ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | จิตรกร บัวปลี |
เผยแพร่ |
สิ่งดีๆ มักจะอยู่สุดขอบใต้หล้าในสุภาษิตจีน…
เช่นเดียวกับ พืชผัก สมุนไพร ครัวเกษตรอินทรีย์ ที่อำเภอชุมตาบง ดินแดนสุดไกลชายขอบของจังหวัดนครสวรรค์ เกือบๆ ร้อยกิโลเมตร มุ่งไปทางทิศตะวันตกติดอุทยานแห่งชาติแม่วง คาบเกี่ยวติดกับจังหวัดกำแพงเพชร ที่เราจะนำเสนอต่อจากนี้
ผู้เขียนอย่างผมหนีบนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านดั้นด้นมาจนถึง “ศูนย์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโครงการปลูกข้าว และพืชผักปลอดภัยและพลังงานทดแทนพร้อมทั้งแปรรูปสมุนไพรพร้อมจำหน่าย” นี่…คือชื่อวิสาหกิจชุมชนของเขาล่ะครับ ที่หมู่ 4 ตำบลปางสวรรค์ อำเภอ ชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์
เรียกว่าทุกตัวอักษรครบถ้วน…ยาวเหยียดครอบคลุม สมกับความพร้อมเป็นแหล่งผลิตอาหารพืชผักปลอดภัยครัวของโลกได้เลยทีเดียว…
ผมเดินทางมาถึงเอาตอนหัวค่ำ เจ้าบ้านก็จัดหาที่หลับที่นอนเป็นโฮมสเตย์ติดกับคอกวัว 2 ตัว อย่างน้อยก็ให้รู้สึกอุ่นใจเพราะมีวัวคอยเป็นเพื่อนนอน เฝ้ายาม ให้ได้อุ่นใจ..!
ตื่นเช้ามาถึงได้รู้ว่า ณ สถานที่แห่งนี้ เป็นทั้งบ้านและศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ของตำบลปางสวรรค์ อำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี คุณชลาลัย ทับสิงห์ ผู้ที่เป็นทุกอย่างทั้งเจ้าบ้าน ปราชญ์เกษตรฯ ประธานกลุ่มฯ และวิทยากรคอยอบรม ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ แห่งนี้อย่างครบถ้วน
เรามาทำความรู้จัก “ศูนย์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโครงการปลูกข้าว และพืชผักปลอดภัยและพลังงานทดแทนพร้อมทั้งแปรรูปสมุนไพรพร้อมจำหน่าย” เริ่มก่อตั้งกันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 จวบจนวันนี้ก็ครบ 9 ปี โดยใช้งบประมาณของตัวเอง ก็คือ คุณชลาลัย และสมาชิก 48 ครัวเรือน คอยให้การสนับสนุน
คุณชลาลัย ทับสิงห์ ในฐานะประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนฯ บอกเล่าว่า กว่าพวกเราจะมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ ก็ผ่านอะไรมาหมดทุกอย่างทั้งล้มลุกคลุกคลาน โดยเฉพาะการใช้สารเคมีในการปลูกพืชที่ผ่านมายอมรับว่าไม่มีความยั่งยืน จริงๆ จึงต้องมาปรับทัศนคติกันใหม่เลิกกับการทำเกษตรแบบเก่าๆ เพราะการปลูกพืชที่ใช้เคมีไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เราจึงดำเนินตามแนวเกษตรวิถีอันเนื่องมาจากพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก รู้จักกินรู้จักใช้
เมื่อเราพัฒนาปรับปรุง ปรับตัว เรียนรู้ด้วยตัวเองและสร้างความเข้าใจกับชุมชน พร้อมกับนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป และกระจายการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นที่ยอมรับของส่วนราชการ มาตรฐาน จีเอ็มพี (GMP) ให้การรับรองใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากความร่วมมือของชาวบ้านและหน่วยงานส่วนราชการ ในภาคีเครือข่าย ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์ฝึกอบรม อาทิ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง 459 ของ ธ.ก.ส., ศูนย์เกษตรอินทรีย์ พีจีเอส แบบมีส่วนร่วมมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ของกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ ให้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อการเรียนรู้การมีงานทำของ กศน.อำเภอชุมตาบง และกรมวิชาการเกษตร ศูนย์ สปก.ในเครือข่าย เป็นต้น
คุณชลาลัย ยังบอกอีกว่า ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน ชุมตาบง แห่งนี้ ได้สร้างประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย อำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงศ์ อำเภอชุมตาบง และอำเภอแม่เปิน เพื่อใช้เป็นฐานศูนย์กลางการเรียนรู้ในการฝึกอบรม และเป็นคลังอาหารในการกระจายสินค้าพืชผักปลอดภัย รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ก็มาใช้สถานที่แห่งนี้ได้เรียนรู้ ศึกษาดูงานด้วย
ทำไมสถานที่แห่งนี้ถึงได้ขึ้นชื่อเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ พืชออร์แกนิกปลอดสาร จนบริษัท เอ็นแอนด์พี (N&P) ต้องนำรถตู้เย็นมารับซื้อพืชผักเกษตรอินทรีย์ กว่า 40 ชนิด มายาวนานต่อเนื่องตลอด 9 ปี ทั้งพืชผักสดกินใบ สมุนไพรอบแห้ง และผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูป สมุนไพรบางส่วนก็ส่งให้กับ องค์การเภสัชกรรม มายาวนานต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
เรียกว่ากลุ่มสมาชิกภาคีเครือข่าย 4 อำเภอ คือแหล่งผลิตพืชผักอาหารปลอดภัยที่ดีมีคุณภาพได้ส่งต่อให้คนไทยได้บริโภคอาหารดีที่มีคุณภาพ ทั้งข้าวเกษตรอินทรีย์ พืชผักออร์แกนิก และพืชสมุนไพร พื้นบ้านทุกชนิด มีหมดครบถ้วนอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้ ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีอำเภอชุมตาบง เป็นศูนย์กลางของการซื้อขายกระจายสินค้าเกษตร และแบ่งการบริหารงานเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ศูนย์เรียนรู้ และศูนย์รับซื้อพืชผักอาหารสดของสมาชิก
และส่วนที่ 2 โซนสมุนไพร คุณชลาลัยได้พาผู้เขียนเข้าชมการแปรรูปการผลิตและการบรรจุสมุนไพร ซึ่งอยู่ในห้องปฏิบัติการที่เข้มงวดควบคุมสิ่งแปลกปลอมรอบด้าน รับรองปลอดเชื้อปลอดโรค ก่อนเข้าปฏิบัติงานจริง ต้องสวมชุด PPE หมวกคลุมผม ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้ง ใส่ถุงมือก่อนหยิบจับวัตถุดิบ การแปรรูป และไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายบรรจุผลิตภัณฑ์ ที่ได้มาตรฐาน GMP
ผู้เขียนตามเข้าไปในห้องแรกก็จะเห็น วัตถุดิบสมุนไพรมากมายบนชั้นวาง ปิดปากถุงด้วยซิปล็อกอย่างดี วัตถุดิบสมุนไพรที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย กระเจี๊ยบแดง, มะตูมอบแห้ง, ดอกอัญชัน, ดอกเงี้ยวแดง, สมุนไพรสกัดเย็นที่ดองแอลกอฮอล์ไว้ในโหล, ขมิ้นแดง ขมิ้นชันพันธุ์แดงสยาม, มะแว้งเครือ และฟ้าทะลายโจร ผ่านการอบแห้งความชื้นไม่เกิน 10 หรือ 0.1 นั่นเอง
ถัดไปก็จะเป็นห้องแปรรูป ด้วยเครื่องปั่นบดหยาบสมุนไพรแต่ละชนิดจนเป็นผงละเอียด และชั่งด้วยกิโลดิจิตอล แล้วส่งต่อไปผลิตในห้องถัดไป ในการใช้เป็นส่วนผสมครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า หรือเป็นแชมพู หรือน้ำยาล้างผัก อย่างฟ้าทะลายโจร ที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้ง หรือแอนตี้แบคทีเรีย และส่วนหนึ่งก็นำไปบรรจุลงแคปซูล เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ช่วยบรรเทาอาการเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ
สมุนไพรที่สำคัญอย่างฟ้าทะลายโจร ที่บรรจุลงแคปซูลของเรา มีสรรพคุณที่ขึ้นชื่อในเรื่องดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไอ เจ็บคอ เป็นสมุนไพรรสขมเย็น ช่วยท่านได้กับโรคอุบัติใหม่ ในทุกๆ ฤดู ควรมีติดไว้สมุนไพรประจำบ้านในครัวเรือนไทยและครัวโลก
นอกจากฟ้าทะลายโจร แคปซูลก็ยังมี ใบบัวบกแคปซูล กระเทียมแคปซูล แป้งกล้วยน้ำว้าแคปซูล กระชายแคปซูล ทุกผลิตภัณฑ์ เราจำหน่ายอยู่ที่กระปุกละ 35-50 บาท ราคาขึ้นอยู่ในตัวสมุนไพรแต่ละชนิด ในการผลิตที่ยากง่ายแตกต่างกัน
อีกทั้งสมุนไพรผงชงดื่ม หลากหลายชนิดที่เราผลิตบรรจุซอง ไม่ว่าจะเป็นผงกระเจี๊ยบ ผงมะตูม ก็จะนำมาบรรจุลงซองชา ต้มน้ำร้อนชงดื่มง่ายต่อการบริโภค ชาข่า ช่วยในเรื่องของอาการลดปวดบวม ชารากไพล ก็จะช่วยรักษาอาการเอ็นกล้ามเนื้อ
นอกจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ภายในแล้ว ก็ยังมีสมุนไพรที่ใช้ภายนอกอย่าง ครีมนวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยซึ่งทำมาจากไพล ครีมแชมพู ครีมนวดผม ที่มีส่วนผสมของฟ้าทะลายโจร และยังมีอยู่ในรูปของน้ำยาล้างผัก สูตรฟ้าทะลายโจร ที่จะช่วยชำระล้างแบคทีเรียหรือสารเคมี อะไรต่างๆ ที่อยู่ในผักตลาดสดทั่วไป น้ำยาล้างผักจากฟ้าทะลายโจร ช่วยเราได้ในเบื้องต้น
ขอแนะนำอีกตัวอย่าง สบู่เหลวสูตรสมุนไพรล้างมือ ที่มีส่วนผสมมะกรูด มะเฟือง จึงมีความหอมเป็นสำคัญ รับประกันคุณภาพ
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่เรานำมาเสนอ ในศูนย์เรียนรู้ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโครงการปลูกข้าว และพืชผักปลอดภัยและพลังงานทดแทนพร้อมทั้งแปรรูปสมุนไพรพร้อมจำหน่าย” เลขที่ 20 หมู่ที่ 4 ตำบลปางสวรรค์ อำเภอชุมตาบง สุดขอบชายเขตของจังหวัดนครสวรรค์
ยังมีเคล็ดลับสมุนไพรพื้นบ้าน พืชผักเกษตรอินทรีย์อีกมากมายให้ได้เรียนรู้ ณ พื้นที่แห่งนี้…และพร้อมจะแบ่งปันเติมเต็มให้กับสังคมต่อไป
กริ๊งกร๊างสอบถาม คุณชลาลัย ทับสิงห์ ปราชญ์เกษตรคนเก่งที่ชุมตาบง ได้โดยตรงที่ โทร. 062-612-3714 (IDLine)
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354