ที่มา | เทคโนฯ ปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
เผยแพร่ |
บึงกาฬ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการเกษตรที่สำคัญ โดยพืชที่มีการปลูกมากที่สุดคือยางพารา รองลงมาคือการทำนา แต่หลายปีที่ผ่านมาราคายางพารามีการรับซื้อที่ผันผวน บางช่วงราคาการรับซื้อราคาลดลง ทำให้เกษตรกรได้มีการปรับตัวในเรื่องของการทำการเกษตรที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การปลูกพืชแซม การทำเกษตรผสมผสาน และการเลี้ยงสัตว์ภายในสวนยางพารา จึงช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากช่องทางอื่นตามมาด้วย
คุณสมัคร พิมพิลา อยู่บ้านเลขที่ 227 หมู่ที่ 10 ตำบลเซกา อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ เป็นเกษตรกรที่ทำสวนยางพาราอยู่ในพื้นที่ โดยในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ เขาเองก็ได้มีการปรับตัวในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ได้นำสุกรเข้ามาเลี้ยงเพื่อนำมูลมาใส่ลงในต้นยางพารา แต่เมื่อเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ ต่อมาจึงเลี้ยงแบบครบวงจร สร้างรายได้ดีควบคู่ไปกับการทำสวนยางพารา
จากเลี้ยงสุกรเก็บมูลเป็นปุ๋ย
สู่การเลี้ยงแบบครบวงจร
คุณสมัคร เล่าให้ฟังว่า การเลี้ยงสุกรของเขานั้นเริ่มแรกไม่ได้มีแนวคิดที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพ โดยการเลี้ยงเพียงแค่อยากได้ปุ๋ยคอกอย่างขี้หมูมาใส่ให้ต้นยางพาราเท่านั้น แต่ในช่วงนั้นขี้หมูในพื้นที่ค่อนข้างที่จะหาได้ยาก เขาจึงได้ตัดสินใจนำสุกรมาเลี้ยงเสริมในครั้งแรกเพื่อเป็นการทดลอง เมื่อประสบผลสำเร็จและสามารถขยายพันธุ์ได้ จึงขยับขยายการเลี้ยงมากขึ้น มีการเลี้ยงแบบครบวงจรทั้งการจำหน่ายลูกพันธุ์ และการขุนเพื่อส่งจำหน่ายให้พ่อค้าเขียงหมูมาจนถึงปัจจุบัน
“ช่วงแรกที่เลี้ยง เราคิดเพียงอย่างเดียวว่าจะเอามูลมาใส่ต้นยางพารา พอช่วงปี 2559 เริ่มเห็นว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ คือการทำเป็นธุรกิจมากขึ้น จากที่เลี้ยงเสริม ให้มาเป็นรายได้หลักได้ ผมก็เลยศึกษาข้อมูล เพราะตัวผมเองก็จบช่าง ไม่ได้จบทางด้านการเกษตรอะไรมาเลย พอเราศึกษาอย่างจริงจัง นำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดเรื่อยๆ จนทำให้ผมสามารถผลิตสุกรคุณภาพ มีทั้งการผสมพันธุ์จำหน่ายให้กับเพื่อนๆ เกษตรกรด้วยกัน เพื่อเลี้ยงเสริมช่วงราคายางพาราตกต่ำ และบางส่วนก็ขุนจำหน่ายส่งพ่อค้า” คุณสมัคร บอก
โดยสายพันธุ์สุกรที่เขาเลี้ยงมีตั้งแต่พันธุ์แท้ไปจนถึงสายพันธุ์ลูกผสม อาทิ สายพันธุ์ลาร์จไวท์ สายพันธุ์แลนด์เรซ และสายพันธุดูร็อค ซึ่งหากต้องการเลี้ยงขุนเพื่อจำหน่ายเขียงหมู จะต้องผสมให้เป็นสุกรลูกผสม 2 สายพันธุ์ และสุกรลูกผสม 3 สายพันธุ์ แต่หากต้องการจำหน่ายเป็นสายพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรรายอื่น จะผสมให้ได้สุกรสายพันธุ์แท้
สุกรอายุ 9-10 เดือน
เหมาะสมเป็นแม่พันธุ์ได้
คุณสมัคร เล่าต่อว่า การผสมพันธุ์สุกรภายในฟาร์มจะใช้น้ำเชื้อเข้ามาผสมให้กับแม่พันธุ์เป็นหลัก ซึ่งอายุสุกรเพศเมียที่จะผสมได้ต้องมีอายุมากกว่า 8 เดือน และมีน้ำหนักอยู่ที่ 130-140 กิโลกรัมต่อตัว การผสมน้ำเชื้อให้กับแม่พันธุ์จะสังเกตรอบการเป็นสัดทุก 21 วัน หลังผสมน้ำเชื้อพ่อพันธุ์เข้าไปได้ 20 วัน หากอวัยวะเพศไม่บวมแดงให้สันนิษฐานว่าการผสมไม่มีปัญหา จากนั้นนับไปอีก 20 วัน ถ้าไม่บวมแดงแสดงว่าการผสมพันธุ์ติดดีไม่มีปัญหา
โดยระยะตั้งท้องของสุกรนับจากวันที่ผสมพันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 114-115 วัน บวกลบไม่เกิน 3 วัน จากนั้นแม่พันธุ์ก็จะคลอดลูกสุกรออกมา เมื่อลูกสุกรได้อายุ 2 วัน จะทำการตัดเขี้ยวตัดหางพร้อมกับฉีดธาตุเหล็ก และทำการปั๊มปาก เพื่อป้องกันลูกสุกรท้องเสีย เมื่อได้อายุครบ 1 สัปดาห์ หากจะเลี้ยงขุนจะทำการตอน ส่วนสุกรที่ทรงดีจำหน่ายเป็นสายพันธุ์จะติดเบอร์ที่หูเพื่อทำรหัสไว้ และเมื่ออายุได้ 21 วันขึ้นไป จะทำวัคซีนตามแผนที่กำหนดไว้เป็นลำดับ
“หลังจากที่ลูกสุกรคลอดแล้ว เราก็จะมีผ่านการทำวัคซีนป้องกันต่างๆ ตามแผนที่กำหนด โดยช่วงนี้จะปล่อยให้อยู่กับแม่สุกรประมาณ 22-28 วัน เราจะเน้นดูความสมบูรณ์ของลูกสุกรเป็นหลัก ถ้าปล่อยให้หย่านมช้า จะทำให้แม่สุกรโทรม เพราะหลังจากลูกสุกรหย่านมแล้ว เราก็จะให้ติดสัดในรอบต่อไป โดยการตั้งท้องแต่ละรอบ จะต้องได้ลูกสุกรไม่ต่ำกว่า 10 ตัว ที่ฟาร์มผมเฉลี่ยแล้วจะได้ลูกสุกรต่อรอบต่อแม่ 1 ตัว อยู่ที่ 12-15 ตัว” คุณสมัคร บอก
สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงแม่พันธุ์ คุณสมัคร บอกว่า จะใช้เป็นอาหารสำเร็จรูปเลี้ยง โดยแม่พันธุ์อุ้มท้องจะให้กินอาหารที่มีโปรตีนอยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแม่พันธุ์เลี้ยงลูกให้กินอาหารที่มีโปรตีนอยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสุกรทั้งหมดที่เลี้ยงภายในฟาร์ม จะมีการทำตลาดที่ชัดเจนคือ มีการเลี้ยงทั้งแบบเป็นสุกรขุน และสุกรสำหรับจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ให้กับเพื่อนเกษตรกร รายอื่นๆ ต่อไป
จำหน่ายสุกรขุนยกตัว
และจำหน่ายเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์
สำหรับการจำหน่ายสุกรขุนให้กับตลาดเนื้อนั้น คุณสมัคร บอกว่า จะจำหน่ายแบบยกตัวให้กับพ่อค้า ซึ่งสุกรสำหรับตลาดเนื้อต้องเลี้ยงให้มีอายุเกิน 4 เดือนขึ้นไป จำหน่ายแบบยกตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท
ส่วนสุกรที่จำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จำหน่ายอยู่ 2 ช่วงอายุ ช่วงอายุที่ 1 สุกรอายุ 45-50 วัน น้ำหนักอยู่ที่ 15-20 กิโลกรัม ถ้าเป็นสุกรที่มี 2 สายพันธุ์ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 4,000 บาท และถ้าเป็นสุกรพันธุ์แท้เป็นสายพันธุ์เดียว ราคาจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 5,500 บาท ส่วนสุกรช่วงอายุที่ 2 เป็นสุกรสายพันธุ์แท้อายุ 4 เดือน น้ำหนักอยู่ที่ 120 กิโลกรัม จำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 15,000 บาท
สาเหตุที่สุกรสายพันธุ์แท้มีราคาที่แพงกว่าสายพันธุ์ลูกผสม 2 สาย คุณสมัคร บอกว่า เกษตรกร ผู้เลี้ยงรายอื่นๆ สามารถนำไปพัฒนาเป็นสุกร 2 สายพันธุ์ และสุกร 3 สายพันธุ์ได้ ซึ่งสายพันธุ์ลูกผสมเป็นการเลี้ยงขุนเพื่อจำหน่ายเขียงหมูตามตลาดทั่วไป
“การเลี้ยงสุกรให้ประสบผลสำเร็จ การผลิตเพื่อให้สุกรมีจุดขาย สำหรับผมถือว่าสำคัญมาก โดยการสร้างจุดเด่นให้สินค้า เราต้องเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะสายพันธุ์คุณภาพ จะให้เปอร์เซ็นต์เนื้อแดงสูง ซากสวยมีไขมันน้อย เนื้อแดงเยอะ เพราะฉะนั้นการเลี้ยงก็ต้องเลือกสายพันธุ์ที่ตลาดส่วนใหญ่รู้จัก และสายพันธุ์ที่น่าเชื่อถือ ก็จะทำให้ผลผลิตเนื้อสุกรมัดใจลูกค้าได้ไม่ยาก” คุณสมัคร บอก
สำหรับผู้เริ่มต้นที่อยากจะเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพ คุณสมัคร แนะนำว่า ให้ดูพื้นที่เลี้ยงก่อนอันดับแรกว่าเหมาะสมต่อการเลี้ยงสุกรหรือไม่ เพราะต้องเป็นพื้นที่ที่ไกลจากผู้คนพอสมควร เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคของสุกร การเลี้ยงควรเริ่มจากน้อยไปหามาก และเลี้ยงแบบช่วงอายุที่สลับกันไป ก็จะช่วยให้มีสุกรส่งจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสมัคร พิมพิลา หมายเลขโทรศัพท์ 093-323-5121
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354