ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2656 ณ โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม สายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation ภาคเหนือ ภายใต้ความร่วมมือของ วช. และ ศอศ. ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากอาจารย์และนักศึกษา 37 สถาบันการอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมทั้งสิ้น 227 คน พวกเขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และการนำเสนอผลงานจากการเข้าร่วมกิจกรรม workshop ตลอดระยะเวลา 3 วัน ทำให้นักศึกษาและคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมตามกลุ่มเรื่องที่ผู้จัดได้กำหนดไว้

หลังจากที่แต่ละกลุ่มได้นำเสนอแนวคิดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นใน 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
“วช. เชื่อว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรม สามารถร่วมกันพัฒนางานประดิษฐ์คิดค้นที่รองรับความต้องการของชุมชนและสังคม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวระหว่างเป็นประธานมอบรางวัลและปิดกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation ภาคเหนือในครั้งนี้

โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ จำนวนทั้งสิ้น 18 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ รางวัลระดับ 5 ดาว มี 4 รางวัล ได้แก่ คือ 1. อุปกรณ์สางใบอ้อยและตัดต้นอ้อยเพื่อเกษตรรายย่อย จากวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย 2. เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ด้วยเทคนิคการนำเสียงผ่านกระดูก จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ 3. สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบบูรณาการ จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ 4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์ บ้านพงกะชี อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์

ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับ 4 ดาว มี 8 รางวัล คือ 1. เครื่องคัดแยกเมล็ดแตงโมแบบแยกน้ำเพื่อเอาเมล็ด จากวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม 2. น้ำพริกผัดรากบัว จากวิทยาลัยเทคนิคตาก 3. แอปพลิเคชั่นจัดการเอกสารในงานมิเตอร์ของการไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย 4. การประยุกต์ใช้ Arduino นับจำนวนรถยนต์เข้า-ออก โดยอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีเมโทร 5. ระบบแผงโซลาร์เซลล์หมุนตามแสงอาทิตย์ควบคุมโดยระบบแบบ MPPT เพื่อใช้กับภาคการเกษตร จากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง 6. บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ 7. สถานีชาร์จรถสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ จากวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย 8. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชายาไข่เค็มมรกตเพิ่มมูลค่าสินค้าเป็นอาชีพในท้องถิ่น จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่

สำหรับรางวัลระดับ 3 ดาว มี 6 รางวัล คือ 1. เปรี้ยวปาก น้ำปลาหวานเนื้อแยม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่ 2. มาดามหม่อง จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่ 3. หุ่นยนต์ฉีดพ่นแอลกอฮอล์และวัดอุณหภูมิ จากวิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก 4. ข้าวแต๋นผักเชียงดา จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการเชียงใหม่ 5. เครื่องสร้างลวดลายบนแผ่นไม้ด้วยไฟฟ้า จากวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง 6. Mofee รถกาแฟรักษ์โลก จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่

อุปกรณ์สางใบอ้อยและตัดต้นอ้อย
อุปกรณ์สางใบอ้อยและตัดต้นอ้อย เป็นผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ประกอบด้วย นายชาคร เกตุขาว นายโชคดี จั่นกัน นายอลงกรณ์ อินยะ นายสุธี ธุรี นายธนู ยิ้มแพร นายวสพล ทับทิม นายชวฤทธิ์ บุญคง นายปุญญาพัฒน์ สิงห์ชู นายสิรภัทร เฝือยา นายณัฐพงศ์ พัว และอาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ นายสุรศักดิ์ ชัยพรรคพานิช นายธงชัย ทรงกลิ่น นายรังสรรค์ ทุเรียน นายกำไร จันทร์พรม และ นายสุรสิทธิ์ มณีสุข
อุปกรณ์สางใบอ้อยและตัดต้นอ้อย จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถสางใบอ้อย (เลาะใบอ้อย) ออกจากลำต้นของต้นอ้อย และสามารถตัดต้นอ้อยได้ในอุปกรณ์อันเดียวกัน ช่วยประหยัดเวลา เพราะลดขั้นตอนในการสางใบอ้อยและตัดต้นอ้อยในขั้นตอนเดียว โดยสามารถเลาะใบอ้อยออกจากลำต้นและตัดต้นอ้อย จำนวน 5 ต้น โดยใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้ภายในระยะเวลา 56.4 วินาที

วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย
วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ภายใต้การนำของ นายชูชาติ พรามจร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย สร้างผลงานด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ให้กับสถาบันมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้การยอมรับด้านคุณภาพผลงาน และด้านการตลาด เช่น ผลงาน เครื่องปอกผิวมะกรูด ซึ่ง ผอ.ชูชาติ ได้จัดพิธีมอบอนุสิทธิบัตรให้แก่เจ้าของผลงานคือ ครูธงชัย ทรงกลิ่น และ ครูสุรศักดิ์ ชัยพรรคพานิช ครูแผนกช่างไฟฟ้า
งานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ระดับชาติ ครั้งที่ 30 ประจำปีการศึกษา 2664 ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ อาชีวศึกษาจังหวัดน่าน และอาชีวศึกษาจังหวัดแพร่ วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทักษะงานเครื่องยนต์เล็กแก๊สโซลีน

โครงการประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ระดับจังหวัดสุโขทัย ประจำปีการศึกษา 2564 ผลงานเครื่องคัดผลมะม่วง ของวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ชนะเลิศประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ และผลงานรถเข็นพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ชนะเลิศประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตร ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ จะได้เป็นตัวแทนสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาของจังหวัดสุโขทัย เพื่อเข้าประกวดผลงานในระดับภาค และระดับประเทศต่อไป

เครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด
เครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย เพราะได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดมาหลายครั้ง ผลงานชิ้นนี้เป็นของนักศึกษา ได้แก่ นายโชคดี จั่นกัน นายพีรพัฒน์ อารีรักษ์ นายธเนศ อุบลศรี นายอลงกรณ์ อินยะ นายวสพล ทับทิม นายกสิณ ศรีม่วง นายสามารถ ศรีจักรโคตร นายสุธี ธุรี นายชวฤทธิ์ บุญคง นายสิรภัทร เฝือยา และอาจารย์ที่ปรึกษา คือ นายสุรศักดิ์ ชัยพรรคพานิช และคณะ
เครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ จาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) วิธีและขั้นตอนของการแยกเมล็ดข้าวโพดออกจากฝักข้าวโพด (การกะเทาะ) อาศัยการนำพลังงานกลจากมอเตอร์ไฟฟ้าผ่านสายพานมาขับเคลื่อนชุดกะเทาะให้เกิดการเคลื่อนที่ของชุดกะเทาะเมื่อมีฝักข้าวโพดตกลงมากระทบ จะเกิดการถูและเฉือนเมล็ดข้าวโพดที่ติดอยู่บนฝักให้หลุดออก แล้วไหลออกมาโดยมีช่องแยกระหว่างเมล็ดข้าวโพดกับฝักข้าวโพดที่แยกเมล็ดแล้ว

จากการทดสอบประสิทธิภาพการแยกเมล็ดข้าวโพดออกจากฝักด้วยเครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด จำนวน 10 ฝัก พบว่า เครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด ใช้เวลา 16.2 วินาที เมื่อมาดูคุณภาพการแยกเมล็ดข้าวโพดออกจากฝัก พบว่าไม่มีเมล็ดข้าวโพดติดฝักมา และการหาประสิทธิภาพการแยกเมล็ดข้าวโพดออกจากฝักด้วยเครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด จำนวน 30 ฝัก พบว่าเครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด ใช้เวลา 74.8 วินาที เมื่อมาดูคุณภาพการแยกเมล็ดข้าวโพดออกจากฝัก พบว่าไม่มีเมล็ดข้าวโพดติดฝักมา

ผู้สนใจนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย เลขที่ 2/4 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ 055-611-201 ติดตามข้อมูลข่าวสารของวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ได้ทาง Website Error! Hyperlink reference not valid. เฟซบุ๊ก วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย
……………………………………….
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354