ที่มา | เทคโนฯ ประมง |
---|---|
ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
เผยแพร่ |
กาฬสินธุ์ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำประมง สัตว์น้ำที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรที่โดดเด่นคือ กุ้งก้ามกราม และการเลี้ยงปลากระชัง ด้วยความนิยมบริโภคสัตว์น้ำนี้เอง จึงทำให้การทำประกอบอาชีพทางประมงสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ ปลาหมอ ก็เป็นอีกหนึ่งสัตว์น้ำที่สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการย่างที่ให้รสสัมผัสที่หอมชวนทาน หรือจะแกงก็ตอบโจทย์ไม่น้อย จึงทำให้มีการเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน
ปลาหมอ ลักษณะทั่วไปคือ มีลำตัวป้อมและค่อนข้างแบน โดยลำตัวมีสีน้ำตาลเหลืองปนดำ ขนาดความยาวของปลาหมอส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-16 เซนติเมตร ซึ่งปลาหมอจัดว่าเป็นปลากินเนื้อ พบได้ตามแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้หลายปีที่ผ่านมาจำนวนปลาหมอในแหล่งธรรมชาติหาไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน จึงได้มีการเพาะพันธุ์และเลี้ยงเป็นปลาเนื้อเชิงการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค ทำให้เกิดการเลี้ยงเชิงการค้ามากขึ้นตามมา
คุณพิสิษฐ์ บุญท้าว อยู่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 13 ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพสร้างรายได้ สานต่ออาชีพการทำประมงจากครอบครัว โดยที่เขาไม่ต้องไปทำงานยังจังหวัดอื่นที่ไกลบ้าน แต่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นนายตัวเอง และที่สำคัญได้อยู่กับบ้านดูแลบุพการีที่เขารักไปพร้อมๆ กัน
พิษโควิด-19
ทำให้สนใจเลี้ยงปลา
คุณพิสิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีค้าขายอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ยังไม่ได้สนใจที่จะมาประกอบอาชีพอยู่ที่จังหวัดบ้านเกิด เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดในหลายพื้นที่ต้องปิดการค้าขายชั่วคราว เมื่อมองเห็นถึงอนาคตว่าค่อนข้างยากที่จะค้าขายให้มีผลกำไร เขาจึงได้มองช่องทางการประกอบอาชีพใหม่ และนึกขึ้นมาได้ว่าครอบครัวทำอาชีพทางด้านประมงอยู่แล้ว ทำให้เกิดความสนใจที่อยากจะเลี้ยงปลาหมอ จึงได้ศึกษาการเลี้ยงในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะจากสื่อออนไลน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์
“โควิดระบาดรอบแรก การค้าขายเรายังไปได้อยู่ ยังพอประคองตัวเองได้ แต่พอระบาดรอบที่ 2 คราวนี้ไม่ไหว จึงเกิดความคิดว่าต้องกลับบ้านเกิดไปตั้งหลักใหม่ แต่พอดีเห็นในพื้นที่บ้านเกิด เขาเลี้ยงปลาหมอประสบผลสำเร็จ มีรายได้ดีพอสมควร จึงทำให้เกิดความสนใจที่อยากจะไปทำ โดยสานต่อจากครอบครัว และได้ดูแลพ่อกับแม่ด้วย จึงได้ย้ายกลับมาอยู่บ้าน และยึดการเลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน” คุณพิสิษฐ์ เล่าถึงที่มาของการมาเริ่มต้นทำอาชีพประมง
สาเหตุที่เลือกเลี้ยงปลาหมอนั้น คุณพิสิษฐ์บอกจากประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า ปลาหมอเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี มีความต้านทานโรค และที่เห็นได้ชัดเจนคือ ราคาจำหน่ายยังไปได้ดี เพราะตลาดในพื้นที่อีสานลูกค้ายังนิยมบริโภค
ปลาหมอ สัตว์น้ำเลี้ยงง่าย ทนโรค
ขั้นตอนของการเลี้ยงปลาหมอให้ได้คุณภาพ และได้ขนาดไซซ์ที่ตลาดต้องการนั้น คุณพิสิษฐ์ บอกว่า ต้องเข้าใจอุปนิสัยของปลาเสียก่อน ทั้งในเรื่องของการเตรียมบ่อและการสังเกตุการกินอาหาร เพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเลี้ยงได้อย่างทันท่วงที และปลาที่เลี้ยงไม่เกิดความเสียหายจนทำให้ขาดทุน
การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยง หากเป็นบ่อที่ขุดใหม่สามารถเลี้ยงได้ทันที แต่ถ้าเป็นบ่อที่ผ่านการเลี้ยงอยู่เป็นประจำหลังจากที่จับปลาจำหน่ายจนหมดบ่อแล้ว จะวิดน้ำออกจากบ่อให้หมดจนแห้งเป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นนำปูนขาวมาโรยให้ทั่วพื้นบ่อ เพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เมื่อเตรียมบ่อพร้อมแล้วจึงเติมน้ำเข้าไปภายในบ่อ ให้ระดับน้ำมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร
บ่อเลี้ยงปลาหมอ ขนาด 15×40 เมตร ความลึก 2 เมตร จะปล่อยลูกปลาหมอไซซ์ใบมะขามมาเลี้ยงอนุบาล อัตราส่วน 15,000 ตัว ต่อบ่อ หลังครบกำหนดเลี้ยงจะได้ปลาไซซ์ 2-4 ตัว ต่อกิโลกรัม แต่หากต้องการเลี้ยงให้ปลาได้ไซซ์ ขนาด 4-7 ตัว ต่อกิโลกรัม จะปล่อยเลี้ยงอยู่ที่อัตราส่วน 20,000 ตัว ต่อบ่อ
“ช่วงแรกที่ปล่อยลูกปลาลงไปอนุบาล อาหารหลักๆ ที่ให้กินจะเป็นอาหารลูกอ๊อด ที่มีโปรตีนอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ ให้กินอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นอาหารปลาดุกเบอร์ 1 ที่มีโปรตีนอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ให้กินเช้าเย็นไปเรื่อยๆ ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน จากนั้นก็จะเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเป็นอาหารปลาดุกเบอร์ 2 ที่มีโปรตีนอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กินไปอีก 2-3 เดือน ปลาหมอในบ่อทั้งหมดก็จะโต และได้ขนาดไซซ์ที่จับจำหน่ายได้” คุณพิสิษฐ์ บอก
โดยในระหว่างเลี้ยงไปเรื่อยๆ นี้ จะมีการเติมน้ำเข้าไปภายในบ่ออยู่เป็นระยะ จนน้ำมีความสูงมากกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้ปริมาณน้ำเหมาะสมกับขนาดของตัวปลาที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งในทุกๆ 1 เดือน จะสาดเกลือเม็ดลงไปในบ่อประมาณ 1 กระสอบ กระสอบละ 25 กิโลกรัม ซึ่งการเลี้ยงปลาหมอหากมีการปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ปลาในบ่อไม่เกิดโรคและปลาที่เลี้ยงมีคุณภาพตามไปด้วย
ปลาหมอ 1 รอบการเลี้ยง
น้ำหนักเฉลี่ย 3 ตัน ต่อบ่อ
ปลาหมอที่เลี้ยงต่อรอบใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน คุณพิสิษฐ์ บอกว่า จะให้น้ำหนักเฉลี่ยต่อบ่ออยู่ที่ 3 ตัน ซึ่งการเติบโตของปลาจะดีไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้กิน ถ้าเปอร์เซ็นต์โปรตีนครบถ้วนตามที่ระบุ ก็จะช่วยให้ปลาหมอมีอัตราแลกเนื้อกลับมาได้ดี และลูกพันธุ์ปลาต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผ่านการแปลงเพศเป็นตัวเมียทั้งหมด
โดยราคาปลาหมอที่มีขนาดไซซ์ 2-4 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท และขนาดไซซ์อยู่ที่ 5-7 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามารับซื้อที่หน้าบ่อมีทั้งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดอื่นๆ
“ขนาดไซซ์ปลาที่เลี้ยงในบ่อ ผมก็จะพยายามกำหนดให้ได้ 3-5 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายก็จะไม่ต่ำกว่า 75 บาท ซึ่งการเลี้ยงเรามีหลายบ่อ มีการวางแผนการเลี้ยงให้จับขายได้ทุก 2 เดือนครั้ง ก็จะช่วยให้มีเงินจากการจำหน่ายมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในฟาร์ม และบางส่วนก็เป็นเงินเก็บต่อไป เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่สนใจ อยากเลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพ แนะนำว่าให้ไปศึกษาจากแหล่งเลี้ยงที่เขาประสบผลสำเร็จก่อน เมื่อมีองค์ความรู้ ต่อมาก็หาแหล่งลูกพันธุ์ปลาหมอที่เชื่อถือได้ว่าเลี้ยง ดูว่าเขาให้ฮอร์โมนครบไหม การแปลงเพศได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ไหม พอมาเลี้ยงกับอาหารที่ดี มีคุณภาพ การเติบโตของปลาก็จะดีตามไปด้วย และผลกำไรหรือผลตอบแทนจากการเลี้ยงไม่ใช่เรื่องยาก” คุณพิสิษฐ์ บอกว่า
สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลาหมอ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณพิสิษฐ์ บุญท้าว หมายเลขโทรศัพท์ 082-016-8689
เผยแพร่ทางออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2565