นวัตกรรมทำเงิน เพื่อเกษตรกร ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

เก็บตกผลงานวิจัยน่าทึ่งในในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ เวที Highlight Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ

เครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำผลงานวิจัยร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565  ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”  ภาคนิทรรศการ “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงการพัฒนาพื้นที่” ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)จำนวน 3 ผลงาน ดังนี้

ดร.อภิชัย สาวิสิทธิ์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  ได้นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง  เครื่องดื่มใบข้าวหอมมะลิ เสริมวิตามินบีรวม ตรา “จ๊าสไรซ์” ผลิตจากใบอ่อนข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทุ่งกุลาร้องไห้ โดดเด่นด้วยความหอมที่เป็นเอกลักษณ์และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ บรรจุในขวดแก้วที่สะดวกในการบริโภค และมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย น้ำตาลน้อยเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพและผู้ชื่นชอบการดื่มชา

นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยเรื่อง  เครื่องดื่มน้ำนมข้าวฮางงอก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมทางเลือก ผลิตจากข้าวอินทรีย์ G! ทุ่งกุลาร้องไห้ จำนวน 101 สายพันธุ์ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านกลิ่นและรสชาติ ผ่านกระบวนการผลิตข้าวฮางด้วยวิธีการที่เหมาะสม ไม่มีส่วนผสมของนมจากสัตว์ เหมาะกับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ผู้ที่แพ้นมจากสัตว์ และผู้ที่ทานมังสวิรัติ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อภิชัย สาวิสิทธิ์ โทร.044-233-000 ต่อ 2545

ด้านอาจารย์รัตนเรขา อัจฉริยะพิทักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  ได้นำเสนอผลงานเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากผ้าทอด้วยใยรังไหมเหลือใช้ผสมใยฟางข้าว  มีแนวคิดการนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าโดยใช้ “ฟางข้าว” พืชเส้นใยในชุมชนปั่นกับวัตถุดิบเหลือทิ้งจากการผลิตไหม (รังไหมเหลือใช้) ในอัตราส่วน 1:10 ได้เส้นด้ายที่มีความแข็งแรง และความยืดตัวเนื่องจากใยฟางข้าวมีปริมาณเยื่อใยเซลลูโลสสูงทำให้เส้นด้ายแข็งแรงและมีความยืดตัวในระดับที่ดี ต่อยอด เชิงพาณิชย์ด้วยการใช้หลักการออกแบบเสื้อผ้า ผลงานวิจัยนี้ พร้อมใช้และนำไปพัฒนาต่อยอดขยายผลได้ในอนาคต

นวัตกรรมข้าวพันธุ์ใหม่ สู่ตลาดโลก

กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้พัฒนานวัตกรรมข้าวพันธุ์ใหม่ สู่ตลาดโลก ตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 มีวิสัยทัศน์คือ ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยกรมการข้าวมีนวัตกรรมพันธุ์ข้าวที่เตรียมรับรองภายใต้ยุทธศาสตร์แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  1. ข้าวหอมไทยพันธุ์ใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจข้าวหอมไทยในตลาดโลก มีชื่อว่า “สายพันธุ์ BioH95-CNT-60-1-1-1-2-1 ” เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง มีกลิ่นหอม นุ่ม คล้ายปทุมธานี 1 ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 921 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง
  2. ข้าวขาวพื้นแข็ง กลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ เพื่อความหวังที่ยิ่งใหญ่ในตลาดข้าวโลก มีชื่อว่า “สายพันธุ์ PSL16348-MAS-293-3-1-2-1” เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง มีกลิ่นหอม ปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือกลักษณะ ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 1,070กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง
  3. ข้าวขาวพื้นแข็ง ผลผลิตสูง เพื่อความหวังใหม่ของชาวนาของไทย และการพาณิชย์ มีชื่อว่า “สายพันธุ์ CNT07001-35-3-2-1” เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรังมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 1,213 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทาน และในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  4. ข้าวขาวพื้นนุ่ม ตอบโจทย์ความต้องการ สู่ตลาดแห่งอนาคต มีชื่อว่า “ข้าวสายพันธุ์ CNT15171-11-2-2-2-1” เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด1,012 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง
  5. ข้าวขาวพื้นนุ่ม บริโภคในประเทศและส่งออก มีชื่อว่า “ข้าวสายพันธุ์ SPR08092-3-1-1-1-2″เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง ผลผลิตเฉลี่ย 732 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางสายพันธุ์ข้าวเหล่านี้กรมการข้าวได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นคงเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย ยกระดับข้าวไทยสู่ตลาดโลกและผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จากการใช้ประโยชน์ข้าวพันธุ์ใหม่นี้ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรสาร : 02 579 7892

สร้างมูลค่าเพิ่มบัวฉลองขวัญ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ( มทร.ธัญบุรี ) สร้างมูลค่าเพิ่มบัวฉลองขวัญด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เสริมสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นการยกระดับคุณภาพและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีจากสกัดจากสเต็มเซลล์จากบัวฉลองขวัญโดยการพัฒนาคิดค้นวิธีการเพาะเซลล์โดยใช้บัวฉลองขวัญเป็นวัตถุดิบใช้เทคโนโลยีสกัดสเต็มเซลล์ฉลองขวัญมาพัฒนาวิธีกักเก็บในรูปแบบไมโคร/นาโนพาร์ทิเคิลโดยอาศัยกระบวนการโพลีเมอริค ไมเซลลาร์ คิวบิค เอนแคบชูเลชั่นเทคโนโลยี เพื่อพิ่มความคงตัวและนำส่งสารออกทางชีวภาพ สารออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิผลและนำสารสกัดสเต็มเซลล์จากบัวฉลองขวัญมาวิจัย เพื่อพิสูจน์ฤทธิ์ทางชีวภาพและเกสัชวิทยาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ทำร่วมกับบริษัท สถาบันวิจัยศาสตร์ จำกัด

โดยทำหน้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า “ORIENTAL PRINCESS” มูลค่าของชุดผลิตภัณฑ์ราคา 4,725 บาท ส่วนลด 20% คิดเป็นค่าราคาต่อชุด3,780 บาท โดยทำการผลิตไตรมาสละ 50,000 SKU คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 189 ล้านบาทต่อไตรมาส แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสเต็มเชลล์พืชสมุนไพรไทยสามารถเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของธุรกิจ BCG ของประเทศไทย ที่สำคัญสามารถผลิตได้ในประเทศ ซึ่งทำให้ราคาวัตถุดิบถูกลง ส่งผลให้สินค้ามีต้นทุนต่ำ สามารถตั้งราคาและทำการตลาดได้ง่ายกว่าคู่แข่งรายอื่นๆพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์นับเป็นการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับบัวฉลองขวัญได้อย่างมากอีกด้วย  ส่งผลให้งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับรางวัล Gold Award พร้อมรับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี  รวมทั้งเงินรางวัล จำนวน 70,000 บาท และเกียรติบัตร ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นักวิจัย ดร.ไฉน น้อยแสง โทร: 02 549 4687

ยกระดับอาหารท้องถิ่นลาวเวียง  

มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้นำเสนอผลงานวิจัยแผนบูรณาการองค์ความรู้วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นลาวเวียง ตำบลเนินขาม จังหวัดชัยนาท  : องค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

ประกอบด้วยองค์ความรู้เรื่องอาหารลาวเวียง ข้อมูลคุณค่าโภชนาการและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ตำรับอาหารลาวเวียง ผลิตภัณฑ์อาหารลาวเวียงพร้อมบรรจุภัณฑ์ และสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้ เรื่อง อาหารลาวเวียง ที่ผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด/ขยายผลในอนาคต

มฟล.พัฒนากาแฟอาราบิก้า

จ.เชียงรายตลอดห่วงโซ่อุปทาน

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)  ได้นำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟอาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการกาแฟอาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ด้วยการให้องค์ความรู้ควบคู่กับการปฏิบัติทั้งในเชิงของกระบวนการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดกาแฟอาราบิก้าโดยใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพของเมล็ดกาแฟตามมาตรฐานโลก รวมถึงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการฟาร์มในเชิงธุรกิจ สามารถวางแผนการผลิตและการจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการ Coaching จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

ควบคู่กับการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นช่องทางการตลาดในรูปแบบใหม่ ทำหน้าที่ในการกระจายผลผลิตกาแฟอาราบิก้าสู่วงกว้างในระดับสากลมากขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิดการซื้อขายเมล็ดกาแฟคุณภาพที่มีความยั่งยืน โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 10% และเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 15%   ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับรางวัล Bronze Award  ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท