ปลูกป่าบำนาญกันเถอะ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ย่างเข้าสู่ฤดูฝนเต็มที่แบบนี้ น้ำท่ามาดีกันหรือยังครับ บางพื้นที่อาจตอบว่ายัง แต่เชื่อว่าอีกหลายพื้นที่อาจตอบว่า มาเกินพอแล้วจ้า เช่นที่กรุงเทพฯ ผมเองก็ไม่ทราบว่าท่านจะรักและเป็นห่วงเกษตรกรเมืองหลวงหรืออย่างไร ป้อนฝนมาให้แต่ละรอบโหดๆ ทั้งนั้น ปีนี้บ้านผมเองก็เจอฝนกระหน่ำจนน้ำท่วมกันทั้งซอยมาแล้ว บอกเลยว่าหนักกว่าปี 2554 ที่น้ำท่วมไปทั่วเสียอีก ก็ตั้งท่ารับมือกันไปนะครับ เราคงไปว่าใครไม่ได้หรอก ตั้งหน้าตั้งตาวางแผนรับมือกันไปดีกว่า ถือว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ

เวทีเสวนาความสุขปลูกได้
พา ดร.ไปชมสวนตัวอย่างที่จะปลูก

ช่วงที่ผ่านมาผมเดินทางไปพัทลุงครับ น้องโต้ง-กฤต พวงสุวรรณ ธนาคารต้นไม้สาขาป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ชวนไปร่วมกิจกรรม รวมพลคนปลูกป่าปีที่ 5 ตอน ความสุขปลูกได้ ซึ่งงานนี้ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ชาวคนรักการปลูกป่าต้องผิดหวังครับ ระดมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องมาวางไว้บนเวทีเสวนาและรอบๆ เวทีกิจกรรมอย่างมากมาย ซองบนเวทีเสวนาก็มีแม่เหล็กในวงการหลายๆ ท่าน อาทิ พี่เกริก-ดร. เกริก มีมุ่งกิจ, พี่เช็ค-คนค้นฅน, พี่พงศา ชูแนม, พี่หาญณรงค์ เยาวเลิศ, คุณสุนทร รักษ์รงค์, คุณกอล์ฟ-คนกล้าคืนถิ่น มาร่วมเสวนาและตอบคำถามอย่างไม่มีกั๊กกันเลย

การดูงานนอกสถานที่จัดงานปีนี้จัดไว้ 2 ที่ สวนแรกเป็นป่าปลูกของ ลุงเขียว-ขจร แจ้งกุล อดีตกำนันผู้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทบุคคล ประจำปี 2558 ผู้ที่ใช้พื้นที่สวนที่ว่างๆ ปลูกไม้ป่าลงไปในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ด้วยเป้าหมายเพื่อให้ลูกหลานได้มีไม้ไว้ปลูกบ้าน แต่ผลพลอยได้จากป่าปลูกกลับสร้างมูลค่าและคุณค่าให้เกิดขึ้นอย่างมากมาย สมุนไพรในป่าที่เกิดขึ้นเองบ้าง ลุงเขียวปลูกลงไปบ้าง ไม่นานก็ได้ใช้ประโยชน์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ไม่มีวันหมดสิ้น ปัจจุบันในปีที่ต้นไม้มีอายุ 65 ปี ลุงเขียวก็ยังอยู่ดูแลที่สวนแห่งนี้ด้วยความรักและยังได้ใช้ประโยชน์ได้ตลอด ไม้ยางนา ยางแดงที่เห็นแต่ละต้นหลายคนโอบ ความสูงนี่ต้องแหงนมองจนปวดคอเชียวแหละ และไม้เหล่านี้ก็สร้างลูกไม้ กล้าไม้ให้ไปเกิดในพื้นที่ต่างๆ อีกมากมาย

ผมไปเยือน ดร. เกริก

อีกหนึ่งพื้นที่ดูงานก็คือสวนสะละ ที่เจ้าของอยากทำสวนผลไม้และอยากมีป่าไว้ด้วยพร้อมกัน จะทำอย่างไร ป่าสะละที่เป็นสวนที่นำผลผลิตส่งขายในห้างสรรพสินค้า การผลิตจะต้องมีจำนวนที่มากพอต่อเนื่อง คุณภาพต้องได้ตามที่ตกลงกัน แต่สิ่งที่ตอบโจทย์ให้เจ้าของสวนก็คือ ถึงวันหนึ่งเมื่ออายุมากขึ้น การทำสวนสะละอาจกินแรงผู้สูงวัยมากเกินไป จึงได้ตอบโจทย์ในใจอีกข้อหนึ่งคือ ทำอย่างไรจะทำให้สวนเดียวกันนี้ ดูแลเราไปได้จนถึงวัยชราที่ทำไม่ไหวแล้ว คำตอบจึงมาอยู่ที่ไม้ป่าที่ปลูกแซมลงไป ที่สวนนี้ศึกษาอยู่นานและก็ได้คำตอบที่ถูกต้อง ไม้ที่จะปลูกร่วมกับไม้ผลเดิมจะต้องไม่ไปบังแสงอาทิตย์กับไม้ผลหลัก จำปาทอง คือคำตอบของสวนนี้ ด้วยลักษณะของทรงยอดที่เป็นคล้ายร่ม คือมีต้นสูงชะลูดขึ้นไป ไม่มีกิ่งข้างอื่น ไปมีกิ่งมีใบที่ปลายยอดเท่านั้น จึงทำให้สามารถปลูกจำปาทองร่วมแปลงไม้ผลได้ตลอด รวมถึงในป่ายางพาราอีกด้วย

กอดได้เต็มมือแบบนี้

งานนี้ถือว่าทุกคนที่มาร่วมงานได้ความรู้และแนวทางดำเนินชีวิตร่วมกับป่าปลูกได้อย่างมีความสุขแน่นอน และเมื่อเสร็จจากงานรวมพลครั้งนี้แล้วผมก็นัด พี่เกริก-ดร. เกริก มีมุ่งกิจ มาร่วมให้ความรู้น้องๆ ที่ทำสวนผลไม้เพื่อเป็นตัวอย่างในการเดินหน้าปลูกป่าผสมผสานลงไปให้ได้อย่างสมดุล ผลผลิตเดิมยังได้ ผลผลิตใหม่ในรูปของไม้บำนาญก็เติบโตได้ดี ใช่ครับ ผมนัดกับพี่เกริกที่บ้านของแกเอง วนเกษตรเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว

รวมพลคนปลูกป่ากัน

ที่สวนปภังกร น้องหนึ่ง-นิสากุล และ ช่างทร สองคนนี้เดิมก็เป็นคนทำงานทั่วไป มีตำแหน่งงานในอาชีพ ถึงวันหนึ่งมองว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่อาจตอบโจทย์ในระยะยาวได้อย่างที่ใจคิด แม้จะมีรายได้หลักที่เลี้ยงครอบครัวได้ แต่ความสุข ความมั่นคงในชีวิตควรมีอะไรมากกว่านี้ ทั้งสองจึงตกลงกันกลับหลังหันเดินเข้าหาอาชีพเกษตรอย่างที่ตั้งใจไว้ ที่สวนปลูกไม้ผลสายพันธุ์ดีจากต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งไส้แดงไต้หวันหลายสายพันธุ์, ทับทิมเมล็ดนิ่มอินเดียสายพันธุ์บังวา, ชมพู่ไต้หวันไถหนาน 3, น้อยหน่าไต้หวันอีกหลายสายพันธุ์, มะม่วงหลากหลายสายพันธุ์, พริกไทยเก็บผลสด, ผักหวานป่า เรียกว่าในแต่ละวันหมดไปกับการขยายพันธุ์เพื่อขายกิ่งพันธุ์ รายได้ในแต่ละเดือนก็ไม่น้อย ตอบโจทย์ที่ทั้งสองตั้งเป้าเอาไว้ เมื่อพี่เกริกไปถึง คำถามแรกก็ทำเอา  สตั๊นท์กันไปทั้งวง

“คิดว่าจะมีแรงตอนกิ่งขายอยู่ได้ตลอดเวลาเหรอ แก่ตัวมาจะทำไหวเหรอ”

“ก็ตอนนี้เต็มพื้นที่แล้วครับ 9 ไร่”

“นี่เป็นรายได้ในวัยหนุ่มสาว แก่ตัวเราต้องมีบำนาญสิ เกษตรกรต้องตั้งเงินบำนาญให้ตัวเองได้แล้ว”

“ไม่มีที่จะลงแล้วครับ”

แปลงปลูกสะละส่งห้าง

“แปลงนี้แหละ ลงไม้บำนาญได้อีกไม่น้อยกว่าพันต้น เอาตั้งแต่รั้วก็ได้หลายร้อยต้นแล้ว”

สูตรของพี่เกริกก็คือ แนวขอบที่ทั้งหมดให้ปลูกไม้กันลม เน้นไม้โตเร็ว ลายสวย ใช้งานได้หลากหลายในที่นี้จึงแนะนำให้ปลูกอะคาเซีย (กระถินเทพา), สะเดา, สะเดาเทียม, ขี้เหล็กทำแนวรั้ว ปลูก 2 ชั้นทแยงกัน ตั้งแต่ 6 ปีเป็นต้นไป อะคาเซียต้นที่ใหญ่ๆ ก็สามารถตัดโค่นมาแปรรูปได้ ทยอยแปรรูปไปได้เรื่อยๆ ไม้อื่นที่เหลือก็เติบโตไปต่อ ในส่วนของไม้ปลูกเสริมในแปลง พี่เกริก แนะนำให้ปลูกไม้ป่าที่มีลักษณะเหมือนกางร่ม นั่นคือสูงโปร่ง มีกิ่งใบบนเรือนยอดเท่านั้น เน้น หมาก (สูง), ยมหอม, ยมหิน, มะฮอกกานี ปลูกแซมลงไปได้อีกไร่ละ 100 ต้น 9 ไร่ ก็ 900 ต้นสบายๆ

ฝรั่งกำลังงามในแปลงขยายพันธุ์

“ไม่เกิน 5-7 ปีหมากก็จะเริ่มให้ผลผลิต ขายได้ราคาดี แค่ 3 ปีแรกเราเอาพริกไทยมาเกาะไม่เกินปีก็จะได้ผลผลิตเพิ่มได้อีกแล้ว ไม้ที่พอตัดแปรรูปได้ก็ตัดไป ไม้อื่นก็โตไป ตอนนี้อายุเท่าไหร่     สี่สิบสบายเลย พออายุครบ 60 ไม้ป่าที่ปลูกก็อายุครบ 20 ปีก็เริ่มเก็บบำนาญได้ มะฮอกกานีอายุ 20 ปี มาแปรรูปอย่างน้อยต้นละ 20,000 ได้แน่นอน คิดเล่นๆ หากสวนนี้มีมะฮอกกานีสัก 500 ต้น น่าจะพอดูแลเป็นเงินบำนาญให้เราตอนแก่ตัวได้แล้วนะ”

ชมพู่ในแปลงปลูก

“แล้วไม้ผลที่เรามีอยู่เดิมละพี่”

“ก็ทำได้ต่อไป ไม้แต่ละชนิดเขาก็โตกันไปตามเรื่องราว แต่การปลูกป่าผสมผสานไว้แบบนี้มันคิดคำตอบของเวลา เราแก่ตัวไปก็จริง แต่ไม้ก็เติบโตไปด้วยกับเรา ถึงวันที่ไม่มีแรงแต่มีต้นไม้ก็แค่ยกหูโทรศัพท์ รับรองมีคนมาดำเนินการให้แน่นอน”

จำปาทอง ปลูกผสมในสวน
ไม้ที่แปรรูปไว้
นี่แหละมีโรงเลื่อยของตัวเอง

ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจนะครับ ผมไปเห็นสวนป่าปลูกมาแล้ว ที่นั่นมีโรงเลื่อยของตัวเอง มีที่ตัดจากสวนก็ป้อนเข้าโรงเลื่อยแปรรูปตรงนั้นเลย ที่สำคัญกว่านั้น ในสวนป่าปลูกมีรายได้อีกมากมายทั้งเผาถ่าน ทำน้ำส้มควันไม้ ทำปุ๋ยหมัก ทำดินปลูก ไม่นับรวมในเรื่องอาหารและสมุนไพรในป่า เรียกว่าตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีสำหรับคนที่กล้าคิดกล้าทำครับ


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354