แนะชาวสวนมะพร้าวต้องพึ่งพาตนเอง เพื่อความยั่งยืนในการแก้ปัญหาหนอนหัวดำ

นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย คิดเป็น 80% ของพื้นที่ระบาดทั้งหมด ซึ่งการดำเนินการภายใต้โครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นสำรวจทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของหนอนหัวดำด้วยการตัดทางใบและเผาทำลาย หรือการปล่อยแตนเบียนบราคอน โดยอาศัยการรวมพลังศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่มีศักยภาพกว่า 50 แห่ง ผลิตและขยายแตนเบียนบราคอนพร้อมปล่อยอย่างต่อเนื่องตามแผนที่กำหนด

ส่วนการใช้สารเคมีฉีดเข้าต้นและพ่นทางใบนั้น มีพื้นที่เป้าหมายที่ต้องดำเนินการ แบ่งเป็น การใช้สารเคมีฉีดเข้าต้น จำนวน 2,341,368 ต้น และพ่นทางใบ จำนวน 934,899 ต้น ซึ่งขณะนี้ได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรให้กับผู้รับจ้างฉีดสารเคมีและพ่นทางใบ เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เมื่อสารเคมีได้ส่งมาถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็พร้อมดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายได้ทันที โดยคาดว่าจะสามารถทำการฉีดสารเคมีเข้าต้นและพ่นทางใบเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

“ช่วงที่รอขั้นตอนการจัดซื้อสารเคมีในโครงการอยู่นั้น เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ก่อน โดยเฉพาะตัดทางใบเผาทำลาย และปล่อยแตนเบียนเพื่อควบคุมประชากรหนอนหัวดำไม่ให้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่การซื้อสารเคมีมาใช้เองก็สามารถทำได้ เพื่อลดความเสียหายรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่การใช้สารเคมีต้องใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด ได้แก่ มะพร้าวต้นสูงกว่า 12 เมตรขึ้นไปให้ใช้สาร emamectin benzoate เบนโซเอต 1.92% EC (อิมาเม็กติน) เท่านั้น ส่วนมะพร้าวต่ำกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาลทุกระดับความสูง แนะนำให้ใช้สาร cholrantraniliprol 5.17% SC (คลอแรนทรานิลิโพรล) หรือสาร flubendiamide 20% WG (ฟลูเบนไดอะไมด์)” นายมงคล กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์