ที่มา | เกษตรสร้างชาติ |
---|---|
ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
เผยแพร่ |
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน การยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ถือเป็นเรื่องดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ภาคเกษตรกรรมวันนี้ปลูกและขายผลสดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ อาจต้องมีการแปรรูปเข้ามาเสริม หรือในส่วนของพนักงานประจำที่ตอนนี้หากมีรายได้ทางเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป สังเกตได้จากข่าวในปัจจุบันที่จะเห็นได้ว่ามีมนุษย์เงินเดือนหลายท่านหันมาประกอบอาชีพเสริมกันมากขึ้น ทั้งการขายของออนไลน์หรือต่อยอดทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดนอกเหนือจากงานประจำ ถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยม


คุณหทัยรัตน์ จันทร์พุทรา หรือ พี่วิ อาศัยอยู่ที่ 153 หมู่ที่ 1 ตำบลเย้ยปราสาท อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าราชการสาว ใช้วันว่างทำงานเกษตรแบบตามใจตัวเอง ปลูกพืชผสมผสานอย่างละนิดละหน่อย เพื่อสร้างความหลากหลาย เน้นแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นหลัก บนแนวคิดที่อยากยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่ง้อนายทุนหรือพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ สามารถสร้างรายได้จากงานเกษตรได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน
พี่วิ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ปัจจุบันตนเองทำงานรับราชการ ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนชำนาญการ งานด้านเกษตรเป็นงานที่ตั้งใจสานต่อจากพ่อกับแม่มานานนับ 10 ปี จากเดิมที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ปลูกกล้วย แล้วมักจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก ในหลายครั้งทำให้รู้สึกว่าต้องเป็นทาสนายทุนเยอะ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกพืชผสมผสาน เพื่อสร้างความหลากหลาย แล้วเน้นแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแนวคิดและลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ได้ค้นพบว่าวิธีการทำเกษตรผสมผสานและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นี่แหละ จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกษตรกรชาวสวนอย่างเราสามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้ทุกสถานการณ์ หรือถ้าล้มก็ยังล้มอยู่บนฟูก เจ็บไม่มากและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว

เปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยว หันปลูกพืชผสมผสาน
เน้นแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์หลากหลาย
พี่วิ บอกว่า ก่อนที่จะได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวให้กลายเป็นสวนผสมผสานได้สำเร็จ ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการผ่านด่านทำให้พ่อแม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กำลังจะปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ยากไม่น้อย

“ตอนแรกที่พี่บอกพ่อกับแม่ว่าจะเปลี่ยนที่ตรงนี้มาทำเกษตรผสมผสานนะ เขาก็ยังไม่เห็นด้วย เพราะคนแก่เห็นที่นามาเกือบทั้งชีวิต อยู่ๆ จะมาเปลี่ยนของเขา วิธีแก้ของพี่ก็คือการที่พาพ่อกับแม่ไปศึกษาดูงานพร้อมๆ กันกับเรา เริ่มจากการขุดที่นาเป็นร่องสวน ก็ต้องพาแกไปดูด้วย พอแกได้ดูได้ศึกษาแกเริ่มมีแนวความคิดไปทางเดียวกับเรา ที่นี้ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการสื่อสารกับคนในครอบครัวให้เข้าใจตรงกันก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ”

หลังที่พ่อแม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตนเองจะทำแล้ว ก็เริ่มต้นวางแผนเลือกพืชที่จะนำมาปลูก ด้วยการตั้งเป้าไว้ว่าพืชที่จะนำมาปลูกจะต้องเป็นพืชที่จับต้องได้ง่ายและต้องเป็นพืชที่เหมาะสำหรับการปลูกในสภาพพื้นดินของที่สวน เพราะก่อนหน้านี้เคยมีประสบการณ์จากความดันทุรังของตนเองมาก่อน เลือกปลูกพืชที่มีมูลค่า อย่างทุเรียนและอะโวกาโด สุดท้ายไปไม่รอด อาจเพราะขาดประสบการณ์และพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงให้มากขึ้น
คือการหันกลับมาปลูกพืชที่ปลูกและดูแลง่าย ขายง่าย และต้องสามารถนำมาแปรรูปได้ด้วย เช่น มะพร้าว มะกรูด มะขาม ส้มโอ กล้วย ขนุน มะม่วง และผลไม้อื่นๆ อีกหลายชนิด รวมถึงการขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงหอย บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ปลูกผสมผสานไม่ต้องมาก แค่ให้เพียงพอสำหรับการนำมาแปรรูป เพื่อตัดปัญหาสินค้าล้นตลาดและตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง ที่ในบางครั้งผิดนัดไม่เข้ามารับของตามที่ตกลงกันไว้

โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปเด่นของที่สวนก็จะมีหลากหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกล้วยเบรกแตก กล้วยฉาบ กล้วยตาก ขนุนทอด มะขามแช่อิ่ม มะม่วงกวน มะม่วงดอง และอีกหลากหลายชนิดตามฤดูกาลของผลไม้แต่ละช่วง ยกตัวอย่าง ที่สวนปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงเขียวเสวย จะเน้นขายผลสด หากขายผลสดไม่ทันจะนำมาแปรรูปทำมะม่วงกวน ส่วนมะม่วงแก้วขมิ้นและมะม่วงแก้วโบราณ จะเป็น 2 สายพันธุ์หลักในการนำมาแปรรูปทำมะม่วงดอง ด้วยจุดเด่นของมะม่วงแก้วโบราณที่เมื่อนำมาดองแล้วจะให้สัมผัสเนื้อแน่น กรอบ อร่อย ส่วนแก้วขมิ้นจะเหมาะสำหรับลูกค้าที่ไม่ชอบแบบกรอบมาก แก้วขมิ้นจะมีความนิ่มกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่สวนเราจะมีทางออกให้กับผลไม้ทุกชนิดที่เราปลูก ส่งผลให้ในปัจจุบันที่สวนแทบจะไม่ต้องนำสินค้าไปขายในตลาดเองเลย เพราะมีเท่าไหร่ก็นำมาแปรรูปและทำตลาดออนไลน์ขายเอง จนในบางครั้งผลิตไม่ทันขาย


ยกตัวอย่างการแปรรูปมะม่วงแก้วโบราณ
มีกระบวนการไม่ยาก แต่สร้างมูลค่าไม่น้อย
สำหรับวิธีการแปรรูปทำมะม่วงดอง พี่วิ บอกว่า ถือเป็นการสร้างมูลค่าที่ดี เมื่อเทียบกับกระบวนการแปรรูปที่ไม่ยุ่งยาก โดยที่สวนจะปลูกมะม่วงแก้วโบราณอยู่แค่ประมาณ 5-6 ต้น จะเก็บมาแปรรูปทั้งหมด โดยเริ่มจากการบอกเล่าของพ่อกับแม่ว่ามะม่วงสายพันธุ์นี้นำมาดองกรอบอร่อย จึงนำมาทดลองดองขาย แล้วได้ผลตอบรับที่ดีมาก และในส่วนของมะม่วงแก้วขมิ้นปลูกบนพื้นที่ประมาณ 2 งาน แบ่งขายผลสดส่วนหนึ่ง และที่เหลือนำมาแปรรูปทำมะม่วงดองอีกเช่นกัน โดยมีกระบวนการแปรรูป ดังนี้


- คัดเลือกสายพันธุ์มะม่วงที่เหมาะสำหรับการแปรรูป ขนาดลูกประมาณ 4-6 ลูกต่อกิโลกรัม
- นำมะม่วงที่คัดเลือกเสร็จแล้วมาล้างทำความสะอาด ล้างยางออกให้หมด แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม
- เตรียมภาชนะสำหรับใส่มะม่วงลงไปดอง จะเป็นโอ่งหรือถังพลาสติกก็ได้แล้วแต่ความสะดวก
- จากนั้นนำหัวเชื้อดองใส่ลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำเปล่า ในอัตราส่วนหัวเชื้อดอง 1 ถุง ต่อมะม่วง 15 กิโลกรัม
- ปิดฝาภาชนะให้สนิท ดองทิ้งไว้ 30 วัน เคล็ดลับสำคัญคืออย่าให้อากาศเข้า พร้อมกินได้ 30 วันขึ้นไป
ข้อดีจากการแปรรูปผลผลิตภายในสวน


- ช่วยสร้างมูลค่า จากสิบเป็นร้อยได้ไม่ไกลเกินเอื้อม เช่น มะม่วง จากเดิมราคาขายผลสดกิโลกรัมละ 8-10 บาท เมื่อนำมาแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 35 บาท, ขนุน จากขนุนธรรมดาขายยกลูกได้ลูกละไม่กี่สิบบาท เมื่อนำมาแปรรูปทำขนุนทอด ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 280 บาท, กล้วย ถ้าขายผลดิบขายได้หวีละ 10 บาท ผลสุกขายได้หวีละ 20-25 บาท แต่ถ้านำมาแปรรูปทำกล้วยเบรกแตก ขายได้กิโลกรัมละ 160 บาท การแปรรูปเกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ เพียงแค่ต้องใช้ความพยายามและการหมั่นศึกษาหาความรู้
- ลดภาวะสินค้าล้นตลาด เพราะถ้าหากจะเน้นขายผลสดเพียงอย่างเดียว เกษตรกรเจ้าของสวนต้องรีบขายให้หมด ถ้าขายไม่หมดก็ต้องปล่อยทิ้ง หรือถ้าไม่เก็บผลผลิตก็ร่วงทิ้ง เพราะฉะนั้นเจ้าของสวนต้องง้อลูกค้า บางครั้งต้องลด แลก แจก แถม เพื่อให้ขายสินค้าได้ แต่ถ้ารู้จักการแปรรูป พอหมดฤดูของผลไม้ชนิดนั้นๆ ผู้บริโภคจะเริ่มอยากกิน เราจะขายเมื่อไหร่ก็ขายได้
- ลดปัญหาถูกนายทุนหรือพ่อค้าคนกลางกดราคา โดยขอเล่าจากประสบการณ์จริงที่ทางสวนประสบเอง จากที่เมื่อก่อนเคยปลูกกล้วยเป็น 10 ไร่ พอถึงวันนัดรับผลผลิต ถูกพ่อค้าอ้างเหตุผลที่จะไม่เข้ามารับผลผลิตมากมาย แต่ถ้าหากเกษตรกรรู้จักวิธีการแปรรูปถือเป็นทางออกและการเพิ่มมูลค่าที่ดี
- สามารถหาตลาดได้เอง สินค้าแปรรูปสามารถขายได้ง่าย จัดส่งง่าย ทำตลาดออนไลน์ได้เอง หรือจะเข้าไปติดต่อวางขายกับร้านค้าในชุมชน ในโรงเรียนก็ทำได้ไม่ยาก กระบวนการนี้สามารถทำให้เราอยู่ได้โดยไม่เครียด
“การหาตลาดก็ใช้วิธีการเดินเข้าไปหาร้านค้าในชุมชน เดินเข้าไปหาสหกรณ์โรงเรียน แล้วนำสินค้าที่เรามีไปให้เขาชิม แต่ในบางครั้งอาจมีของที่เหลือบ้างเราก็ต้องเอาไปเปลี่ยนให้เขา และสิ่งสำคัญเคล็ดลับที่จะทำให้ขายของได้ไปนานๆ คือเรื่องของรสชาติต้องคงที่ตลอด คุณภาพต้องเหมือนเดิม และต้องนำข้อติเตียนของลูกค้าไปปรับปรุงและพัฒนาให้สินค้าเราดียิ่งขึ้น”

รายได้ต่อเดือน ได้มากกว่างานประจำ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องสูญเสียไปเยอะ อย่างผลิตภัณฑ์กล้วยเบรกแตก กว่าจะทำให้อร่อยถูกใจผู้บริโภคได้ ต้องหมดกล้วยไปหลายรถเหมือนกัน เริ่มจากการทอดกล้วยไหม้ ทอดออกมาแล้วสีไม่สวย หรือทอดออกมาแล้วรสชาติไม่ดี ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้จนกว่าจะทำได้


ความหลากหลาย ช่วยสร้างยอดขาย
“เกษตรกรต้องสร้างความหลากหลาย ถ้าเราทำแค่อย่างเดียวก็เหมือนกับการที่เราต้องกินข้าวทุกวันเรายังเบื่อเลย บางครั้งเราก็อยากกินสุกี้ อยากกินลาบ อยากกินเนื้อย่างบ้าง ทีนี้ถ้าเรามีความหลากหลายให้ลูกค้า ลูกค้าก็จะหนีไปจากเราได้ยาก เพราะถ้าเขาอยากกินอะไรเรามีขายให้เขาหมด เป็นการลดความเบื่อให้ลูกค้า ไม่ทำเยอะ อย่างอาทิตย์ที่แล้วพี่เปิดขายมะม่วงดองไป 100 กิโลกรัม เราก็เว้นโพสต์ขายมะม่วงดองไปสัก 2 อาทิตย์ แล้วไปขายสินค้าตัวอื่นเพื่อเป็นการเว้นช่วงให้คนไม่เบื่อ นี่คือเทคนิคการขายของพี่” พี่วิ กล่าวทิ้งท้าย




สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 086-877-7577 หรือติดต่อได้ที่เพจ เฟซบุ๊ก : วีวี่ คุณนายดำ
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354