ปลาแรด GI บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “เกล็ดหนา หน้างุ้ม เนื้อนุ่มแน่นหวาน” แหล่งกำเนิดที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง

อุทัยธานี จัดได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งของตัวเมืองฉีกออกไปไม่ได้เชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ และอยู่นอกเส้นทางหลักของนักท่องเที่ยว ฉะนั้นเมืองพระบรมชนกอุทัยธานีจึงเสียเปรียบกว่าจังหวัดอื่นๆ ในเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และด้วยเหตุผลที่มากด้วยทรัพยากรป่าไม้และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองมรดกโลก ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นตัวกำหนด

คุณวันเพ็ญ นาทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาแรดตำบลท่าซุง โชว์ปลาแรดแดดเดียวราคา 100 บาท

วันนี้ผู้เขียนมีนัดหมายกับ คุณตุ้ย จินตนา ดอนแนไพร เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุทัยธานี จะพาเข้าไปดูการทำประมงการเลี้ยงปลาแรด ที่ได้ขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ให้เป็นแหล่งต้นกำเนิดที่มาของปลาแรด ที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

ใช้เวลาไม่นาน เดินทางจากกรุงเทพฯ 2 ชั่วโมงกว่าๆ มุ่งหน้าบนถนนสายเอเชียก่อนเข้านครสวรรค์ ให้เลี้ยวซ้ายก็จะถึงจังหวัดอุทัยธานี จากนั้นก็ลัดเลาะไปตามถนนหมู่บ้านผ่านทุ่งนากว้างใหญ่ และไปสิ้นสุดพิกัดที่ท้ายเกาะเทโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านโรงน้ำแข็ง และเป็นบ้านของ คุณวันเพ็ญ นาทอง ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาแรดตำบลท่าซุง ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ผมยืนอยู่บนริมฝั่งมองลงไปที่แม่น้ำสะแกกรัง ก็ปรากฏเห็นกระชังปลาและเรือนแพน้อยใหญ่เรียงรายตลอดสองฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง

โชว์ปลาแรด GI ตัวใหญ่ๆ ขนาด 1.5 กิโลกรัม ของแท้ต้องที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง

มีสะพานเหล็กเป็นทางเดินที่เชื่อมต่อทอดลงไปยังกระชังปลาและเรือนแพ ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าแปรรูปปลาแรดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาแรดตำบลท่าซุง และเป็นจุดแวะพักกลางแม่น้ำของนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือทางน้ำมาจากวัดท่าซุง เพื่อซื้อหาผลิตภัณฑ์ปลาแรดของฝากจากเมืองอุทัยธานี

และคนที่เป็นผู้นำผลักดันสร้างผลิตภัณฑ์ปลาแรด จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี ต้องยกให้ คุณวันเพ็ญ นาทอง ในฐานะะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลาแรดตำบลท่าซุง ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ในนามกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำตำบลท่าซุง ประจำปี 2557

คุณวันเพ็ญ ในวัย 57 ปี ย้อนอดีตเมื่อสมัยสาวๆ เคยเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด ร่อนเร่ค้าขายไปเรื่อยๆ หลายจังหวัด เมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็ต้องลากลับมาอยู่บ้านเกิดที่อุทัยธานี และมาจับอาชีพเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ซื้อมาขายไป จนมีเงินเก็บซื้อที่ดินสะสมได้ 30 ไร่ เมื่อมีที่ดินมากๆ ก็ต้องทำการเกษตรปลูกพืช ทำสวนเกษตรผสมผสานอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เมื่อถึงฤดูน้ำก็หลากเอ่อท่วมพืชสวนเสียหาย เป็นอย่างนี้ทุกๆ ปี

จึงมาคิดดูว่าบรรพบุรุษเราอยู่กับน้ำ ฉะนั้นเราก็ต้องทำอาชีพที่อยู่กับน้ำด้วยการเลี้ยงปลา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มาของการเลี้ยงปลาแรดในกระชัง ในปี 2540 โดยการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุทัยธานีที่เข้ามาให้คำแนะนำสอนเรื่องการเลี้ยงปลาแรดและเพาะขยายพันธุ์ปลาแรด โดยเริ่มต้นเลี้ยงปลาแรดครั้งแรกที่ 1,000 ตัวต่อ 1 กระชัง มีอัตราการรอด 90 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และครั้งต่อมาจึงมีการร่วมกลุ่มผู้เลี้ยงปลาแรดในกระชังได้จำนวน 10 คน โดยนำเงินของแต่ละคนมาลงหุ้นรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างกระชังปลา ในราคากระชังละ 7,000 บาท ขนาด 5×6 เมตร

สมาชิกนำปลาแรดตัวใหญ่ๆ ถ่ายขึ้นจากเรือส่งต่อให้กลุ่มเพื่อรอจำหน่ายต่อไป

เมื่อสร้างกระชังเพื่อทำอาชีพเลี้ยงปลาอย่างจริงๆ จังๆ จนแบงก์ธนาคารเห็น ว่ามีการรวมกลุ่มทำอาชีพเลี้ยงปลากัน จึงนำรายชื่อ 10 คน ไปร่วมกู้กับธนาคารของรัฐเพิ่มเติมเพื่อนำเงินทุนมาหมุนเวียนต่อยอดขยายการเลี้ยงปลาแรดในกระชังต่อไป จากเดิมมีสมาชิกเพียง 10 ราย จวบจนถึงปัจจุบัน สมาชิกมีเพิ่มมากขึ้นถึง 85 ราย ส่วนกระชังเลี้ยงปลาแรด จาก 100 ก็เพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัวถึง 200 กระชัง ณ ปัจจุบัน

ปลาแรดที่ได้ขนาดมีคุณภาพปล่อยพักลงกระชังเพื่อรอส่งต่อถึงมือผู้บริโภค

คุณวันเพ็ญ บอกว่า สมาชิกของพวกเรามีความสุขอยู่กับการใช้ชีวิตในอาชีพเลี้ยงปลาอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง และด้วยกระแสน้ำที่ไหลผ่านเอื่อยๆ อย่างอ่อนโยนของสายน้ำ แม่น้ำสะแกกรังแห่งนี้จึงได้ขึ้นชื่อว่า “เป็นสายน้ำที่มีแร่ธาตุเหมาะแก่การเลี้ยงปลาแรด” จึงทำให้ปลาแรดเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและเนื้อปลาสมบูรณ์ไม่มีกลิ่นคาว กลิ่นสาบโคลน จนได้รับการขนานนามเอกลักษณ์ของปลาแรด จากแม่น้ำสะแกกรัง ที่ว่า “เกล็ดหนา หน้างุ้ม เนื้อนุ่มแน่นหวาน”

กระทั่งกรมทรัพย์สินทางปัญญารับรองให้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาด้านภูมิศาสตร์ หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) และจดสิทธิบัตรให้ “ปลาแรด” มีต้นกำเนิดแหล่งที่มาอยู่ที่แม่น้ำสะแกกรัง ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

ส่วนด้านการเลี้ยงปลาแรด คุณวันเพ็ญในฐานะประธานกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันค่าอาหารเม็ดแพงมากๆ ซึ่งแต่เดิมลงทุนเลี้ยงปลาดูแลเรื่องค่าอาหารกันเอง จึงมานั่งประชุมกันว่าถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ สักวันก็คงจะต้องถูกนายทุนมาแทรกแซงครอบงำ ฉะนั้นเราต้องรวมกลุ่มกันเพื่อจัดการปัญหาต้นทุนด้านอาหารโดยใช้วิธีลงหุ้นซื้ออาหารเม็ดจากโรงงานโดยตรง เพราะจะทำให้ต้นทุนค่าอาหารลดลง จากต้นทุนที่เคยซื้อกันในราคารายย่อย 520 บาท ก็เหลือ 480 บาท มันก็สามารถช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ไปได้อีกเปราะหนึ่ง ส่วนปัญหาอื่นๆ ก็ค่อยๆ แก้ไขกันไป

และจะยิ่งลดต้นทุนด้านอาหารในการเลี้ยงปลาไปได้อีก หากสามารถบริหารจัดการอาหารแต่ละมื้อได้ สมมติว่าเราเลี้ยงสองมื้อเช้าเย็น ตอนเช้าอาจให้อาหารสำเร็จรูป ในตอนเย็นก็ให้อาหารพืชผักตามธรรมชาติที่หาได้ตามท้องถิ่นมาทดแทน หรือหาเศษใบผักตามท้องตลาด ผักบุ้ง มะละกอสุก มะม่วงสุก นำมาหั่นแล้วโยนให้ปลากินดิบๆ หากทำได้ก็จะลดต้นทุนไปได้อีกไม่น้อยกว่า 15,000 บาทต่อการเลี้ยงหนึ่งรอบเลยทีเดียว

เมื่อแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนของอาหารปลาได้แล้ว คุณวันเพ็ญก็มาคิดต่อที่จะเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว โดยใช้เรือนแพของกรมประมงที่เสื่อมสภาพมาซ่อมแซม สร้างเป็นร้านค้าเรือนแพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาแรดตำบลท่าซุง เป็นจุดแวะพักของนักท่องเที่ยวทางน้ำได้ชมการเลี้ยงปลาแรดในกระชัง และได้ซื้อหาผลิตภัณฑ์ของฝากปลาแรดต่างๆ พร้อมจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว

สมาชิกกลุ่มให้อาหารสำเร็จเลี้ยงปลาแรดในกระชัง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ว่านี้จะลงเรือล่องมาจากวัดจันทารามหรือวัดท่าซุง หลังสักการะหลวงพ่อฤาษีลิงดำ และเยี่ยมชมวิหารแก้วท่าซุง ที่โด่งดังของจังหวัดอุทัยธานีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะล่องเรือไปตามลำน้ำดูวิถีชีวิตชุมชนสองริมฝั่งและคนเลี้ยงปลาแรดในกระชังที่เรียงรายตลอดสายน้ำสะแกกรัง ไม่เพียงเท่านี้เรือท่องเที่ยวก็จะล่องไปวนที่รอบเกาะคุ้งสำเภา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ บนเนื้อที่ 30 ไร่ มีคนอยู่อาศัยเพียง 30 ครัวเรือน เรียกว่าเป็นอันซีนอัตลักษณ์ของเกาะกลางแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งเกาะคุ้งสำเภาแห่งนี้จึงมีความสำคัญเป็นบังเกอร์รับแรงปะทะของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน มาปะทะบริเวณเกาะคุ้งสำเภา จึงกลายเป็นแม่น้ำสองสีหากมองมุมสูงก็จะเห็นชัดเจน ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา สีจะขุ่นๆ ส่วนแม่น้ำสะแกกรัง ก็จะสีใสๆ

ฉะนั้นความได้เปรียบของแม่น้ำสะแกกรังจึงเหมาะแก่การทำประมงน้ำจืด ในการเลี้ยงปลาแรดกระชังของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาแรดตำบลท่าซุง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อันเนื่องด้วยคุณสมบัติของแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลเอื่อยๆ ไม่เชี่ยวกราก เพราะมีเกาะคุ้งสำเภาคอยซับแรงปะทะ ฉะนั้นแร่ธาตุในแม่น้ำจึงมีมากเหมาะแก่การเลี้ยงปลาและการเจริญเติบโตของปลาแรดที่มีคุณภาพ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สินค้าปลาแรดที่คุณวันเพ็ญนำเสนอตัวแรกเป็นปลาแรดสด ขนาดน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม ซีลแพ็กแข็งสุญญากาศอย่างดี ราคาตัวละ 150 บาท สามารถนำไปปรุงอาหารเป็นปลาแรดทอดกระเทียมพริกไทย นึ่งมะนาว ต้มยำ ทอดปรุงน้ำยำสามรส ได้ตามใจชอบ เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ต่อมา ปลาแรดแดดเดียว ไม่เค็มมากรสชาติอร่อย ตัวละ 100 บาท  ปลาแรดส้มไร้ก้าง เป็นการแร่เฉือนเอาเฉพาะเนื้อๆ ไม่มีก้าง ตัวละ 80 บาท ทอดได้ 1 จาน ซอยพริกซอยหอมบีบมะนาว เติมรสชาติตามชอบอร่อยนักเชียว

ปลาร้าด่วน ปลาร้าปลาแรด อันนี้เป็นกรรมวิธีในการปรุงแตกต่างไปจากที่อื่น คือใช้เวลาหมักเพียงแค่ 7 วัน และเข้มงวดในเรื่องของความสะอาด ต้องล้างถึงสามน้ำจนกว่าจะมั่นใจ หมักทิ้งไว้จนครบ 7 วัน แล้วนำขึ้นมาล้างใหม่อีกรอบ ซอยพริกซอยหอมบีบมะนาวพร้อมเครื่องเคียง ทอดหอมๆ ขายเพียงแค่ตัวละ 60 บาท  นอกจากนั้น ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ปลาแรดอื่นๆ ที่หลากหลาย อาทิ แหนมปลาแรด น้ำพริกปลาแรด ปลาแรดเส้น ข้าวเกรียบปลาแรด เป็นต้น

ช่วงระหว่างที่สอบถามพูดคุยกับคุณวันเพ็ญอยู่นั้นก็มีเรือหางยาวแวะเวียนนำปลาแรดในกระชังของตัวเองนำมาส่งขายให้กับกลุ่ม ซึ่งเป็นกระชังกลางของกลุ่มและเป็นตลาดกลางในการจำหน่ายสินค้าปลาแรดให้กับกลุ่มสมาชิกที่วางระบบการบริหารจัดการกันไว้อย่างลงตัว

ผู้อ่านหรือนักท่องเที่ยวท่านใดทราบข่าวแล้วก็อย่าลืมแวะไปอุดหนุนผลิตภัณฑ์ปลาแรดสายพันธุ์แท้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาแรดตำบลท่าซุง ที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี

ก่อนไปกริ๊งกร๊างนัดแนะกับ คุณวันเพ็ญ นาทอง ล่วงหน้าได้ที่เบอร์ โทร. 081-953-9866 เลขที่ 41/2 หมู่ที่ 5 บ้านโรงน้ำแข็ง ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

อนึ่ง ถ้าจะพักค้างแรมชมบรรยากาศริมน้ำสะแกกรังก็มีสถานบริการโฮมสเตย์ มีจัดเตรียมไว้รองรับ เมื่อตื่นเช้าๆ จะได้ชมวิวบรรยากาศวิถีชีวิตการเลี้ยงปลาริมแม่น้ำสะแกกรัง หรือถ้านักท่องเที่ยวจะล่องมาทางน้ำ ก็มีบริการเรือนักท่องเที่ยวที่วัดท่าซุงไว้คอยบริการ คนละ 50 บาท หรือจะเหมาลำเป็นหมู่คณะ เที่ยวละ 500 บาท รับรองว่าไม่ผิดหวัง

……………………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2565