ชมพู่อี้เหวินดำและแดง พืชเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาพันธุ์ ปลูกง่าย ผลใหญ่ สีสวย กรอบ

ชมพู่ เป็นผลไม้ที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ รสชาติเปรี้ยวฝาดบ้างหวานบ้าง แต่ชมพู่โดยทั่วไปจะไม่หวานมากและฉ่ำน้ำ แต่อร่อยไปอีกแบบ แต่ปัจจุบันการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของไม้ผลชนิดนี้ โดยเฉพาะไต้หวัน ที่มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีสีเข้มและแดงชมพู ยังมีรสชาติหวาน กรอบ ฉ่ำน้ำอีกด้วย ดังเช่น ชมพู่อี้เหวินดำและแดง คำว่า อี้เหวินดำ จะไม่ดำมาก แต่จะมีสีที่คล้ำคล้ายเปลือกมังคุด ถ้าให้แก่จัดและถูกแดดมากๆ จากอี้เหวินแดงที่ออกแดงชมพู ยิ่งถ้าถูกแสงแดดมากก็จะทำให้สีจัด แต่ถ้าห่อมากสีก็จะซีดขาวชมพูจางๆ

อาจารย์วิเชียร บุญเกิด กับชมพู่อี้เหวินดำและแดง

ที่ สวนสุวรรณีปรางทอง ของ อาจารย์วิเชียร บุญเกิด ปราชญ์พื้นบ้านที่นำพันธุ์พืชไม้ผลหลายอย่างมาต่อยอดให้ได้ผลผลิตสูง ที่สร้างรายได้แก่อาจารย์เป็นสวนผสมที่มีรายได้หมุนเวียนทั้งปี อาจารย์ในวัย 77 ปี ที่อายุเป็นเพียงตัวเลข วัยที่ไม่หยุดยั้งในการต่อยอดพันธุ์ไม้ผล ให้ลูกค้าได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยใช้ธรรมชาติในการกำจัดวัชพืชและแมลง เช่น ถ้าผลไม้อันไหนเปราะบาง ก็ห่อผล หรือปล่อยให้แมลงตามธรรมชาติกัดกินบ้าง เพราะปลูกไว้หลากหลาย และผลิตผลไม้ตามฤดูกาลก็จะมีการรบกวนจากแมลงต่างๆ น้อย ถ้าผลิตนอกฤดู ข้อเสียก็อาจจะมีแมลงรบกวนได้

อี้เหวินดำ สีแก่จัด ผิวจะคล้ำคล้ายองุ่นดำ

ชมพู่ เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกมาช้านาน ทั้งปลูกเพื่อเก็บผลรับประทานในครัวเรือน และเก็บผลขายได้ดีอีกชนิดคือ ชมพู่อี้เหวินดำและแดงและเขียว ในที่นี้จะกล่าวถึงชมพู่อี้เหวินดำและแดง มีการพัฒนาพันธุ์จากไต้หวัน มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ผลใหญ่มาก นํ้าหนักเฉลี่ยได้ถึง 400 กรัม (ต้องห่อผลช่อละ 1 ผล) หากปลูกเพื่อเก็บผลขาย นํ้าหนักผลควรอยู่ระหว่าง 200-300 กรัม (ห่อผล 2-3 ผล ต่อช่อ) สีผลขณะยังอ่อนเป็นสีชมพู (ถ้าห่อผลไว้จะสีขาวอมชมพู)

อี้เหวินแดงสีสวย สีจะสดอมชมพู เนื้อแน่น เมล็ดลีบ หวาน

เมื่อผลแก่จัดขั้วผลจะเป็นสีขาว และผลเป็นสีชมพูอมแดง รสชาติหวาน จึงทำให้ชมพู่อี้เหวินดำไต้หวัน กำลังได้รับความนิยมปลูก แต่ยังมีอยู่ไม่มากในเวลานี้ ทุกผลไม่มีเมล็ด ติดผลทั้งปี ให้ผลผลิตสูงช่วงฤดูหนาวจนถึงปลายเมษายน

ภายในสวนที่แบ่งเนื้อที่ปลูกชมพู่อันร่มรื่น ต้นไม่สูงแต่ให้ผลผลิตที่ดกมาก

ที่สวนไม้ผลสวนผสม สุวรรณีปรางทอง โดย อาจารย์วิเชียร บุญเกิด นั้น มีของดีหลายอย่าง เช่น มะนาวแป้นดกพิเศษกำแพงเพชร จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นในปี พ.ศ. 2554 มะยงชิดสายพันธุ์เจ้าจอม มะขามป้อมยักษ์อินเดีย ละมุดยักษ์ลูกผสม หิมาลายันมัลเบอร์รี่ ลำไยขาวพวงใบเตย และไม้ผลเกรดดี อื่นๆ อีกหลายอย่าง ตอนนี้ที่มาแรงและกำลังให้ผลผลิตคือ “ชมพู่อิ้เหวินดำและอี้เหวินแดง” เป็นชมพู่สายพันธุ์ที่ให้ลูกใหญ่ ขายได้ราคาดี และไม่พอขาย

ชมพู่อี้เหวินดำและแดง ถ้าห่อผลด้วยวัสดุทึบแสงนานจะมีสีขาวซีด

อาจารย์วิเชียร ดูแข็งแรง สุขภาพดี คงเป็นเพราะการทำสวนไม้ผลเป็นสวนผสม อยู่กับต้นหมากรากไม้ ได้อากาศดี อาหารดี หลีกเลี่ยงการใช้เคมี หรือใช้น้อยที่สุด นอกจากการประสบความสำเร็จจากการทำสวนผสม โดยปลูกชมพู่อี้เหวินดำและแดงแซมต้นไม้อื่นๆ เฉลี่ยก็ใช้พื้นที่เกือบ 1 ไร่ ปลูกได้ 40 ต้น กำลังขยายปลูกเพิ่มอีก 20 ต้น ปลูกต้นชมพู่อี้เหวินดำ อี้เหวินแดง และ   อี้เหวินเขียว ในที่นี้จะขอพูดถึงเรื่องชมพู่อี้เหวินดำ และแดง ถึงแม้จะปลูกพืชหลักใหญ่มะยงชิดและมะนาวแป้นดกพิเศษกำแพงเพชรแล้วนั้น ยังไม่ละความพยายามที่จะนำชมพู่อี้เหวินดำและแดงมาทดลองปลูกจนประสบความสำเร็จ ขายผลชมพู่ส่งตรงจากสวนก็กิโลละ 80 บาท ได้ผลผลิตมากมาย

อี้เหวินแดง สีจะอมชมพู สวยงามธรรมชาติของสายพันธุ์ ลูกใหญ่ แต่ถ้าปล่อยให้ดกมากลูกจะเล็กลง ต้องเด็ดลูกทิ้ง

ต้นชมพู่นั้นโดยเฉพาะสายพันธุ์จากไต้หวัน ที่สามารถปลูกได้ทุกภาค เพราะมีคนมาซื้อต้นพันธุ์จากสวนไปปลูกแล้ว เช่น แถบอีสาน ทั้งที่บางพื้นที่ปลูกนั้นแห้งแล้ง แต่ให้น้ำสม่ำเสมอไม่ต้องมากปรากฏว่าให้ผลดกเช่นกัน และให้ความหวานมาก

ชมพู่เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกกันมาก เพราะปลูกง่าย โตเร็ว รสชาติหวาน กรอบ มีวิตามินซีสูง จัดเป็นไม้ผลเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย แต่ไต้หวัน ได้นำสายพันธุ์เหล่านี้ไปพัฒนาพันธุ์ให้มีลูกใหญ่ยักษ์สีเข้มจัด เนื้อจะหวาน กรอบ เปลือกจะไม่ติดฝาด

อี้เหวินดำ สีจะคล้ำถ้าถูกแดดจัดสี จะคล้ายเปลือกมังคุด

ลักษณะลำต้นของ ชมพู่อี้เหวินดำและแดง

มีลำต้นค่อนข้างสูงประมาณ 15-20 เมตร ลำต้นขรุขระไม่ตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก สีน้ำตาลคล้ำ ใบค่อนข้างใหญ่เรียวยาวเป็นมัน ดอกสีขาวเป็นแบบชนิดดอกสมบูรณ์เพศ ดอกใหญ่มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผล มีลักษณะคล้ายระฆังคว่ำ ก้นจะแหลม ชมพู่อี้เหวินดำ มีลักษณะเด่นคือผลใหญ่ เนื้อแน่น ไม่มีเมล็ด สีแดงเข้มคล้ายเปลือกมังคุด ผิวมันเป็นประกาย รสชาติหวาน เนื้อแน่น ไม่มีเมล็ด การขนส่งชมพู่นั้น ข้อควรระวังผิวบางต้องห่อโฟมกันกระแทกเพื่อป้องกันผิวชมพู่เสียดสีกัน ส่วนอี้เหวินแดงนั้น สีแดงอมชมพู สวยงาม

เมื่อต้นชมพู่มีอายุได้ 2-3 ปี จะเริ่มออกดอก และเมื่อติดผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ หากในช่อมีลูกชมพู่ติดกันเป็นจำนวนมากให้ปลิดทิ้งเหลือลูกที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ เมื่อผลมีอายุประมาณ 2 เดือน ก็ให้ใช้ถุงพลาสติกห่อผลที่สมบูรณ์ไว้ ช่อละ 3 ผล เพื่อป้องกันแมลงรบกวน โดยแต่ละช่อไม่ควรเกิน 3 ผล เพราะจะทำให้ขนาดของผลเล็กลง หลังห่อไว้ประมาณ 20-25 วัน สามารถเก็บผลผลิตได้ การห่อก็ใช้วัสดุห่อเป็นตาข่ายจะดีมาก เพราะจะทำให้สีจะไม่ซีดเหมือนวัสดุห่อแบบทึบแสง

อี้เหวินแดง ต่างจากดำตรงสีเปลือกเท่านั้น รสชาติหวานเหมือนกัน ขั้วจะเล็ก ปลายจะบานใหญ่ ผลมีขนาดใหญ่กว่าชมพู่ทั่วไป

โดยสายพันธุ์นี้ธรรมชาติจะผลใหญ่มาก แต่ต้องการบริหารจัดการเรื่องการบังคับไม่ให้ดกมากจะทำให้ลูกเล็กถึงแม้รสชาติจะไม่เปลี่ยน ซึ่งโดยสายพันธุ์แล้วถือว่าใหญ่ยักษ์ แต่ถ้าให้ดกมากเกินไปจะทำให้เสียสายพันธุ์ และป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งน้ำของผลชมพู่ในกรณีที่พื้นที่มีน้ำน้อย

อาจารย์วิเชียร ยังเผยถึงเคล็ดลับในการดูแลชมพู่ให้มีสีสด ลูกใหญ่ รสชาติหวาน กรอบ เป็นที่ต้องการของตลาดด้วยว่า ต้องเอาใจใส่ดูแลตั้งแต่เริ่มต้นปลูก หมั่นรดน้ำ ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ หากพื้นที่ที่แห้งแล้งให้ใช้วิธีสูบน้ำบาดาลขึ้นมาพัก หรือกักเก็บไว้ในบ่อให้เพียงพอ แต่ทางแถบภาคอีสานหลายพื้นที่ที่ปลูกชมพู่ในเขตแล้งปรากฏว่าให้ผลผลิตได้ดีเช่นกัน

วิธีปลูก และดูแล

การปลูกชมพู่นั้นไม่ยาก ในกรณีที่เป็นที่ดอนอย่างสวนผม ไม่ต้องยกร่อง เพียงแต่ปลูกห่างกัน เริ่มแรกแค่ 4 เมตร ก็พอเพื่อกันลมพายุ ถ้าติดกันมากตอนพุ่มโตก็ใช้วิธีตัดแต่งกิ่ง ที่สวนใช้ต้นพันธุ์เสียบยอดจากต้นตอชมพู่พื้นเมืองเพราะหากินง่าย ทนแล้ง และทนต่อโรค การปลูกก็ขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร ก็พอ จะเน้นปลูกไม่ลึก เพราะอาหารของพืชเราจะใช้ปุ๋ยคอกบำรุงและฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งอยู่หน้าดินเสียส่วนใหญ่ ใส่ปุ๋ยคอก หรือมูลสัตว์ที่หาได้จากท้องถิ่น แล้วนำต้นชมพู่ลงปลูก ระยะเริ่มปลูกใหม่ควรให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าต้นชมพู่จะตั้งตัวได้ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้งประกอบกับชมพู่เป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ ที่สวนอาจารย์วิเชียร จึงใช้วิธีขุดเจาะบ่อบาดาลแล้วติดตั้งปั๊มสูบขึ้นมาพักไว้ในบ่อดิน แล้วเดินท่อติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ในสวนชมพู่ ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงสวนชมพู่ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ต้องขุดร่องก็ได้

อาจารย์วิเชียร ถือว่าเป็นปราชญ์พื้นบ้านที่ลองผิดลองถูกด้วยประสบการณ์ตรงที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่สนใจปลูกไม้ผลทุกชนิด โดยเฉพาะเรื่องของสวนไม้ผลผสมผสานเพื่อให้เกิดรายได้ทั้งปี ที่เลี้ยงตนเองและแรงงานโดยไม่ลำบาก ทั้งยังมีเงินเหลือเก็บอีกด้วย จึงได้สรรหาสายพันธุ์ไม้ผลที่พันธุ์ดี ปลูกง่าย ทนแล้ง นำมาต่อยอดที่สวน และปลูกเป็นตัวอย่างจนประสบความสำเร็จถึงจะมาแนะนำต่อหรือบอกต่อ

การพัฒนาเรื่องของชมพู่ที่ไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะนักวิจัยจากประเทศไต้หวัน ชมพู่อี้เหวินดำและแดง มีความโดดเด่นเรื่องรสชาติ ความใหญ่โตของผล หวาน กรอบ อร่อย ถือว่าเป็นชมพู่ยักษ์และสุดยอดของชมพู่ในช่วงนี้ก็ว่าได้  ยิ่งช่วงเดือนเมษายนนี้จะเป็นช่วงของหน้าร้อนที่มีผลไม้ดับร้อนมาให้รับประทาน ด้วยรสชาติที่หวาน กรอบ เปราะ กัดกินง่าย เป็นที่ถูกใจของผู้มาชิม ชมพู่อี้เหวินดำและแดง คำว่าสีดำหมายถึงแดงเข้มคล้ายเปลือกมังคุด หรือองุ่นดำก็ได้ ส่วนสีแดงก็สดใสออกแดงอมชมพู แต่รสชาติเหมือนกัน แตกต่างกันที่สีสันเพื่อความแปลกใหม่ของสายพันธุ์

ผลใหญ่ ลักษณะขั้วจะเล็ก ปลายจะบานกว้าง เนื้อแน่น

สายพันธุ์ชมพู่อี้เหวินดำและอี้เหวินแดงนั้น ค่อนข้างจะใหม่ในบ้านเรา จึงยังมีผู้ปลูกไม่มาก แต่คาดว่าน่าจะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีการพัฒนาพันธุ์ คือให้ใหญ่กว่าเดิมและมีความหวาน กรอบ ชื่นใจ เป็นผลไม้ที่เหมาะเป็นทั้งรับประทานและเป็นของฝาก ปัจจุบัน ชมพู่บ้านเราก็มีการพัฒนาพันธุ์เยอะมาก เพื่อให้มีลักษณะที่เด่นขึ้นทั้งด้านสีสันและรสชาติ แม้กระทั่งขนาดของผลและลำต้นเตี้ย ปลูกได้แม้กระทั่งในท่อซีเมนต์ก็ให้ผลผลิตดกเช่นกัน

ด้วยผลชมพู่มีเปลือกบาง ทำให้ชมพู่ช้ำง่าย บวกกับอายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น ผลผลิตส่วนใหญ่จึงจำหน่ายภายในประเทศ ไม่เหมาะกับการส่งออก แต่ก็มีการส่งไปยังประเทศใกล้ๆ อย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ อยู่บ้าง ตามตำรายาโบราณใช้เนื้อชมพู่มาทำแห้งแล้วบดเก็บไว้กินเป็นยาบำรุงร่างกาย เมล็ดที่เราทิ้งไปไม่เห็นค่า ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้โรคเบาหวาน แม้แต่ใบก็ใช้เป็นยาลดไข้ แก้ตาเจ็บได้

ท่านผู้อ่านสนใจที่จะสอบถามเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สวนสุวรรณีปรางทอง โดย อาจารย์วิเชียร บุญเกิด เลขที่ 161/2 หมู่ที่ 1 ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000 โทร. 085-244-1699

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2565