อดีตพนักงานประจำ เจียดเงินเดือน 10% สานฝันทำเกษตร ปลูกไม้ผล-ผักสลัด ต่อยอดคาเฟ่ สร้างรายได้ 5 หมื่น/เดือน

คุณขวัญตา บุตรวรรณ หรือ พี่เหมียว เจ้าของสวนผักฟาร์มสุข&คาเฟ่ ตั้งอยู่ที่ 213 หมู่ที่ 3 ตําบลนาโพธิ์ อําเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ต้นแบบมนุษย์เงินเดือน ที่มีความฝันอยากกลับมาทำมาหากินที่บ้านเกิด สู่การปูเส้นทางวางแผนสร้างอนาคต จากการหักเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ทุกเดือน ไว้สำหรับการซื้อต้นพันธุ์ไม้ผล ไม้ป่านานาชนิด ไว้เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวหลังลาออกจากงานประจำ

คุณขวัญตา บุตรวรรณ หรือ พี่เหมียว เจ้าของสวนผักฟาร์มสุข&คาเฟ่

พี่เหมียว เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนทำงานประจำอยู่ที่จังหวัดชลบุรีมาก่อน ซึ่งด้วยลักษณะงานที่ทำเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสมุนไพรอภัยภูเบศร มีความคลุกคลีอยู่กับสมุนไพรมาในระดับหนึ่ง จึงใช้วิชาตรงนี้มาผสมผสานกับความชอบส่วนตัวที่เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ปลูกผัก นำไปสู่การทำเป็นอาชีพเสริมพร้อมกับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกผักเพิ่มเติมเพื่อสะสมประสบการณ์ให้ดียิ่งขึ้น จนประสบผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง ผลผลิตที่ได้ออกมาสวยงาม เก็บนำมาโพสต์ขายผ่านช่องทางเฟซบุ๊กก็ได้รับผลตอบรับดี ทำให้มีความหวังและเป็นการจุดประกายความคิดในการวางแผนอนาคต และบั้นปลายชีวิตให้อยู่กับอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน

“เรดคลอรัล” พร้อมเก็บเกี่ยว
สดกว่านี้มีอีกมัยยย กร๊อบ กรอบ

วางแผนอนาคตก่อนลาออกจากงาน
เจียดเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ ในการเริ่มต้น

พี่เหมียว บอกว่า ตนก็เป็นคนนึงที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตที่สูงมาก ต้องอาศัยการประหยัดอดออม และหัดเป็นคนช่างวางแผน จึงทำให้มีวันนี้ได้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการวางแผนล่วงหน้าก่อนออกจากงานประมาณ 2-3 ปี ด้วยการหักรายได้จากงานประจำทุกเดือน เดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้กระทบกับรายจ่ายในส่วนอื่นๆ ไว้สำหรับซื้อพืชพรรณ ไม้ผลที่อยากปลูก แล้วใช้ช่วงเวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ขับรถจากชลบุรีกลับอุบลฯ เกือบทุกเดือน เพื่อนำไม้ผลที่ซื้อเตรียมไว้ไปลงปลูก ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2565 ไม้ผลที่เคยปลูกไว้เริ่มออกดอกออกผลงอกงาม สามารถเก็บขายได้ในบางส่วน ตนจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำงานเกษตรอย่างเต็มตัวบนพื้นที่ 4 ไร่ พร้อมกับการต่อยอดปลูกผักสลัด เริ่มทำจาก 2 โรงเรือน และมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 4 โรงเรือน จากกระแสตอบรับที่ดีของลูกค้า ปลูกเท่าไหร่ไม่พอขาย เนื่องจากในแถบพื้นที่ใกล้เคียงยังไม่มีใครทำแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นปลูกพืชผักสวนครัวที่ทำง่ายๆ บวกกับสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งจากงานประจำ และเรื่องของสุขภาพ ส่งผลทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ผักสลัดของที่ฟาร์มขายดี

ผักสลัดอินทรีย์ ขึ้นงามทุกต้นจริงๆ
แปลงปลูกกับพื้น ใช้อิฐบล็อกวางเรียงทำแปลงปลูก ผลผลิตดีเหมือนกัน

ด้วยจุดเด่นผักสลัดของที่ฟาร์มปลูกแบบอินทรีย์ ลูกค้าที่เข้ามาซื้อจะได้รับประทานวัตถุดิบที่สด ใหม่ ทุกวัน จากความใส่ใจที่ทางฟาร์มมอบให้ โดยจะเลือกเก็บผักในตอนเช้าของทุกๆ วันไว้สำหรับต้อนรับลูกค้า รวมถึงรสชาติของผักที่หวาน กรอบ ไม่ขม ด้วยความพิถีพิถันการปลูกแบบอินทรีย์ ใส่ใจตั้งแต่กระบวนการเลือกเมล็ดพันธุ์ รวมถึงที่สวนจะเลี้ยงไส้เดือนไว้สำหรับทำปุ๋ยหมักเองโดยเฉพาะ

ปรุงดินถูกวิธี เมล็ดพันธุ์แข็งแรง
ปลูกผักอะไรก็ง๊ามงาม

สำหรับเทคนิคการปลูกผักสลัดอินทรีย์อย่างไรให้เป็นที่ต้องการของตลาด พี่เหมียว อธิบายว่า อันดับแรกต้องเริ่มจาก

ผัดสลัด “บัดเตอร์เฮด”
ผักสลัดอินทรีย์ ขึ้นงามทุกต้นจริงๆ
  1. ต้นพันธุ์สมบูรณ์ แข็งแรง สืบเนื่องมาจากที่เมื่อก่อนตนเพาะกล้าผักขาย ทำให้ได้รู้ว่าการเลือกเมล็ดพันธุ์ และต้นพันธุ์จะต้องมีความแข็งแรง เมื่อนำไปปลูกจะทำให้มีอัตราการรอดสูง
  2. การปรุงดิน การปลูกผักสลัดหลายคนปลูกแล้วผักไม่โต หรือแคระแกร็น สาเหตุหนึ่งเกิดมาจากดินที่ใช้ปลูก หลายท่านไปซื้อดินปลูกที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป มีแร่ธาตุที่พืชต้องการไม่พอ แต่เคล็ดลับของที่ฟาร์มคือ การปรุงดินปลูกเองจากน้ำหมัก และปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ทำเองเลี้ยงเอง

เคล็ดลับการปรุงดิน เน้นวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่นเป็นหลัก 1. ดินปลูก 2-3 ส่วน 2. ปุ๋ยหมัก  1 ส่วน  3. แกลบเก่า 1 ส่วน (เป็นแกลบที่ผ่านการหมักมาแล้ว หรือเป็นแกลบที่อยู่ในเล้าไก่นำมาใช้ได้) 4. ขุยมะพร้าว 1 ส่วน แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน

ยำบก

วิธีทำ นำวัตถุดิบทั้ง 4 ชนิด มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วรดด้วยน้ำหมักปลา จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หรือจุลินทรีย์หน่อกล้วย ตามความสะดวกในช่วงนั้น โดยการรดแค่ดินพอชุ่ม จากนั้นทำการผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วนำฟางมาคลุมหมักดินทิ้งไว้ 7-15 วัน เพื่อให้เกิดจุลินทรีย์ตัวดีขึ้นมา เมื่อนำไปปลูกผักจะทำให้ผักแข็งแรง โตไว

Advertisement
ผักสลัดที่สวนผักฟาร์มสุข รสชาติอร่อย กรอบ
สลัดโรลเสิร์ฟสดๆ จากฟาร์ม
  1. การเพาะกล้า เทคนิคของที่ฟาร์มจะใช้วิธีการหว่านเมล็ดในตะกร้าขนมจีน หรือตะกร้าอะไรก็ได้ที่มีรูระบายน้ำ นำเมล็ดพันธุ์ผักที่ต้องการปลูกมาหว่านไว้ในตะกร้า ประมาณ 5 วัน จะเริ่มมีใบเลี้ยงขึ้นมา 1 คู่ จากนั้นจึงค่อยย้ายต้นกล้าลงในถาดเพาะ เพื่อเป็นการคัดแยกต้นที่สมบูรณ์ที่สุด “หลายคนมีคำถามว่า ถ้าไม่เพาะเมล็ดลงตะกร้าก่อนสามารถหยอดเมล็ดลงถาดเพาะเลยได้ไหม ก็ได้เหมือนกัน แต่ต้นกล้าจะโตไม่สม่ำเสมอกัน จะมีทั้งต้นที่งอกและไม่งอก ต้นที่แข็งแรงและไม่แข็งแรงผสมกัน แต่ถ้าเราหว่านเมล็ดพันธุ์ในตะกร้าก่อน แล้วค่อยย้ายลงถาดเพาะ ต้นกล้าทุกต้นจะโตเท่ากัน และแข็งแรงสมบูรณ์เหมือนกันทุกต้น”
  2. โรงเรือนเพาะปลูก ขนาดความกว้างของโรงเรือน 4×8 เมตร เป็นโรงเรือนระบบเปิด มุงหลังคาด้วยผ้าพลาสติก ด้านข้างของโรงเรือนปล่อยโล่ง แบ่งปลูกแบบเป็น 2 รูปแบบ 1. ปลูกแบบยกแคร่สูง ประมาณ 75 เซนติเมตร จำนวน 2 โรงเรือน ข้อดีคือ ทำงานง่าย สะดวกในการดูแล 2. ปลูกติดกับพื้นดิน ใช้อิฐบล็อกวางเรียงเป็นแปลงปลูก จำนวน 2 โรงเรือน ข้อดีคือ ประหยัดต้นทุน
  3. การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น การใส่ปุ๋ยหลังจากย้ายกล้าลงแปลงปลูกได้ประมาณ 2 สัปดาห์ จะทำการพรวนดินพร้อมกับใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ทำเอง หลังจากนั้นถัดมาอีก 1 สัปดาห์ ฉีดพ่นบำรุงผักด้วยน้ำหมักมูลไส้เดือน ฮอร์โมนนมสด หรือน้ำหมักปลา ตามความสะดวก ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะทำให้ผักสลัดออกมากรอบ รสชาติดี ไม่ขม
  4. แมลงศัตรูพืช หนอน คือศัตรูพืชตัวสำคัญของการปลูกผักสลัด แต่โชคดีตอนนี้ที่ฟาร์มยังไม่ประสบปัญหากับหนอนมากนัก อาจเป็นเพราะการหมั่นสำรวจดูแปลงอยู่เป็นประจำ หรือถ้าหากเจอหนอนภายในแปลงจะใช้วิธีจับทิ้งก่อน ถือเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น แต่ปัญหาที่มักพบบ่อยๆ ในช่วงหน้าฝนก็คือ โรคใบจุด วิธีแก้ไขในกรณีที่หากยังไม่เป็นเยอะ ให้เริ่มเด็ดใบล่างทิ้งก่อน แต่ถ้าเจอทั้งแปลงให้ถอนทิ้งทั้งแปลง แล้วตากดินทิ้งไว้เพื่อฆ่าเชื้อ

ปริมาณผลผลิต 1 โรงเรือน ปลูกได้ 2 แปลง 1 แปลง ปลูกผักได้ประมาณ 300-400 ต้น ถ้าเลือกตัดผักที่ได้มาตรฐานโตเต็มที่จำนวน 10 ต้น จะได้น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม แบ่งขายขีดละ 13 บาท กิโลกรัมละ 120 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในจำนวนผักที่สามารถปลูกได้แปลงละ 300-400 ต้น เมื่อหักส่วนที่เสียหายออกไป จะเหลือประมาณ 250-280 ต้น ต่อแปลง ก็ยังเป็นการสร้างรายได้ที่คุ้มค่ามากๆ เพราะที่สวนเน้นทำเองทั้งหมด ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

ต้นกล้าผักสลัด สมบูรณ์ แข็งแรง ทุกต้น
รดน้ำทุกวันเช้า-เย็น

ต่อยอดเปิดคาเฟ่ เน้นวัตถุดิบเสิร์ฟสดใหม่
สร้างรายได้ต่อเดือนไม่น้อย

เจ้าของบอกว่า “ค่าเฟ่” ถือเป็นการต่อยอดจากความชอบส่วนตัวที่ชอบท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ชอบพาตนเองไปอยู่ในที่ที่มีสีเขียวเยอะๆ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่พอจะสานฝันของตนเองให้เป็นจริงได้ก็ไม่รอช้า เริ่มลงมือทำทันที โดยการนำเงินจากการขายผลไม้และผักสลัดมาต่อยอด เพราะเล็งเห็นช่องทางสร้างรายได้ สร้างมูลค่าจากผัก ผลไม้ที่มีอยู่ในฟาร์มมาจากช่วงที่ผ่านมามักจะมีลูกค้าของผักสลัดจะแวะเวียนเข้ามา รวมถึงคณะผู้ศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่ขอเข้ามาเรียนรู้การปลูกผักอยู่เป็นประจำ แล้วถ้าฟาร์มมีเครื่องดื่มเย็นๆ อร่อยๆ มีอาหารที่ทำจากวัตถุดิบปลอดสารให้ทุกคนทานก็คงจะดีไม่น้อย จึงเป็นที่มาของการต่อยอดในครั้งนี้ โดยเครื่องดื่ม และเมนูอาหารที่ทางคาเฟ่เสิร์ฟให้กับลูกค้า หลักๆ จะเน้นเป็นวัตถุดิบจากที่ทางร้านปลูกเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเมนู สลัดโรล สลัดข้าวโพด ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ยำบก สลัดผัก สลัดผักธัญพืช ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่คุ้มค่า เพราะปัจจุบันผักสลัดของที่ฟาร์มปลูกยังไงก็ยังไม่พอขาย ลูกค้าหลายคนติดใจ กลายเป็นลูกค้าประจำก็เยอะ ด้วยการปลูกและใส่ใจในแบบฉบับบของเรา รวมถึงลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมคาเฟ่อยากเข้าไปตัดผักเองจากแปลงทางร้านก็มีบริการ ชอบต้นไหนตัดได้ตามความต้องการ ซึ่งหลายคนก็แฮปปี้กับตรงนี้

Advertisement
“กรีนคอส” สีเขียวสวย น่ารับประทาน
ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน
มุมถ่ายรูปในคาเฟ่
สลัดโรลข้าวโพด
กินอาหารดีๆ กินผักปลอดสารเคมี

ฝากถึง มนุษย์เงินเดือนอยากทำเกษตร

“อันดับแรกควรมีการวางแผน ในตอนที่ยังทำงานทุกคนจะมีรายได้เข้ามาทุกเดือนอยู่แล้ว ก็อาจจะทำแบบพี่ก็ได้คือให้หักเงินที่ได้สัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องเอาไปฝากธนาคารแต่เอาไปฝากไว้ใต้ดินแทน เช่น เอาไปฝากไว้กับหน่อไม้บ้าง ไม้ผลอย่างมะม่วง ฝรั่ง บ้าง รอให้เงินงอกเงยออกมาจากดิน หรือจะเลือกจับพืชที่มีราคาอย่างพี่ เลือกปลูกกล้วยแปลกหายากเพื่อสะสมเงินทุน พอถึงเวลาพี่ขุดหน่อขายได้ราคาหน่อละ 4-5 ร้อย แต่ถ้าเป็นหน่อกล้วยทั่วไปราคาก็อยู่ที่หลักสิบ ถือเป็นรูปแบบการออมเงินอีกทางหนึ่ง เพราะวันข้างหน้าเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง หากตกงานกะทันหัน หรือมีสภาวะฉุกเฉิน เราก็ยังมีในส่วนนี้มารองรับ” พี่เหมียว กล่าวทิ้งท้าย

สดกว่านี้มีอีกมัยยย กร๊อบ กรอบ
เลี้ยงไส้เดือนไว้ใช้ภายในสวน
ลูกค้าตัดผักเองได้ตามใจชอบ
วัตถุดิบที่สวน สด ใหม่ทุกอย่าง

หากท่านใดสนใจ สอบถามรายละเอียดเทคนิคการปลูกผักสลัดอินทรีย์เพิ่มเติม หรือสนใจไปเยี่ยมชมสวนฟาร์มสุข&คาเฟ่ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 088-209-8849 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สวนผักฟาร์มสุข&คาเฟ่

 


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354