สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จี้รัฐบาลเร่งปราบผู้ร้าย “หมูเถื่อน” เบียดผู้เลี้ยงรายย่อยจนตรอก

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เร่งรัฐบาลปราบผู้ร้ายลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนให้ราบคาบ “ตัวอันตราย” ดั๊มพ์ราคาต่ำกว่าต้นทุนผลิตที่แท้จริง บิดเบือนกลไกราคาในประเทศ ปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยฟื้นฟูการเลี้ยงต้องออกจากอาชีพ เตือนหากนิ่งนอนใจอาจเจอปัญหาหมูล้นตลาด ราคาตกต่ำช่วงปลายปีนี้ เกิดผลเสียทั้งห่วงโซ่การผลิตและความมั่นคงทางอาหาร

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้จะมีการเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการ แต่การปราบปรามและจับกุมยังไม่ดำเนินการอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการลักลอบนำเข้าไม่เกรงกลัว ทั้งยังมีการลักลอบนำเข้ามาในหลายรูปแบบและมีการทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์และขายหน้าร้าน โดยมีราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 135-145 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาในประเทศมาก

“หากภาครัฐปล่อยให้หมูลักลอบนำเข้าเพิ่มมากขึ้นทุกภาค และวางจำหน่ายกันอย่างเปิดเผย   ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย ภายในระยะเวลา 18 เดือน ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กไม่รอดแน่ เพราะทุกคนมีภาระต้องกู้เงินมาฟื้นฟูกิจการ ถ้าต้องขายหมูขาดทุนจะไปต่อได้อย่างไร รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมั่นใจ” นายสุรชัย กล่าว

หลังกรมปศุสัตว์ประกาศพบโรคระบาด ASF เป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 พร้อมแจงตัวเลขผลผลิตแม่หมูหายไปจากระบบ 50% ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับสูงขึ้นตามลำดับ โดยราคาหมูเนื้อแดงขยับขึ้นไปสูงสุดที่กิโลกรัมละ 200 บาท จากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มที่กิโลกรัมละ 100 บาท ทำให้กลุ่มมิจจาชีพเห็นช่องทางฉวยโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างหมูนำเข้ามีต้นทุนต่ำกว่า และเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่บริโภคจึงส่งออกมายังไทยในราคาถูก แต่หมู ชิ้นส่วน และเครื่องในที่นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายต้องผ่านการตรวจโรคและได้รับใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ จากกรมปศุสัตว์ ทำให้ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหลีกขั้นตอนดังกล่าว โดยการสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลและสินค้าอื่นๆ แอบแฝงมาในตู้สินค้า

นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า แม้กรมปศุสัตว์จะออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับกุมได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงอยากให้การปราบปรามมีความชัดเจนและต่อเนื่อง หากเป็นไปได้ควรออกตรวจสอบห้องเย็นทุกวัน ซึ่งสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อปกป้องเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่เสียหายจากปัญหา ASF ได้เริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ดังนั้น ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ต้องหยุดการลักลอบนำเข้านี้ให้หมด ซึ่งเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรพยายามหาเบาะแสมาตลอด

ต้นทุนการผลิตสุกรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี Supply น้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงอยู่ที่ 98-101 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354