‘เทคโนโลยีชาวบ้าน’ จัดเสวนา หนุนใช้จุลินทรีย์แทนสารเคมี ชี้เหมาะกับปท.ไทย ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดี

เมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 27 มิถุนายน นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดการอบรมเสวนา “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ” ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชนอคาเดมี โดยมีนาย ดร.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดงาน

ดร.วุฒิชัย กล่าวว่า เกษตรกรรมเป็น 1 ใน 9 อุตสาหกรรมหลักในอนาคต ซึ่งประเทศไทยสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้ หากพิจารณาดูแล้วกลุ่มเกษตรและอาหารเป็นกลุ่มที่เรามีต้นทุนมากที่สุด คือ มีสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม และที่สำคัญที่สุดเกษตรกรความสามารถมีภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่โลกปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก สภาพอากาศก็มีความเปลี่ยนแปลงไป ยังมีเรื่องโลกร้อนขึ้น ส่งผลต่อวงจรชีวิตของพืชและสัตว์ เกษตรกรรมในประเทศไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนไป การใช้จุลินทรีย์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเกษตรกร พืชผล และยังไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการอบรมเสวนาเรื่องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นิตยสารรายปักษ์ในเครือมติชนที่นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับอาชีพหลักของไทย เเละอาชีพเสริมของเกษตรกร โดยครั้งนี้นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ร่วมกับพันธมิตรโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ ให้ชุมชนได้ประยุกต์ใช้ รวมทั้งสานต่อปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงให้ใช้ชีวิตอย่างยั้งยืน นอกจากจะเน้นทางด้านทฤษฏีเเล้ว ยังนำผู้เสวนาลงพื้นที่จริง เพื่อได้เห็นการปฏิบัติและการใช้งานจริงด้วย

พลเอกพิเชษฐ์ วิสัยจร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กล่าวบรรยายและสาธิตอีเอ็มว่า อีเอ็มเป็น จุลินทรีย์ที่เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้พืชเจริญงอกงามโดยไม่ใช้สารเคมีและเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งจุลินทรีย์ ยังมีอีกหลายชนิด ใช้จุลินทรีย์อะไรก็ได้ขอให้เป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่ดี ซึ่งอีเอ็มเป็นจุลินทรีย์ที่ กฟผ. และตนใช้มานานแล้ว เพราะมองว่าตรงนี้เป็นกระบวนการที่ดีที่สุดที่เจอมา นอกจากจะใช้ในการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ อีเอ็มยังช่วยให้สิ่งเเวดล้อมดีขึ้น

“ตอนนี้การใช้อีเอ็มในประเทศไทยยังเหมือนป่าล้อมเมืองคือ มีการใช้เริ่มเยอะแต่สู้นายทุนใหญ่ไม่ได้ แต่อยากจะบอกว่าตอนนี้มี 165 ประเทศทั่วโลกที่ใช้จุลินทรีย์ อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ขณะนี้เขาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาก วันนี้เราต้องช่วยกันถ้าเราไม่ใช้ต่อไปสินค้าเกษตรของไทยอาจจะถูกต่อต้าน”

พลเอกพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีการลงไปเผยเเพร่ความรู้ให้กับเกษตรกรหลายจังหวัด ให้หันมาใช้จุลินทรีย์ทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากต้นทุนต่ำ ผลผลิตสูง ทำให้ดินไม่เสียหาย สิ่งมีชีวิตอย่างปลา กบ เขียดกลับคืนมา รวมถึงเรื่องสุขภาพที่ดี เพราะโรคส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่มาจากอาหารที่เรากิน อย่างการปลูกข้าวหอมมะลิ เขาใช้ยาคลุมหญ้าป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้น แล้วถ้ามันเข้าไปในท้องเรา เราก็แย่ แล้วยังทำให้ข้าวไม่อร่อย กลิ่นหอมหายหมด ถ้าจะให้กลับมามีกลิ่นหอมสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ต้องเลิกใช้สารเคมี เลิกเผาฟาง เรื่องนี้ได้ลงไปให้ความรู้กับชาวบ้าน

นายวิรัตน์ กาญจนพรหม อาจารย์มหาวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยี จ.ตรัง กล่าวว่า จุลินทรีย์เหมาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยเพราะต้องการความร้อนประมาณ 35-40 องศาในการเจริญเติบโตและขยายตัวที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่ต้องใช้ปุ๋ยได้เลย แค่เอามูลสัตว์มาตั้งไว้เฉยๆ ในอุณภูมิปกติไม่ต้องตากแดดตากฝน จุลินทรีย์จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เอง เหมือนต้นไม้ในป่าไม่ต้องมีคนไปใส่ปุ๋ย ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงาม ถ้าเรากลับมาใช้จะช่วยหลายเรื่อง ที่ชัดที่สุดคือเรื่องอาหารการกินที่ปลอดภัย ไม่มีโรคภัยจากสารเคมีตกค้าง ถ้าชาวบ้านหันมาใช้วิธีธรรมชาติ มาทำเกษตรปลูกเท่าที่กิน ปลูกผักที่กินในบ้านในครอบครัว อาหารการกินจะสะดวก สุขภาพก็จะดี ซึ่งอาชีพที่สบายใจที่สุดคืออาชีพเกษตรประเทศไทย

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังไม่เเยกการทำมาหากิน คือจะไม่พูดเรื่องครอบครัว แต่พูดเรื่องชุมชนเเละเน้นเรื่องขาย แต่จริงๆ แล้วตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า ทำเพื่อกินก่อน แล้วแบ่งปัน เหลือจึงขาย สิ่งไหนที่ปลูกได้ ทำได้ก็ทำ แต่บางอย่างทำไม่ได้ก็ซื้อบ้าง อย่างน้ำตาล หรือเกลือ มันจะช่วยลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล

“การที่เราซื้อกินทุกวันทำให้เราต้องหาสิ่งที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว แล้วการออมเราก็มองแต่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ การปลูกพริก ปลูกมะเขือ เหล่านี้คือการออมหมดเลย แต่ไม่มีใครพูดถึง ถามว่ากลับมาอยู่ต่างจังหวัดอยากได้เงินปีละเเสนบาทก็ไม่ยาก อาจจะลงทุนสัก 5 หมื่นบาท ซื้อวัวสัก 3-4 ตัว ลงแรงตัดหญ้า ปลูกพืชกินปลายปีขายได้ 150,000 บาทไม่ยาก แล้วปลูกผักกินเองวันนี้อาจจะไม่มีรายได้สักบาท แต่คุณกินอิ่มแล้ว ไม่ต้องใช้เงินสักบาท แล้วอยากให้ถามด้วยว่าปีนี้เหลือเงินเท่าไหร่ นี่แหละคือเศรษฐกิจพอเพียง” นายวิรัตน์ กล่าว