริยะ หรือ น้องแก้ว เล่าถึงความหลงใหลต้นไม้ จากการเข้าเป็นสมาชิกยุวเกษตรกรจนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นประธานกลุ่มสมาชิกยุวเกษตรกร ได้เรียนรู้เรื่องต้นไม้จากรุ่นพี่ๆ ในชุมชน และจาก “คุณครูตือ” ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร รวมทั้งการสืบค้นจากกูเกิล จึงเริ่มสะสมพันธุ์ไม้ สร้างเป็นโรงเรือนเล็กๆ ที่บ้าน ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เริ่มสะสมตั้งแต่ไม้บ้านๆ บอนสี หน้าวัว แค็กตัส ไม้ใบต่างๆ บางอย่างซื้อมาราคาแพงเพราะชอบ เช่น กวักพระพรหมด่าง หูช้างด่างเหลือง-ขาว กล้วยฟลอริด้า

ระยะเวลา 2-3 ปี มีพันธุ์ไม้รวมๆ 20-30 ชนิด ตอนอยู่ ม.4-5 บอนสีเริ่มดัง ขายได้เงิน 10,000-20,000 บาท รวบรวมเป็นทุน เริ่มไปซื้อกล้วยด่างมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่งไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยเพาะเลี้ยง ใช้เวลา 7-8 เดือน พอดีกระแสกล้วยด่างมา ก็หันมาเลี้ยงกล้วยแดงอินโด ส่งไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้กลับมา 100 กว่าต้น ใช้เวลาปลูก 15-30 วันขายได้ ตอนนั้นกระแสแรง ราคาต้นละ 3,000-4,000 บาท ทำให้มีรายได้เดือนละกว่า 100,000 บาท แต่เป็นช่วงสั้นๆ 2-3 เดือน

แม้ว่าขณะนี้ความนิยมลดลง แต่ตลาดต้นไม้ยังคงขายได้เรื่อยๆ แต่ราคาไม่แรง บางอย่างเลี้ยงเพราะชอบ เช่น กวักพระพรหมด่าง ซื้อมาเกือบ 2,000 บาท เมื่อปลายปีที่แล้ว กว่าจะขายต้องรอให้มีหน่อและแตกใบ 2-3 ใบ เลี้ยงให้รากเดินก่อน ตอนนี้จะไม่ได้เน้นขาย ขายทาง Shopee บ้าง เป็นความรักความหลงใหลมากกว่า ปลูกสะสมไว้ให้เป็นไม้กอใหญ่ๆ ไว้แต่งบ้าน

สำหรับการดูแลต้นไม้ ไม้ประดับ และไม้ใบประดับชนิดต่างๆ นั้น น้องแก้ว เล่าว่า ต้องดูแลเช่นเดียวกับปลูกต้นไม้ คือ ให้น้ำ ให้ปุ๋ย แต่มีรายละเอียดตามธรรมชาติชนิดของต้นไม้ และควรใช้ตู้อบเพื่อปรับอุณหภูมิและลดความชื้น เช่น

อโลคาเซีย ชอบชื้นแต่ไม่มาก (เน้นวัสดุปลูกโปร่งๆ) มีทั้งแดดมากได้ และรำไร

แค็กตัส ชอบชื้นแต่ไม่แฉะ แดดรำไรถึงแดด 100% ฟิโลเดนดรอน ชอบที่โปร่ง อากาศถ่ายเทดี ไม่ชอบชื้นมาก

อิพิ ไม้เลื้อย ขึ้นหลักจะใบใหญ่โตเร็ว เลี้ยงเหมือนฟิโลเดนดรอน

มอนสเตอร่า ต้นไม้ฟอกอากาศ ชอบแดดรำไร ชื้นๆ แต่ไม่แฉะ

คาลาเดียม (บอนสี) ชอบแดดแต่ไม่จัด ชอบน้ำ (ฤดูหนาวชอบทิ้งใบ แต่หัวขยาย) จึงใช้วิธีเข้าตู้อบ หรือไม่ก็ใช้ถาดรองน้ำ

น้องแก้ว กับแบล็คเวลเวท ตระกูลอโลคาเซีย

แอนโทเลี่ยม (หน้าวัว) ใบ ชอบร่มๆ ไม่ชอบแดด ใช้วัสดุปลูกโปร่งๆ ไม่แฉะ

กล้วยด่าง เลี้ยงเหมือนกล้วยทั่วไป แต่ถ้าจะด่างมากๆ สีขาวของที่ด่างจะไหม้ได้ง่าย ยากสุดที่เลี้ยงมาเป็นตระกูลอโลคาเซีย ไม่ชอบชื้นมาก แต่จังหวัดตราดฝนเยอะมากๆ ทำให้ยุบ แล้วก็เน่าตายง่าย วิธีแก้คือ ใช้วัสดุปลูกโปร่งๆ เช่น เติมหินภูเขาไฟ เพอร์ไลท์ และเลี้ยงในตู้อบ


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354