ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมเส้นใยสับปะรดบำบัดน้ำเสียจากโรงงานช่วยโลกพ้นวิกฤตมลพิษ

สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย นอกจากส่วนใหญ่นิยมนำเนื้อสับปะรดมารับประทานแล้ว ยังพบว่าทุกส่วนของสับปะรดยังสามารถนำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้อีกมากมาย รวมทั้งเพื่อสิ่งแวดล้อม

รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบว่า ใบสับปะรดสามารถนำมาใช้ช่วยโลกพ้นวิกฤตมลพิษ จากการนำเส้นใยจากใบสับปะรดที่เป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรไปใช้บำบัดน้ำเสียจากโรงงานโดยใช้กระบวนการตรึงพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งลงบนเส้นใยจากใบสับปะรด เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการดักจับโลหะหนักให้กับวัสดุจากธรรมชาติดังกล่าว

จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการกับตัวอย่างน้ำเสียจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์พบว่า เมื่อผ่านการกรองด้วยเส้นใยสับปะรดตรึงสารพอลิเมอร์ชนิดพิเศษดังกล่าวแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถลดการปนเปื้อนของสารตะกั่ว คอปเปอร์ เหล็ก และนิกเกิล ได้อย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มว่าจะสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ต่อไปได้

จึงได้ร่วมกับทีมสตาร์ทอัพ “TEAnity” ซึ่งเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำความฝันที่จะเห็นการต่อยอดผลงานวิจัยดังกล่าวสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้เป็นจริง

ปัจจุบันนวัตกรรมเส้นใยสับปะรดบำบัดน้ำเสียกำลังอยู่ระหว่างเสริมแกร่งศักยภาพให้พร้อมนำไปใช้ได้จริง ซึ่งจะต้องจัดการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานจำนวนนับพันลิตรขึ้นไป จึงต้องทำให้มั่นใจได้ว่าไม่ติดปัญหาในเรื่องปริมาณและเวลา จึงจะสามารถ scale up สู่ระดับอุตสาหกรรมต่อไปได้

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th