อดีตนักวิชาการ สู่การเลี้ยง “สะดิ้ง-จิ้งหรีด” ขายปลีก-ส่งโรงงาน เดือนละ 5 ตัน ได้ราคาดี กิโลกรัมละ 150 บาท

สำหรับในประเทศไทย พบจิ้งหรีดได้ทั่วทุกภูมิภาค ชนิดของจิ้งหรีดที่พบ ได้แก่ จิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง (จิ้งโกร่ง หรือ จิ้งกุ่ง) แต่ในฉบับนี้จะขอกล่าวถึงการเลี้ยงจิ้งหรีดทองแดงลาย หรือในภาษาอีสานเรียกว่า แมงสะดิ้ง นับเป็นจิ้งหรีดอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจมากที่สุด เพราะเป็นจิ้งหรีดที่มีขนาดเล็ก ให้ไข่เยอะ ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างร่างกายที่ไม่แข็งเกินไป ง่ายต่อการนำไปแปรรูปและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อการส่งออกอีกด้วย

จิ้งหรีดระยะตัวกั๊ก เป็นระยะก่อนที่จะเต็มวัย
จิ้งหรีดที่ต้มแล้ว รอคัดตัวไม่เต็มวัยออก
คุณอิงครัตน์ ธัญศิรธนารมย์ หรือ พี่ซอนญ่า

คุณอิงครัตน์ ธัญศิรธนารมย์ หรือ พี่ซอนญ่า อยู่บ้านเลขที่ 88 บ้านหนองโสน หมู่ที่ 11 ตําบลหนองข่า อําเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อดีตนักวิชาการด้านอาหารสัตว์ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงแมงสะดิ้ง สู่การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองโสน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คนในชุมชนแต่ละเดือนไม่น้อย

พี่ซอนญ่า บอกเล่าถึงที่มาของการเลี้ยงแมงสะดิ้งให้ฟังว่า ตนเองเริ่มทำการทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้ง ในปี 2559 ซึ่งถ้าหากย้อนไปตอนนั้น จิ้งหรีดยังไม่ถูกยกให้เป็นแมลงเศรษฐกิจ และยังไม่มีการรับรองมาตรฐาน GAP เกิดขึ้น แต่สาเหตุที่ทำให้ตัดใจเลี้ยงจิ้งหรีด เกิดขึ้นเนื่องจากสามีมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ มาจากอิสราเอล เขามีความสนใจเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดในบ้านเรา ซึ่งคำถามของเขาในตอนนั้นทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม รวมถึงพืชพรรณธัญญาหารที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ บวกกับการนำเอาประสบการณ์ทำงานเป็นนักวิชาการมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตจิ้งหรีดอาจจะกลายเป็นอาชีพทำเงินได้ดี ด้วยภาวะโลกร้อน และมลพิษต่างๆ ที่เกิดมากขึ้น หากจะเริ่มต้นผลิตแมลงไว้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ให้กับคนบนโลกคงจะดีไม่น้อย จึงเป็นจุดให้ตัดสินใจเริ่มทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว

ไข่จิ้งหรีด พึ่งเอาออกจากบ่อ เตรียมฟัก
ห้องเย็นสำหรับการเก็บรักษาจิ้งหรีด จำนวน 4 ห้อง

ทดลองเลี้ยงครั้งแรก ผ่านอุปสรรคมากมาย
การเรียนรู้ แก้ไข และพัฒนา ทำให้มีทุกวันนี้ได้

ช่วงเริ่มต้นทดลองเลี้ยงจิ้งหรีด พี่ซอนญ่า บอกว่า ขอเปรียบความยากเหมือนกับการให้ผู้สูงอายุสนเข็ม คือมีความยากลำบากในการทำ แต่จะสามารถฝึกฝนจนทำได้ เพราะช่วงแรกไม่มีประสบการณ์มาก่อน โดยจุดประสงค์ที่เริ่มทดลองเลี้ยงเพื่อทดลองว่าจะสามารถไปต่อกับอาชีพนี้ได้ไหม รวมถึงเพื่อทดสอบความชอบของตนเอง ว่าสามารถเข้าใจพฤติกรรมของจิ้งหรีดได้มากน้อยแค่ไหน เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบในช่วงเริ่มต้นการเลี้ยง นับเป็นบททดสอบที่ยากพอสมควร ที่กว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ก็ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกซ้ำๆ หลายครั้ง จนเริ่มมีชาวบ้านที่ขายแมลงทอดเข้ามาติดต่อขอซื้อจิ้งหรีดที่เลี้ยงไว้และกลายเป็นลูกค้าประจำของที่ฟาร์ม ซึ่งจุดนี้ทำให้เริ่มรู้สึกว่าจริงๆ แล้วตลาดสามารถหาได้ง่ายๆ แถวบ้านก่อน แล้วค่อยขยายตลาดให้กว้างขึ้น ด้วยวิถีชีวิตดั้งเดิมที่คนอีสานจะบริโภคแมลงอยู่แล้ว ก็ทำมาเรื่อยๆ จนฟาร์มจิ้งหรีดเริ่มติดตลาดมีคนรู้จักมากขึ้น ปริมาณการเลี้ยงก็ต้องขยายเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มีมาก แต่เมื่อมาถึงปี 2561 ตลาดจิ้งหรีดของที่ฟาร์มเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง มีสาเหตุมาจากเริ่มมีข่าวผลักดันให้จิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจ ทำให้มีคนเริ่มสนใจหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพกันมากขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณจิ้งหรีดล้นตลาด จึงใช้ตรงนี้เป็นบทเรียนเพื่อนำมาแก้ไขสำหรับการผลิต

สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านหนองโสน

“หลังจากที่เกิดปัญหาล้นตลาด พี่ก็เริ่มต้นวางแผนการเลี้ยงใหม่ คือการเลี้ยงให้พอดีกับปริมาณที่ลูกค้าต้องการ ใช้การคาดคะเนว่าลูกค้าที่มีอยู่ในมือทั้งหมดจะรับปริมาณได้เท่าไหร่ ก็จะผลิตเท่านั้น รวมถึงที่ฟาร์มได้รับรองมาตรฐาน GAP ตั้งแต่นั้นมาจึงไม่ค่อยมีปัญหาด้านการตลาดถึงแม้ว่าจะมีคู่แข่งทางการตลาดเยอะก็ตาม จนมาถึงปัจจุบันการตลาดมีการพัฒนา ทางฟาร์มจะได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายคือต้องมีการทำสัญญาซื้อขายกันก่อนเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย หากลูกค้าต้องการจำนวนเท่าไหร่ ให้แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อให้เราสามารถวางแผนการผลิตเริ่มคำนวณตั้งแต่ไข่ที่ฟัก มันจะกลายเป็นเกษตรแม่นยำมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นแน่นอน แต่ก็สามารถช่วยคาดคะเนปริมาณจิ้งหรีดได้ว่าจะได้ปริมาณเท่าไหร่ หรือถ้าหากช่วงไหนมีปัจจัยด้านอากาศที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนการผลิตเราก็อาจจะต้องคุยกับลูกค้าให้เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ข้อนี้ถือเป็นคำแนะนำสำหรับเกษตรกรในปัจจุบันท่ามกลางคู่แข่งที่มากขึ้น ฉะนั้นการวางแผนการเลี้ยง การหาตลาดรองรับที่แน่นอนและไว้ใจได้ จึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด”

จิ้งหรีดที่ต้มแล้ว รอคัดตัวไม่เต็มวัยออก

เลี้ยงแมงสะดิ้งให้สำเร็จ
เคล็ดลับอยู่ที่ความ “พอดี”

เจ้าของบอกว่า จากประสบการณ์การเลี้ยงที่มีเท่ากับศูนย์ ลองผิดลองถูก จนได้รู้ว่าสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จล้วนแล้วอยู่ใกล้ตัว เป็นเรื่องเล็กน้อยที่เคยมองข้ามไป คือจบที่คำว่า “พอดี”

“เมื่อก่อนพี่เคยคิดค้นหาวิธีมากมายในการเลี้ยงจะทำอย่างไรให้ออกมาดี จนทำให้ได้รู้ว่าความพอดีนี่แหละคือหนทางสู่ความสำเร็จ เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดมีหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำและอาหาร ทุกอย่างต้องพอดี แต่สิ่งที่ยากคือ แล้วจะทำอย่างไรให้พอดีในแต่ระยะ ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์ล้วนๆ เพราะถ้าคนไม่เคยเลี้ยงมาก่อนอธิบายให้ฟังอย่างไรก็จะไม่เข้าใจ แต่ถ้าได้ลงมือเลี้ยงแล้ว จะนึกออกได้ไม่ยาก”

จิ้งหรีดเต็มวัย พร้อมลงไข่

การทำความสะอาด ถือเป็นหัวใจสำคัญ

จิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่รักความสะอาด เพราะฉะนั้นสถานที่เลี้ยงโรงเรือนต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก บ่อสะอาด อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้เลี้ยงก็ต้องสะอาด เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์แข็งแรงของจิ้งหรีด ดังนั้น ขั้นตอนการทำความสะอาดโรงเรือน บ่อเลี้ยง แผงไข่ และถาดให้น้ำและอาหาร ถือเป็นหัวใจสำคัญ หากทำได้ดังนี้รับรองได้ว่าจิ้งหรีดที่เลี้ยงจะออกมาสมบูรณ์แข็งแรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องทำให้ถูกวิธีด้วย

ดูแลตั้งแต่ฟักออกจากไข่ ตอนนี้พร้อมส่งมอบแล้ว “สะดิ้งตัวเต็มวัย ไข่เต็มท้อง”
ดูแลตั้งแต่ฟักออกจากไข่ ตอนนี้พร้อมส่งมอบแล้ว “สะดิ้งตัวเต็มวัย ไข่เต็มท้อง”
  1. ออกแบบโรงเรือนให้เหมาะสม คือต้องระบายอากาศได้ดี ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป และเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ไม่สะสมฝุ่น มีพื้นที่ว่างเพียงพอและสะดวกต่อการทำงาน มีทางเดินที่กว้างพอที่จะขนอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปทำความสะอาดได้อย่างสะดวก
  2. การจัดการแผงไข่ ต้องมีการจัดวางที่ดีที่ลดความเสียหาย ก่อนการวางแผงไข่ลงในบ่อเลี้ยงแนะนำว่าให้หาท่อนไม้หรือวัสดุที่สามารถนำมาวางเป็นฐานรองแผงไข่ไม่ให้ติดกับพื้นบ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ขี้จิ้งหรีดตกลงไปทับสะสมอยู่ในแผงไข่ ทำให้แผงไข่เกิดความเสียหายมีอายุการใช้งานน้อยลง

“แผงไข่จะทำหน้าที่เป็นที่ให้จิ้งหรีดได้หลบซ่อนตัว เพราะแผงไข่มีซอกมีมุมเยอะ จิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่ลอกคราบบ่อยมาก 5-6 ครั้งกว่าที่จะเต็มไว เป็นช่วงระยะที่มีความอ่อนแอ ฉะนั้นเขาจะไปหลบตามซอกตามมุม และอีกอย่างแผงไข่จะค่อนข้างควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่พอดีได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเราใช้แผงไข่ที่เป็นพลาสติก ซอกมุมเยอะก็จริง แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ที่ฟาร์มจึงเลือกไข่ที่เป็นแผงกระดาษ”

โรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีดได้มาตรฐาน สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก
  1. อุปกรณ์ให้น้ำและอาหาร ของที่ฟาร์มจะใช้เป็นถาดพลาสติก โดยมีเทคนิคอยู่ที่ก่อนการนำมาใช้จะต้องนำถาดพลาสติกเหล่านี้มาขัดให้หยาบเพื่อให้จิ้งหรีดสามารถไต่ขึ้นมากินน้ำและอาหารได้ ตรงนี้เกิดขึ้นจากความใส่ใจจริงๆ
  2. อาหาร เป็นสูตรอาหารสำเร็จรูปที่ทางฟาร์มคิดค้นขึ้นมาเอง โดยใช้ความรู้จากการเรียนปริญญาโททางด้านโภชนศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารสัตว์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นสูตรอาหารย่อยง่าย ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของจิ้งหรีด จึงได้มีการนำสูตรอาหารนี้ไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกในกลุ่มได้ใช้ด้วย

การให้อาหาร ในช่วงสัปดาห์แรกให้อาหารเช้า-เย็น ให้ในปริมาณที่น้อยมากๆ แค่โรยให้ติดถาด หลังจากนั้นพอจิ้งหรีดเริ่มโตจะเพิ่มปริมาณการให้น้ำและอาหารมากขึ้น และเพิ่มช่วงเวลาการให้เป็น เช้า-กลางวัน-เย็น ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 35-45 วัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล

จิ้งหรีดสวยๆ คัดเสร็จแล้ว รอบรรจุถุง
กำลังช่วยกันจับจิ้งหรีดไปล้างแล้วต้ม จากนั้นเตรียมคัดและบรรจุใส่ถุง

ปริมาณผลผลิต เฉลี่ยต่อ 1 รอบการผลิต 4-5 ตัน จิ้งหรีดสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ถ้าคิดตามอายุของจิ้งหรีด 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 8 รอบ แต่ที่ฟาร์มจะไม่สามารถเลี้ยงแบบเต็มรูปแบบได้ทั้งหมด 8 รอบ เนื่องจากต้องอาศัยแรงงานในพื้นที่ ซึ่งฤดูกาลที่หาแรงงานยากคือฤดูกาลปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ตัดอ้อย ดังนั้น ในช่วงที่แรงงานไม่พอที่ฟาร์มจะวางแผนการผลิตให้น้อยลง ให้เหลือปริมาณ 1-2 ตันต่อรอบการผลิต

อนาคตการตลาดยังสดใส
โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ

หากถามถึงอนาคตการตลาดของจิ้งหรีด พี่ซอนญ่า อธิบายในมุมมองส่วนตัวว่า จิ้งหรีดยังเป็นสัตว์ที่มีอนาคตสดใส สำหรับตลาดในประเทศอาจจะต้องดูเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย หากเศรษฐกิจในประเทศดีก็รับรองได้ว่าจิ้งหรีดยังเป็นอาหารและแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สำคัญและมีความต้องการสูง

จิ้งหรีดเต็มวัย พร้อมลงไข่

ถัดมาในส่วนของตลาดต่างประเทศ อนาคตยังสดใจอยู่แน่นอน แต่ตลาดต่างประเทศจะไม่นิยมจิ้งหรีดทองดำที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกัน แต่จะนิยมจิ้งหรีดทองแดงลายหรือแมงสะดิ้ง ดังนั้น สำหรับใครต้องการเลี้ยงเพื่อการส่งออกจำเป็นต้องเลี้ยงแมงสะดิ้ง ด้วยลักษณะสีน้ำตาลอ่อน เมื่อนำไปแปรรูปเป็นผง หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะได้สีออกมาไม่ดำคล้ำมากเกินไป ประกอบกับความหอม รสชาติ ละมุนมากกว่าจิ้งหรีดทองดำ 

จิ้งหรีดฟาร์มนี้ได้ขึ้นรถสิบล้ออีกแล้ว

โดยการตลาดแมงสะดิ้งของที่ฟาร์มตอนนี้เน้นบริการให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม คือ 1. ลูกค้าขาจรที่อยากซื้อไปทอดกินเอง ต้องการปริมาณน้อยที่ฟาร์มก็ขาย 2. พ่อค้าแม่ค้าประจำที่รับไปทอดขาย 3. ตลาดโรงงานรับซื้อนำไปแปรรูปต่อ โดยในส่วนนี้จะมีการทำสัญญาซื้อขายกันก่อนล่วงหน้า เป็นปริมาณหลายตันต่อรอบการผลิต

ราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 150 บาท ขายในรูปแบบแมลงแช่แข็ง การันตีด้วยคุณภาพ ตัวใหญ่ ไข่เต็มท้อง เก็บรักษาในห้องเย็นอย่างดี ที่อุณหภูมิ -16 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาสินค้าได้นานและคงคุณภาพไว้เหมือนเดิม แต่สำหรับเกษตรกรมือใหม่ เลี้ยงในพื้นที่ไม่มากแนะนำให้เก็บรักษาในช่องฟรีซหรือเก็บในตู้แช่ไอศครีมได้

แมลงพึ่งฟักออกจากไข่

ฝากถึงเกษตรกรอยากเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

“อันดับแรกคือต้องมีการวางแผนดีๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยง วางแผนการผลิต วางแผนโดยให้ยึดอยู่บนหลักของความพอดีและพอเพียง อย่างทุกวันนี้เราทำก็ไม่ได้ทำแค่จิ้งหรีด เรายังเอามูลจิ้งหรีดไปใส่ผัก เราปลูกผักกินเอง เรามีอาหาร มีผักปลอดภัยกิน แล้วเราก็ทำนา เลี้ยงสัตว์หลากหลาย เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปูนา กุ้งฝอย หอยขม และเลี้ยงควาย มีการนำมูลจิ้งหรีดไปใส่แปลงหญ้า นำหญ้ามาเป็นอาหารให้ควายสร้างเงินออมรายปี การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เราจะมีอาหารในบ้าน รายจ่ายก็ลดลง ดังนั้น ความพอดีและพอเพียงจะเป็นเหมือนกับเกาะป้องกันให้เราอยู่รอดทุกสถานการณ์” พี่ซอนญ่า กล่าวทิ้งท้าย

ลูกค้าเข้ามารับถึงที่
เตรียมให้อาหาร
เตรียมให้อาหาร

สนใจสอบถามรายละเอียดเทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างมืออาชีพเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 083-269-6595 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : Sonya Thansirathanarom


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354