เกษตรกรเชียงราย ปลูกอะโวกาโด 4 สายพันธุ์ บนพื้นที่ 16 ไร่ คาดการณ์รายได้ 1.5 ล้านบาท/ปี

อะโวกาโด นับเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง จัดเป็น Superfood เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก นับเป็นพืชที่มีความสำคัญมากในด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยกระแสที่ผู้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น และถือเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว ทดแทนพืชเชิงเดี่ยว และลดการเผาในพื้นที่ทำการเกษตรบนพื้นที่สูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ตั้งใจรับประทานอะโวกาโดเพื่อบำรุงสุขภาพ ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกินครึ่งลูกต่อวัน

คุณประชา เยอเบกู่ หรือ พี่ชา

คุณประชา เยอเบกู่ หรือ พี่ชา เกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโด อยู่ที่บ้านหล่อชา หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ชายผู้เริ่มปลูกอะโวกาโด จากความรู้ที่ติดลบ ปลูกตามคำแนะนำของเพื่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักว่าจริงๆ แล้วอะโวกาโดคืออะไร ขายยังไง สามารถนำมาทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ทำให้การปลูกในปีแรกต้องล้มเหลว แต่พี่ชายคนนี้ก็ไม่ย่อท้อ พยายามดั้นด้นหาความรู้ทั้งจากผู้ที่มีประสบการณ์ รวมถึงศึกษาจากคลิปวีดีโอของต่างประเทศ ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้จากอะโวกาโดได้ไม่น้อย

พันธุ์บูธ 7 (Booth-7) เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มกว้าง ลักษณะทรงผลกลมรี มีขนาดกลาง น้ำหนักผล 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา
พันธุ์บูธ 7 (Booth-7) เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มกว้าง ลักษณะทรงผลกลมรี มีขนาดกลาง น้ำหนักผล 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา

พี่ชา เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกอะโวกาโดว่า ก่อนที่จะมาปลูกอะโวกาโดตนทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อยู่ที่ไต้หวันมาก่อน ทำอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี แล้ว กลับมาอยู่บ้านเริ่มต้นทำเกษตร บนแนวคิดที่ว่า อาชีพเกษตรกรรมจะสามารถเลี้ยงตนเองได้ตอนแก่ และอยากกลับมาดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า จนถึงปัจจุบันตนทำอาชีพเป็นเกษตรกรปลูก   อะโวกาโดได้เป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้ว

“ตอนกลับมาบ้าน พอพี่เริ่มตั้งหลักได้มีเพื่อนมาแนะนำให้ปลูกพี่ปลูก แต่เป็นการปลูกโดยที่ไม่มีความรู้ ปลูกทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าอะโวกาโดคืออะไร บทสุดท้ายก็ตายเรียบ เพราะถ้าย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว พี่จะค้นคว้าหาข้อมูลการปลูกในกูเกิลยังไม่มีให้พี่เลย ต้องลองผิดลองถูกเอาเอง จนพี่ได้มาเจอกับคนที่อยู่แม่โจ้เขาปลูกมาก่อน เขาก็แนะนำพี่ทุกอย่าง และเขาก็เอาพี่ไปช่วยงานเวลารับซื้ออะโวกาโด พี่เลยรู้ว่าตลาดอะโวกาโดในอนาคตน่าจะสดใสกว่าพืชชนิดอื่น จึงไม่ลังเลที่จะเริ่มต้นปลูกอะโวกาโดอีกครั้งจากที่ล้มเหลวไปปีแรก”

“บัคคาเนียร์” เนื้อสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม รสชาติมันนิดๆ

 

ปลูกอะโวกาโดทั้ง 4 สายพันธุ์
แต่ละพันธุ์มีข้อดีแตกต่างกัน

พี่ชา บอกว่า หลังจากที่ล้มเหลวกับการปลูกอะโวกาโดในปีแรก ตนก็ยังไม่ยอมแพ้พยายามสู้และฟันฝ่า จนเข้าใจธรรมชาติ และวิธีการปลูกอะโวกาโดอย่างมืออาชีพ โดยปัจจุบันตนปลูกอะโว กาโดบนพื้นที่ทั้งหมด 16 ไร่ เลือกปลูกมากถึง 4 สายพันธุ์ แบ่งปลูกสายพันธุ์ละประมาณ 100 ต้น เพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

แฮส (Hass) ขึ้นดกเต็มต้น
หลังจากการเสียบยอดไปแล้วประมาณ 45 วัน

1.พันธุ์แฮส (Hass) ที่ได้ยอดพันธุ์จากโครงการหลวงมาเสียบ โดยโครงการหลวงนำยอดพันธุ์จากประเทศนิวซีแลนด์มาขยายพันธุ์ที่ไทยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งอะโวกาโดสายพันธุ์นี้ได้รับฉายาว่า เป็นราชาแห่งอะโวกาโด และเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย หรือในโลกนี้ก็ว่าได้ จะมีลักษณะผลรูปไข่ สีผิวเขียวเข้ม ผิวขรุขระมากเมื่อสุกเป็นสีม่วงเข้ม น้ำหนักผลประมาณ 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลืองและมันมาก ถือเป็นสายพันธุ์การค้าที่สำคัญของโลก เพราะคุณภาพผลดีมาก

ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

เลือกตัดยอดที่สมบูรณ์
เอาพาราฟิล์มพันที่ยอด แล้วใช้หนังสือพิมพ์ห่อที่ยอดเพื่อไม่ให้แดดโดนยอด
  1. พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) จะมีลักษณะผลกลม ผลมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง น้ำหนักผลประมาณ 200-300 กรัม เปลือกบาง เนื้อผลสีเหลืองอมเขียว รสชาติดี ติดหวานนิดๆ เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในไทยอีกสายพันธุ์หนึ่ง

ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : มิถุนายน-กรกฎาคม

  1. พันธุ์บูธ 7 (Booth-7) เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มกว้างลักษณะทรงผลกลมรี น้ำหนักผล 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสชาติดี

ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : กันยายน-ตุลาคม

เก็บเกี่ยวผลผลิต “บัคคาเนียร์”
  1. พันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccanear) เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มแผ่กว้าง ลักษณะทรงผลกลมรี น้ำหนักผลประมาณ 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม รสชาติมันนิดๆ

ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : กลางเดือนกันยายน-กลางเดือนตุลาคม

ปีเตอร์สัน ต้นนี้อีก 3 ปี ให้ผลผลิต
เก็บเกี่ยวผลผลิต “บัคคาเนียร์”

พื้นที่เหมาะสม สภาพอากาศดี
การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ยน้อยมาก

เจ้าของบอกว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงรายถือเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกอะโวกาโดเป็นอย่างมาก ด้วยพื้นที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป อากาศเย็นเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ได้เปรียบกว่าเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ส่งผลทำให้การดูแลจัดการง่ายขึ้น เพราะเมื่อดินมีความอุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศดี ปุ๋ยก็ไม่ต้องใส่มาก ระบบน้ำแทบไม่ต้องใช้ ด้วยพื้นที่มีความชื้นที่เหมาะสมอยู่แล้ว รวมถึงอะโวกาโดยังเป็นผลไม้ที่มีปัญหาเรื่องโรคแมลงน้อยมาก เก็บเกี่ยวได้นาน ขนส่งได้ไกล อะโวกาโดจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของคนพื้นที่สูงไปแล้ว

 

เทคนิคการปลูก

แนะนำให้ปลูกช่วงฤดูฝน เพราะจะมีน้ำสำหรับต้นที่ปลูกใหม่ แต่ไม่ควรปลูกกลางฤดูฝนเนื่องจากฝนตกชุก น้ำอาจท่วมขังต้นอะโวกาโดได้ การเตรียมดินพื้นที่ตรงนี้จะไม่มีการเตรียมดินมากมาย เนื่องจากสภาพดินตรงนี้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว สามารถนำต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ลงหลุมปลูกได้เลย โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม และขุดหลุมไม่ต้องลึก แค่ให้เสมอกับปากถุงเพาะ

“ยกตัวอย่างคือให้นำเมล็ดของอะโวกาโดมาเพาะไว้ในถุงช่วงต้นปี แล้วค่อยย้ายลงหลุมในช่วงต้นฝน จากนั้นทำการเสียบยอดพันธุ์ดีบนต้นตอเพาะเมล็ด โดยที่อย่างน้อยต้นตอต้องมีอายุ 1 ปีขึ้นไป ถึงจะเหมาะกับการเสียบยอด และเตรียมเสียบยอดในช่วงต้นฤดูหนาว”

ระยะห่างระหว่างต้น 6×6 และ 7×8 เมตร โดยจะเว้นระยะห่างตามสายพันธุ์ที่ปลูก เนื่องจาก อะโวกาโดแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะทรงพุ่มใหญ่ไม่เท่ากัน

ต้นนี้อีก 1 ปี เสียบยอดได้

 

การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย น้อยมาก

ด้วยดินและสภาพอากาศที่เป็นใจอยู่แล้ว ทำให้การปลูกอะโวกาโดของที่นี่เป็นไปอย่างสมบูรณ์ จะอาศัยปัจจัยด้านน้ำและปุ๋ยที่น้อยมากๆ โดยการปลูกของที่นี่จะเน้นอาศัยน้ำฝนให้ช่วยดูแลเป็นหลัก

ปุ๋ย จะใส่ปุ๋ยคอก ขี้วัว ปีละ 2 ครั้ง ปริมาณครั้งละครึ่งกระสอบต่อต้น ส่วนปุ๋ยเคมีก็มีใส่บ้าง แต่ใส่ไม่เยอะ การใส่จะใส่ 2 ทาง คือใส่ปุ๋ยทางราก สูตร 15-15-15 ปริมาณต้นละ 2 กำมือ และปุ๋ยทางใบ ฉีดพ่น 3 ครั้ง ต่อปี แต่ในช่วงนี้ปุ๋ยเคมีค่อนข้างมีราคาแพง ที่สวนจะหยุดการให้ปุ๋ยเคมีไปก่อน และไม่ส่งผลกระทบต่อพืชมาก

อะโวกาโดพันธุ์บัคคาเนียร์ ลักษณะทรงผลกลมรี น้ำหนักผลประมาณ 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา

โรคและแมลงศัตรูพืช สำหรับอะโวกาโดจะมีแมลงรบกวนที่น้อยมาก แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของโรครากเน่าโคนเน่า สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน บางทีกว่าที่ชาวสวนจะรู้ตัว ใบก็เหี่ยว ลูกร่วง แก้ไขไม่ทัน จำเป็นต้องตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่

การเก็บเกี่ยวผลผลิต อะโวกาโดต้องใช้เวลาปลูกประมาณ 3.5-4 ปี อย่างของที่สวนใช้เวลาปลูกประมาณ 3 ปีครึ่ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รอบแรก แล้วหลังจากนั้นเก็บผลผลิตได้นาน เหมือนกับการลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอด

อะโวกาโดพันธุ์บัคคาเนียร์ ลักษณะทรงผลกลมรี น้ำหนักผลประมาณ 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา

โดยปริมาณของผลผลิตแต่ละสายพันธุ์จะไม่เท่ากัน ดูตามความสมบูรณ์และอายุของต้น ยิ่งต้นที่มีอายุมากผลผลิตก็จะมากตาม เช่น บัคคาเนียร์ บูธ 7 ปีเตอร์สัน จะให้ผลผลิตที่เยอะเพราะลูกค่อนข้างใหญ่ แต่ถ้าเป็นแฮส จะให้ผลผลิตที่น้อยลงมาหน่อย เนื่องจากพันธุ์แฮสมีลักษณะทรงผลที่เล็ก น้ำหนักก็น้อยตามลงไปด้วย และแฮส ถือเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกยากมากที่สุด เพราะปัจจัยสำคัญในการปลูกขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อากาศต้องดี และต้องปลูกในพื้นที่สูงห่างจากระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ซึ่งพื้นที่สวนตรงนี้มีความสูงห่างจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร เพราะสายพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตดีในพื้นที่สูง และเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จะมีราคาขายที่สูงกว่าพันธุ์อื่นๆ อย่างตอนนี้โครงการหลวงรับซื้อหน้าสวนราคา 80 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ประมาณ 150-200 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนราคาของสายพันธุ์อื่นๆ ที่สวนก็จะขายตามราคาอ้างอิงจากโครงการหลวงอีกเช่นกัน

ส่วนแผลที่ตัด ใช้ปูนแดงทาเพื่อกันเชื้อรา

 

แนะนำสิ่งที่เกษตรกรควรระวัง

โดยส่วนตัวแล้วพี่ชาบอกว่า ผลผลิตของที่สวนตอนนี้ไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการที่เริ่มมีเกษตรกรหลายพื้นที่หันมาปลูกอะโวกาโดเป็นพืชสร้างรายได้กันมากขึ้น เนื่องจากอะโวกาโดไม่ได้เป็นพืชที่ปลูกง่ายได้ทุกพื้นที่ แต่สิ่งที่กังวลก็คือกลไกการตลาด ที่มักจะมีพ่อค้าจากไทยข้ามไปรับอะโวกาโดของเวียดนามเข้ามาขายตีกับผลผลิตในประเทศ เพราะถ้าสินค้าจากทางฝั่งเวียดนามล้นเข้ามาเยอะ จะส่งผลต่อราคาในประเทศไทย

“คือพ่อค้าคนไทยไปรับผลผลิตจากเวียดนามในราคาถูก แล้วมาขายในประเทศราคาแพง เนื่องจากอะโวกาโดในประเทศค่อนข้างมีราคาสูง กว่าจะมาถึงผู้บริโภคอย่างเราก็กิโลกรัมละหลายบาท”

เพราะฉะนั้นวิธีรับมือของเกษตรกรคือการวางแผนก่อนปลูก คือการศึกษาสายพันธุ์ และช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตของไทยและเวียดนามไม่สินค้าออกมาตรงกัน

ซึ่งตอนนี้ที่สวนมีตลาดรับซื้อหลักๆ คือ 1. พ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อถึงสวน 2. ตลาดออนไลน์ และ 3. ขับไปส่งตลาดกลางที่มีการซื้อขายกันเป็นประจำ โดยอะโวกาโดเป็นผลไม้ที่มีข้อดีคือ เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายได้เอง เป็นพืชที่ยังไม่ถูกพ่อค้าคนกลางเข้ามาแทรกแซงเท่าไหร่ เพราะการขาย เกษตรกรจะยึดราคาตามตลาดกลางเป็นหลัก หากพ่อค้าคนไหนให้ราคาถูกกว่าตลาดกลางเราจะไม่ขายให้ และสิ่งที่จะทำให้การซื้อขายของเรากับพ่อค้าประจำอยู่กันได้นาน ส่วนหนึ่งคือเรื่องของคุณภาพ และมีการเคลมสินค้าให้ใหม่หากสินค้าเกิดความเสียหาย เหมือนกับการใช้ใจแลกใจเขาก็จะอยู่กับเราไม่ไปไหน

พาหนะคู่ใจ ไปไหนไปกัน

“ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ในวันที่ต้นอะโวกาโดที่สวนพี่ต้นโตสมบูรณ์ ให้ผลผลิตได้เต็มที่ พี่ได้มีการคาดการณ์รายได้ต่อปีไว้ว่า จะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาทต่อปี หักต้นทุนการดูแลเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นพืชที่สร้างรายได้ดี และมีความพึงพอใจกับรายได้มากๆ” พี่ชา กล่าวทิ้งท้าย

ผลสุกเป็นสีม่วงเข้ม
พื้นที่ปลูกห้อมล้อมไปด้วยภูเขา ธรรมชาติที่สมบูรณ์

หากท่านใดสนใจอยากเข้าเยี่ยมชมสวนอะโวกาโด เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปลูก การดูแล หรืออยากมาท่องเที่ยว ที่นี่ยินดีต้อนรับ แต่พี่ชาแนะนำว่าให้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป เพราะจะเป็นช่วงที่ผลผลิตของที่สวนออก สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 094-742-4645

 


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354