ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“กล้วยน้ำว้า” ผลไม้สารพัดประโยชน์ ด้วยสรรพคุณที่หลากหลาย รับประทานผลห่าม ให้พลังงานสูง มีวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูกฟัน รับประทานผลสุก จะช่วยระบายท้องได้ดี สามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย ซึ่งหากจะยกให้กล้วยน้ำว้าเป็นพืชกู้วิกฤตคงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง เพราะด้วยประโยชน์และสรรพคุณที่มากมายดังที่กล่าวมา ส่งผลให้มีเกษตรกรหลายรายปิ๊งไอเดียการเพิ่มมูลค่าจากกล้วยน้ำว้ากันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นขนม ของหวานต่างๆ เช่น กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี มีลักษณะสีเหลืองทั้งเปลือก และเนื้อมีรสหวาน เหนียวนุ่ม นำมารับประทานเป็นผลไม้ และทำขนมหวาน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กล้วยตาก กล้วยทอด กล้วยอบแห้ง หรือข้าวต้มมัด ล้วนแล้วแต่เป็นขนมที่มีคุณค่า กลายเป็นพืชสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการได้ไม่น้อย

คุณโกสินธุ์ สุวรรณภักดี หรือ คุณมอส ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวบ้านหนองโน อาศัยอยู่ที่ 163 หมู่ที่ 3 ตำบลวังยาว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรนักแปรรูป ผู้ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวบ้านหนองโน สู่การพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกด้วยการส่งเสริมให้ปลูกกล้วยน้ำว้าเพื่อนำมาแปรรูปทำกล้วยตาก จนขายดิบขายดี ผลิตไม่ทันขาย ฟันรายได้ถึงหลักแสนบาทต่อเดือน


คุณมอส เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอมาก่อน คือการทอถุงเท้า ซึ่งตลอดระยะเวลาในช่วง 3-4 ปีแรกธุรกิจเป็นไปได้ดีมาตลอด แต่พอมาถึงวันที่สินค้าจีนสามารถเข้ามาได้อย่างเสรี ก็กลับกลายเป็นว่าราคาสินค้าปลีกที่มาจากจีน เท่ากับราคาขายส่งของเรา ถือเป็นสัญญาณที่เตือนเบื้องต้นแล้วว่าธุรกิจที่ครอบครัวเราสร้างมาคงจะอยู่ไปต่อได้ยาก จึงได้เริ่มมีการหาช่องทางเสริมด้วยการปรับเปลี่ยนผืนดินของที่บ้านที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาทำเกษตรควบคู่กับงานอุตสาหกรรม โดยการเข้าไปฝึกอบรมการทำเกษตรที่เกษตรอำเภอโกสุมพิสัย สู่การสมัครเข้าร่วมโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ทำให้ตนเองมีโอกาสไปฝึกอบรมและออกบู๊ธขายของตามตลาดอยู่เป็นประจำ และก็ใช้โอกาสตรงนี้มองหาช่องทางในการนำผลผลิตการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหาร สอดคล้องกับที่ตนเองเป็นประธานกลุ่ม ซึ่งปกติแล้วเกษตรกรในพื้นที่จะเน้นปลูกข้าวไว้กินเอง และสังเกตเห็นพืชที่ปลูกตามหัวไร่ปลายนาเพื่อที่จะเป็นแนวกันชนให้กับพื้นที่ปลูกข้าว โดยจะปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดเป็นไอเดียของการแปรรูปกล้วยน้ำว้าให้เป็นกล้วยตาก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ประจำกลุ่มวิสาหกิจและสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกกลุ่มโดยการรับซื้อกล้วยและจ้างแรงงานสมาชิก จากนั้นก็พัฒนาสินค้ากล้วยตากมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี


โดยในช่วงแรกกล้วยตากที่ทำออกมาสีค่อนข้างที่จะดำและไม่สวย แต่รสชาติหวานอร่อย จึงใช้วิธีชุบแป้งทอดขายในตอนนั้นจนปัจจุบันได้สูตรในการทำกล้วยตากด้วยการลองผิดลองถูกจากคำแนะนำของลูกค้ากว่า 3-4 ปี จนได้สีและรสชาติที่ถูกใจผู้บริโภค และได้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์กล้วยตาก ในหลากหลายรูปแบบ เช่น กล้วยตากลูกเต๋า กล้วยตากซีลสุญญากาศ จนมาถึงการต่อยอดจากกล้วยตากธรรมดา เป็นกล้วยตากเสียบตอกที่แค่เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ นำตอกมาเสียบกับกล้วยตากให้มีด้ามจับคล้ายๆ กับไอศกรีม กลับกลายเป็นว่าสินค้าตัวนี้ช่วยกระตุ้นยอดขายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สายพันธุ์กล้วยที่นำมาแปรรูปสำคัญ
มีผลต่อรสชาติและสีของกล้วยตาก
เจ้าของอธิบายว่า สำหรับสายพันธุ์ของกล้วยที่จะนำมาแปรรูปทำกล้วยตากนั้นมีความสำคัญมากๆ โดยกล้วยตากภายใต้แบรนด์ Bananamos (บานาน่ามอส) จะเลือกใช้เป็นกล้วยที่มีไส้สีขาว หรือกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์มะลิอ่อง และกล้วยสายพันธุ์พื้นบ้านเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วกล้วยน้ำว้าทั่วไปจะมีสีของไส้หรือใจกลางกล้วยที่แตกต่างกัน ตรงนี้สามารถบ่งบอกได้ว่ากล้วยแต่ละสีเหมาะสำหรับการนำมาแปรรูปทำอะไร ในรูปแบบไหน เช่น 1. กล้วยที่ไส้มีสีขาวจะเหมาะสำหรับการนำไปตากแห้งเพื่อที่จะนำมาทำเป็นกล้วยตาก เนื่องจากกล้วยที่มีไส้สีขาวจะมีความหวานไม่มาก เมื่อนำไปตากสีจะสวย และได้ความหวานกำลังพอดี 2. สำหรับกล้วยที่มีไส้สีเหลืองจะมีความหวานค่อนข้างมากเหมาะกับการรับประทานผลสุก และยังสามารถนำมาทำกล้วยตากได้ แต่อาจจะต้องใช้ความชำนาญในการสังเกตในขั้นตอนการตากค่อนข้างสูง เพราะกล้วยน้ำว้าที่มีไส้สีเหลืองจะมีความหวานค่อนข้างมากถ้าตากในแดดจัดๆ จะทำให้สีเข้มและดำ 3. กล้วยที่มีไส้สีแดงจะไม่แนะนำให้นำมาทำกล้วยตาก เนื่องจากกล้วยน้ำว้าที่มีไส้สีแดงจะมีใจกลางที่แข็งมากจะเหมาะกับการนำไปทำข้าวต้มมัดมากกว่า


กระบวนการแปรรูปกล้วยตาก “Bananamos”
กล้วยตากเสียบตอกถือเป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญา ในเรื่องการถนอมอาหารจากการตากแห้ง และวิถีชุมชนเข้าด้วยกัน รวมถึงการใช้วัสดุจากธรรมชาติในท้องถิ่น นำมาใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- เริ่มจากการคัดเลือกกล้วยน้ำว้าลูกเต็มไม่สุกงอมมากเกินไป แล้วใช้กระบวนการตากกล้วยในโรงงานอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปราศจากฝุ่นและแมลง
- แกะกล้วยออกจากเปลือก ตัดเส้นใยที่ติดออกให้เรียบร้อย แล้วล้างในน้ำเกลือ จากนั้นนำมาตากในโรงเรือนอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้ผิวนอกตึง (ใช้ระยะเวลาในการตากประมาณ 2 วัน)
- จากนั้นนำมาผ่านเครื่องนวดคลึงทุกลูก โดยขั้นตอนการนวดคลึงจะทำให้ไส้ข้างในของกล้วยตากนุ่ม และยังเปรียบเสมือนเครื่องคัดกรองเมล็ดกล้วยได้อีกด้วย เพราะถ้าหากกล้วยลูกไหนมีเมล็ดจะหยิบออกในขั้นตอนนี้ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อบริโภค เนื่องจากเมล็ดกล้วยค่อนข้างแข็ง หากลูกค้ารับประทานเข้าไปอาจทำให้ฟันแตกเสียหายได้ข้อนี้สำคัญมาก
- หลังจากทำการนวดคลึงเสร็จแล้ว นำไปตากในโรงอบแห้งอีกรอบ (ใช้ระยะเวลาในการตากประมาณ 2 วัน) แล้วนำไปอบในเตาอบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 175 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที ก่อนที่จะนำไปบรรจุในถุงระบบสุญญากาศ
- ตอก จะใช้ไม้ไผ่แก่นำมาเหลาให้แบนพอดี แล้วนำเข้าเตาอบด้วยอุณหภูมิ 175 องศาเซลเซียส ใช้เวลานาน 5 นาที เพื่อความสะอาดปลอดภัย จึงจะนำมาเสียบกล้วยตาก ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับประทาน ซึ่งนอกจากการส่งเสริมอาชีพ การปลูกและแปรรูปกล้วยแล้ว ยังส่งเสริมอาชีพเหลาตอกที่เป็นอาชีพดั้งเดิมในท้องถิ่นที่กำลังจะเลือนหายไปได้อีกด้วย

ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต ทำให้ได้รสชาติที่แตกต่าง
“กล้วยตากของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวบ้านหนองโน ภายใต้แบรนด์ Bananamos (บานาน่ามอส) เป็นกล้วยตากที่ไม่แข็ง มีความแตกต่างจากกล้วยตากของเจ้าอื่น ด้วยผ่านกระบวนการนวดคลึงทุกลูก จากปกติแล้วกล้วยน้ำว้าเวลาตากแห้งจะมีใจกลางค่อนข้างแข็ง เราจึงคิดค้นกรรมวิธีเพื่อที่จะทำให้กล้วยตากมีความอ่อนนุ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุและเด็กๆ รับประทานได้ง่ายขึ้น โดยเป็นกล้วยที่คัดพิเศษเลือกเฉพาะหวีที่ลูกใหญ่ สมบูรณ์ที่สุดในเครือมาผลิต และข้อสำคัญคือกล้วยตากเสียบตอกมีความเป็นธรรมชาติสูงเพราะไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือน้ำผึ้งได้ความหวานจากกล้วย 100% เพราะกล้วยที่ผ่านการนวดจะมีความหวานคลายตัวออกมาคล้ายๆ กับไซรัปโดยธรรมชาติ”


ซึ่งหลังจากการสำรวจตลาดและการออกบู๊ธอยู่เป็นประจำจึงได้เก็บเอาปัญหาของผู้บริโภคมาพัฒนาตัวกล้วยตากโดยนำเอาตอกที่คนในชุมชนใช้มัดข้าวต้มมาเสียบกล้วยตากเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้นแต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับมา เมื่อนำไปอบด้วยความร้อนจะได้กลิ่นหอมของไม้ไผ่ประสานกับความหวานที่เป็นธรรมชาติของกล้วยทำให้รู้สึกได้รับถึงความอบอุ่นจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

ที่มาของการต่อยอดเสียบไม้และการสร้างมูลค่าเพิ่ม
คุณมอส บอกว่า จุดเริ่มต้นมาจากที่ตนเองได้มีโอกาสไปออกบู๊ธจำหน่ายสินค้าค่อนข้างบ่อย จึงได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลนำข้อดีและคำติชมของลูกค้ากลับมาปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยตาก โดยมีเหตุการณ์ที่จำได้ขึ้นใจและเป็นจุดเริ่มต้นของกล้วยตากเสียบตอกในครั้งนี้

“ครั้งหนึ่งผมเคยได้ไปออกงานที่สวนลุมฯ เจอลูกค้าที่มากัน 2 คน คนหนึ่งบอกว่าอยากกินกล้วยตากแต่แฟนเขาบอกว่าไม่เอากลัวเปื้อนมือ หลังจากนั้นก็มาอีกคู่หนึ่ง คนหนึ่งบอกอยากกินกล้วยตากเช่นเคยแต่แฟนเขาบอกว่าไม่เอาถ้ากินไม่หมดเดี๋ยวก็ได้ทิ้ง หลังจากเจอปัญหาภายในวันนั้น ผมเลยรู้สึกว่าเราพลาดโอกาสจากการที่จะได้ขายสินค้าให้กับคน 2 กลุ่มนี้ จึงคิดทดลองหาไม้ไอติมมาเสียบกล้วยตากและทดลองขายผลปรากฏว่าขายได้ไหมละ 5 บาท โดยที่ได้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นคือกลุ่มที่ผมไม่คิดว่าจะเป็นลูกค้ากล้วยตากคือกลุ่มเด็กที่เห็นกล้วยตากเสียบไม้แล้วอยากกินดึงพ่อแม่ให้มาซื้อให้ จึงเล็งเห็นโอกาสนี้เพื่อนำกลับมาพัฒนาให้กับกล้วยตาก”

หลังจากนั้นเมื่อกลับมาที่บ้านในช่วงนั้นสมาชิกกลุ่มกำลังเหลาตอกเพื่อที่จะนำไปมัดข้าวต้มและนำไปมัดข้าวหลังจากเก็บเกี่ยว ตนเองจึงคิดทดลองให้สมาชิกกลุ่มเหลาไม้ไผ่รูปร่างคล้ายตอกแต่ว่ามีความหนาและไม่มีคมไม่มีเสี้ยน เพื่อนำมาเสียบกล้วยตากและอบด้วยความร้อนผลปรากฏว่าได้กลิ่นหอมจากไม้ไผ่ประกอบกับความหวานของกล้วยตากจึงทำให้ได้เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นี้ จากนั้นผลิตภัณฑ์นี้ก็ได้ชื่อว่ากล้วยตากเสียบตอกตั้งแต่นั้นมา

“แพ็กเกจจิ้งทันสมัย” ช่วยกระจายสินค้าได้หลายช่องทาง
สำหรับช่องทางการตลาด คุณมอส เล่าให้ฟังว่า แพ็กเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ถือเป็นจุดที่มีผลต่อการตลาดมากๆ โดยช่องทางการกระจายสินค้า ภายใต้แบรนด์ Bananamos ในปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ช็อปปี้ ติ๊กต็อก และไลน์ ที่มีผลสืบเนื่องมาจากรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ขนส่งง่าย และสะดวกต่อผู้บริโภค ทำให้สินค้าได้รับความนิยมในหมู่นักช้อปออนไลน์เป็นอย่างมาก รวมถึงช่องทางออฟไลน์จากตัวแทนขายในส่วนของราชการ และร้านคาเฟ่ตามสถานที่ท่องเที่ยว และการออกบู๊ธกับหน่วยงานต่างๆ ด้วยเทคนิคการหาช่องทางการตลาด คือการพยายามเข้าไปร่วมออกบู๊ธกับหน่วยงานราชการให้ได้เยอะที่สุดเพื่อที่จะได้ไปพบปะลูกค้าและเก็บข้อมูลและความต้องการของผู้บริโภคที่มีผลต่อกล้วยตากมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และใช้ช่องทางออนไลน์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก โดยปริมาณการผลิตสินค้าต่อเดือนคือ กล้วยตากผลิตได้ 700 กิโลกรัมต่อเดือน หรือใช้กล้วยน้ำว้าประมาณ 900 หวี น้ำหนักเฉลี่ย 1,350 กิโลกรัม แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 รูปแบบ 1. แบบซีลสุญญากาศปริมาณ 1 กิโลกรัม ใช้กล้วยแบบคละไซซ์ จำหน่ายในราคา 150 บาท สามารถจำหน่ายได้ 400 แพ็กต่อเดือน และจำหน่ายแบบครึ่งกิโลกรัม ราคา 80 บาท 2. กล้วยตากเสียบตอกจะซีลสุญญากาศทุกลูก และเลือกเฉพาะลูกที่มีขนาดใหญ่ได้มาตรฐาน ขายในราคาไม้ละ 15 บาท และในรูปแบบกล่อง ราคากล่องละ 250 บาท 1 กล่องมี 20 ชิ้น สามารถจำหน่ายได้เดือนละประมาณ 380 กล่อง โดยมีการวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตก่อนสิ้นปีนี้ให้ได้อีกเกือบเท่าตัวเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

ฝากถึงเกษตรกรทำเกษตรอย่างไรให้อยู่รอด
“อยากให้เกษตรกรโฟกัสกับสิ่งที่ทำและสิ่งที่มีและพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกิจกรรมที่ตัวเกษตรกรทำ และที่สำคัญพยายามหาความรู้หาช่องทางการตลาดและหาโอกาสให้กับตัวเองเสมอ อย่ายึดติดกับราคากลางในการขาย อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่อิสระไม่มีใครผูกมัดหรือบังคับไม่ให้ทำหรือทดลอง และต้องรู้จักวางแผนจัดการกับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวต้องแบ่งสัดส่วนในการขายเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น ส่วนหนึ่งเก็บไว้ขายในช่วงที่แพง อีกส่วนหนึ่งแปรรูปขายหรือนำไปจำหน่ายในราคาปลีก หาช่องทางความรู้ขายผ่านทางออนไลน์ และที่สำคัญใส่ใจแก่การผลิต คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคให้มากๆ ครับ” คุณมอส กล่าวทิ้งท้าย


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 080-420-0429 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : Bananamos ขนม กล้วย กล้วยตาก
……………………………………….
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354