อาจารย์หนุ่มอุดรฯ เพาะหนูแฮมสเตอร์ขาย สร้างรายได้เสริม

คุณยุทธศาสตร์ พุทธบาล หรือ อาจารย์โอ้ วัย 38 ปี อาจารย์ประจำแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจอุดรธานี และเจ้าของฟาร์ม “ร้านน้องแฮมเตอร์” ที่ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ ต่อยอดทดลองเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ ก่อนจะเล็งเห็นช่องทางการสร้างรายได้จากการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถสร้างรายได้เสริม เพิ่มเติมจากการทำงานประจำ

 

คุณยุทธศาสตร์ พุทธบาล หรือ อาจารย์โอ้

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์เป็นช่วงที่คุณยุทธศาสตร์ว่างงานและมองหาช่องทางการทำธุรกิจส่วนตัว ก่อนจะเล็งเห็นช่องทางการสร้างรายได้จากการเพาะพันธุ์หนูแฮมสเตอร์ขายผ่านทางออนไลน์ด้วยการซื้อพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ตามร้านทั่วไปมาทดลองเลี้ยงก่อน อีกทั้งในเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจการเพาะพันธุ์นั้น ยังมีคู่แข่งในจำนวนที่ไม่มาก จึงค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนาศึกษาหาข้อมูลในการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์อย่างจริงจัง รวมถึงคุณยุทธศาสตร์มีความชื่นชอบหนูแฮมสเตอร์อยู่แล้ว เพราะด้วยลักษณะนิสัยที่น่ารักและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นหลายประการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันทางฟาร์มของคุณยุทธศาสตร์มีแม่พันธุ์อยู่จำนวน 20 ตัว พันธุ์ที่เลี้ยงในฟาร์มจะเป็นสายพันธุ์ที่นิยมของตลาดและผู้เลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ เพราะด้วยราคาที่ไม่แพงจนเกินไป สามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงทำให้ครองใจผู้เลี้ยงมาจนถึงทุกวันนี้

ด้านการผสมพันธุ์ทางฟาร์ม “ร้านน้องแฮมเตอร์” จะต้องมีการจับคู่ให้หนูแฮมสเตอร์ ซึ่งโดยธรรมชาตินั้นหนูแฮมสเตอร์ไม่สามารถอยู่ในกรงเดียวกันได้ จำเป็นต้องเลี้ยง 1 กรงต่อ 1 ตัวเท่านั้น เมื่อต้องการที่จะผสมพันธุ์ค่อยนำตัวเมียมาใส่กรงตัวผู้ ห้ามนำตัวผู้ใส่กรงตัวเมียเด็ดขาด เพราะตัวเมียนั้นจะมีลักษณะนิสัยที่ดุและหวงถิ่นมาก 

หนูแฮมสเตอร์ตัวเล็กน่ารัก ขนปุกปุย

หลังจากที่ผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ตัวเมียก็จะตั้งท้อง จำเป็นต้องแยกเลี้ยงเหมือนเดิม เพราะตัวเมียเมื่อตั้งท้องจะมีนิสัยที่ดุกว่าปกติ หากไม่แยกตัวผู้และตัวเมียออกจากกัน อาจจะทำให้ตัวผู้ถูกกัดจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

พ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะแก่การผสมพันธุ์ต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ควรอยู่ในช่วงอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป หนูแฮมสเตอร์จะมีระยะเวลาการตั้งท้องแตกต่างออกไปตามสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์วิน เทอร์ไวท์ ตั้งท้องประมาณ 20-25 วัน สายพันธุ์แคมเบล ตั้งท้องประมาณ 18-21 วัน สายพันธุ์โรโบ ตั้งท้องประมาณ 30-31 วัน และสายพันธุ์ไจแอนท์ ตั้งท้องประมาณ 15-17 วัน

อายุของตัวเมียควรมีอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะหลังจากอายุ 1 ปีขึ้นไป ไม่ควรนำมาผสมพันธุ์เด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาแม่กินลูก อาจด้วยสาเหตุที่ไม่พร้อมเลี้ยงลูกตัวเอง และหนูแฮมสเตอร์ที่นำมาผสมพันธุ์กันนั้นจะต้องไม่เป็นพี่น้องคอกเดียวกันเด็ดขาด เพราะหากนำมาผสมพันธุ์กัน อาจจะทำให้ลูกที่เกิดมาพิการได้

อุปนิสัยของหนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่รักสะอาด ชอบความสันโดษ น่ารัก ขี้อาย ชอบนอนเวลากลางวันและตื่นออกมาวิ่งเล่นในเวลากลางคืน จะมีทั้งที่มีนิสัยดุร้ายและนิสัยไม่ดุร้าย ขึ้นอยู่ที่สายพันธุ์ที่เลี้ยง ผู้เลี้ยงควรศึกษาวิธีการเลี้ยงให้เกิดความเข้าใจ เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่ต้องเจอในการเลี้ยงนั่นเอง

วิธีการดูแลสำหรับการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์นั้นไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแค่มีกรงลักษณะแบบ   ซี่ลวด แบบตู้กระจกหรือแบบอะครีลิก ควรเลือกพื้นที่กรง 45-60 เซนติเมตร ผู้เลี้ยงสามารถเลือกสรรได้ตามความพึงพอใจ ควรมีของเล่นให้สำหรับวิ่งเล่นและออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีนิสัยที่ดุและไม่ให้จับตัว สามารถเลือกขนาดให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ได้ อาหารควรให้เป็นอาหารสัตว์เล็กสำเร็จรูป อาหารสำหรับเสริมโปรตีน ธัญพืช และผักผลไม้ เช่น บวบเหลี่ยม แตงกวา แครอต แอปเปิ้ล กะหล่ำปลี บร็อกโคลี่ เป็นต้น

“ควรให้หนูแฮมสเตอร์กินอาหารที่หลากหลาย ทั้งธัญพืช ผัก ผลไม้ ถ้าเราให้เขากินเมล็ดทานตะวันอย่างเดียว เขามีโอกาสที่จะเป็นเนื้องอกได้ ซึ่งบางคนที่เลี้ยงจะเข้าใจผิดว่าควรให้กินเมล็ดทานตะวันอย่างเดียว หรือจะให้กินไข่ต้ม ไข่เป็ด เพื่อบำรุงให้เขาสวย อาหารที่มีโปรตีนเยอะๆ เขาจะชอบ อาจจะเป็นพวกหนอกนกก็ได้ครับ ให้เขากินเป็นอาหารเสริม”

สำหรับโรคที่เจอส่วนมากจะเป็นเนื้องอก มักพบในช่วงที่หนูแฮมสเตอร์มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ต่อมาคืออาการท้องเสีย หากกินอาหารที่ไม่สะอาด มีโอกาสที่จะช็อกและเสียชีวิตได้ หรือโรคขนร่วง หากผู้เลี้ยงไม่ดูแลและไม่รักษาความสะอาด ลักษณะจะเป็นคล้ายรังแคของคน ดังนั้น ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของหนูแฮมสเตอร์อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

คุณยุทธศาสตร์ ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงว่า สิ่งแรกควรศึกษารายละเอียดวิธีการเลี้ยงดูแล อาหาร ทำความเข้าใจอุปนิสัยของหนูแฮมสเตอร์ก่อน เพราะแต่ละตัวจะมีอุปนิสัยที่แตกต่างกันออกไป บางตัวชอบให้จับ บางตัวไม่ชอบให้จับ แว้งกัดมือ ผู้เลี้ยงอาจจะได้รับบาดเจ็บได้ เพราะฟันของหนูแฮมสเตอร์นั้นจะมีลักษณะเหมือนกับเข็มฉีดยา

อาหารสำหรับหนูแฮมสเตอร์

หนูแฮมสเตอร์สามารถขายได้เมื่อมีอายุ 1 เดือนขึ้นไป โดยทางฟาร์มของคุณยุทธศาสตร์นั้นจะเน้นที่ความสวยและแข็งแรง ราคาทางฟาร์ม “ร้านน้องแฮมเตอร์” จะเริ่มต้นที่ตัวละ 80-1,000 บาท ซึ่งลักษณะของสีและสายพันธุ์จะเป็นตัวกำหนดราคาขายทางท้องตลาดที่แตกต่างกัน

รีวิวจากลูกค้า

ด้านรายได้เสริมที่ได้จากการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนั้น จะขึ้นอยู่กับการเพาะลูกหนูแฮมสเตอร์ได้มากน้อยแค่ไหนในเดือนนั้นๆ

 

หนูแฮมสเตอร์และแตงกวาชิ้นโต

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ สามารถติดต่อ คุณยุทธศาสตร์ พุทธบาล หรือ อาจารย์โอ้ ได้ทางเพจ “ร้านน้องแฮมเตอร์”


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354