สุดยอดผู้นำ ผู้ใหญ่บ้านหญิง ต้นแบบแห่งการทำเกษตรผสมผสาน

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้น การทำเกษตรเพียงด้านเดียวนั้นไม่สามารถที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ เกษตรกรหลายคนจึงเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสานเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน เพราะมีผลผลิตออกจำหน่ายที่หลากหลาย ลดปัจจัยการผลิตจากภายนอกสวน ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ไม้ใช้สอย และเกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง สร้างเป็นอาชีพที่ยั่งยืนให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี

เกษตรกรปลูกสละแซมปาล์ม

เกษตรผสมผสานเป็นการทำการเกษตรตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป เช่น การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง เพื่อลดความเสี่ยง มีการวางแผนการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิตที่ผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรแบบผสมผสานจะไม่มีคำจำกัดความ ไม่มีกติกาหรือกฎตายตัว ว่าต้องเป็นพืชชนิดใด เลี้ยงสัตว์ชนิดใด เพราะแต่ละพื้นที่และท้องถิ่นมีสภาพทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน การเกษตรแบบผสมผสานเป็นการสร้างความร่มรื่นให้พืชหลายชนิดที่ปลูกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีการเกื้อกูลกันทางธรรมชาติให้มากที่สุด และสำคัญที่สุดคือผู้ปลูกต้องได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวน เกษตรผสมผสานจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างรายได้เพื่อนำไปสู่การดำรงชีพที่มั่นคงสำหรับเกษตรกร

คุณวิมลทิพย์กับอ้อยคั้นน้ำ

คุณวิมลทิพย์ ทองด้วง ผู้นำสาวแห่งบ้านพรุท่อม เกษตรกรหมู่ที่ 5 ตำบลนาโต๊ะหมิง  อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง พ่วงด้วยตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และเป็น Smart Farmer ของชุมชน ได้มีแนวคิดทำการเกษตรแบบผสมผสานจากการได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานนอกสถานที่ ตลอดจนศึกษาหาความรู้ด้านการทำเกษตรหลายแห่งหลายด้าน พบว่าการทำเกษตรกรรมแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะเกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายมาก เพราะรายได้ของการมีชีวิตแบบชาวสวนส่วนใหญ่เกิดจากการทำเกษตรกรรม แล้วเมื่อมีความเสียหายจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแล้ว พวกเขาจะได้รับผลกระทบโดยตรงทันที จึงมีแนวคิดว่า หนทางออกที่ดีที่สุด คือการทำสวนเกษตรผสมผสาน

เกษตรตำบล ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัว

ทั้งนี้ การทำเกษตรแบบผสมผสานจะไม่มีกฎตายตัว ว่าต้องปลูกพืชชนิดใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น จึงได้ตัดสินใจทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการจัดการการผลิตเพื่อให้คุ้มค่าและมีการวางแผนในการทำกิจกรรมการเกษตรหลายๆ อย่าง ภายในสวนทั้งกิจกรรมการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถเกื้อกูลผลประโยชน์ซึ่งกันและกันได้โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในสวนอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ตลอดจนนำวัสดุเศษเหลือใช้ในฟาร์มมาใช้ให้เกิดประโยชน์

บ่อเลี้ยงปลา

การดำเนินงานของคุณวิมลทิพย์ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ได้จัดสรรที่ดินในการใช้ประโยชน์บนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ คือ

ส่วนที่ 1 ที่อยู่อาศัย

ส่วนที่ 2 พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ไม้ผล และพืชผัก

ส่วนที่ 3 เลี้ยงสัตว์ (ไก่ เป็ด)

ส่วนที่ 4 เป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการผลิต และมีการเลี้ยงสัตว์น้ำร่วมด้วย

กิจกรรมหลักของเกษตรกรคือ ปลูกปาล์มน้ำมัน ในเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ บริเวณร่องระหว่างสวนปาล์มจะปลูกสละอินโดรอบๆ สวน และมีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองประมาณ 60 ตัว สาเหตุที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองเพราะว่าเป็นไก่ที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคต่างๆ ได้ดี จึงเลี้ยงเอาไว้ประกอบเป็นอาหารภายในครัวเรือน ส่วนที่เหลือสามารถนำมาขายเพื่อสร้างรายได้เสริม เมื่อไก่เจริญเติบโตเต็มที่ไก่ก็จะผสมพันธุ์ออกลูกขยายพันธุ์เรื่อยๆ และสามารถออกไข่เพื่อไว้บริโภคได้อีกด้วย มีไข่เก็บได้ต่อวันประมาณ 25-35 ฟอง ไก่ทั้งหมดจะปล่อยให้หากินตามธรรมชาติและให้อาหารที่หาได้เอง เช่น หยวกกล้วย เศษผัก ที่หาได้ในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารเม็ด มูลของไก่ที่เลี้ยงไว้จะก็สามารถนำมาเป็นปุ๋ยคอกใส่พืชผักหรือต้นไม้ภายในฟาร์มได้เป็นอย่างดี

คุณวิมลทิพย์กับไก่พื้นเมือง

นอกจากนี้ ภายในสวนมีการปลูกไม้ผล อ้อย พืชอายุสั้น พืชผักสวนครัว ไว้กินในครัวเรือน ที่เหลือก็นำออกขายให้กับพ่อค้าในหมู่บ้านนำไปขายต่อที่ตลาดสดเมืองตรัง พืชผักที่ปลูกจะมี ผักหวาน บวบ มะเขือ กะเพรา ข่า ตะไคร้ และผักกินใบต่างๆ ส่วนไม้ผลที่ปลูกจะมี มะม่วง ฝรั่ง กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง มะละกอ สละอินโด มะนาว กระท้อน ขนุน เป็นต้น คุณวิมลทิพย์ยังนำเศษใบไม้ หญ้าแห้ง ทะลายปาล์ม ที่อยู่ภายในสวนมาใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักและนำมาเป็นวัสดุปลูกพืช มีการเผาถ่านเองจากต้นไม้ในละแวกบ้านเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง แล้วยังนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์ด้วย และในพื้นที่ยังมีบ่อน้ำใช้ในด้านการเกษตร มีการเลี้ยงปลาไว้สำหรับทำอาหารในครัวเรือนด้วย

“การทำการเกษตรแบบผสมผสานนี้เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก จึงทำให้เหลือเงินสำหรับการออม วิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้ถือเป็นความพอเพียง ครอบครัวของเขาแทบจะไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงแต่อาจจะต้องซื้อวัสดุปรุงรส อย่างเช่น กะปิ น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส เท่านั้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่มาก แล้วไม่ต้องซื้อบ่อย เป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงสร้างภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืนได้ภายใต้กรอบของวิถีเศรษฐกิจพอเพียงที่นำทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่มาทำการเกษตรแบบผสมผสาน”

ดาวเรืองสร้างรายได้

คุณวิมลทิพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้หลักของครัวเรือน นอกจากเงินเดือนประจำแล้ว จะมีรายได้จากสวนปาล์มน้ำมัน เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท รายได้จากการขายพืชผักผลไม้ ประมาณเดือนละ 1,000 บาท และรายได้ไก่ ไข่ไก่ และปลา ประมาณเดือนละ 3,000 บาท ในส่วนของรายจ่ายนั้นก็มีน้อย เพราะส่วนใหญ่จะกินอาหารที่หาได้จากครัวเรือน ทั้งไก่ ไก่ไข่ ปลา พืชผัก และผลไม้ ทำให้ลดรายจ่ายในส่วนนี้ไป

สวนเกษตรผสมผสานของคุณวิมลทิพย์ จึงถือเป็นต้นแบบของแหล่งความรู้ แนวทางการทำอาชีพเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองที่ยั่งยืน เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้คนที่สนใจเกษตรทฤษฎีนี้เข้ามาเรียนรู้กันอย่างเต็มที่

คุณวิมลทิพย์ บอกด้วยว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากจนทำให้คนที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมหลงไปตามกระแส จนลืมความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม แต่ถ้าทุกคนหันกลับมาสนใจเอาใจใส่ในอาชีพเกษตรกรรมด้วยการแสวงหาความรู้การใช้ชีวิตแบบวิถีพอเพียงได้อย่างถ่องแท้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกคนก็จะมีความแข็งแรงและมั่นคง เมื่อเราปฏิเสธเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับและนำมาใช้ แต่ควรเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ตรงและเกิดประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด

สอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาการทำสวนเกษตรผสมผสานจาก คุณวิมลทิพย์ ทองด้วง ได้ที่โทรศัพท์ 089-287-2639

……………………………….