งานอะโวกาโด ที่พบพระ

ธรรมชาติน่ายล ภูมิพลเขื่อนใหญ่ พระเจ้าตากเกรียงไกร เมืองไม้และป่างาม

การตัดสินการประกวดในงาน
ผลอะโวกาโดที่ส่งเข้าประกวด

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงยิ่ง หนึ่งเดือนเราได้เวียนมาพบกันหนึ่งครั้ง พร้อมเรื่องราวดีๆ มาบอกเล่าสู่กัน ในช่วงที่บ้านเมืองของเรายังประสบภาวะต้องป้องกันตนเองจากโรคร้าย ปัญหาฝนตกน้ำท่วม ปัญหาค่าครองชีพ ฯลฯ สารพันปัญหาที่ต้องพบ ยังดีที่เราเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรแต่อย่างน้อยเรายังมีอาหาร เพราะเรายังต้องกินวันละ 3 เวลา เมื่อท้องร้องก็คงไม่มีความสุขในการประกอบกิจการงานอื่นเท่าใดนัก

จากคำขวัญของจังหวัดตาก ที่เราเคยได้ยินกันมานาน อาจถึงคราวต้องเปลี่ยนโดยการเพิ่มคำขึ้นมาอีกดีไหมหนอ อย่างแรกคือ อุทยานไม้กลายเป็นหินที่สร้างสถิติใหม่ในตำแหน่งยาวที่สุดในโลก เมืองค้าขายชายแดนอันแสนคึกคักที่แม่สอด (แต่ตอนนี้ต้องหยุดไปเพราะโควิด-19) หรือกระทั่งคำว่า เมืองหลวงของอะโวกาโด ใช่ครับ วันนี้จะมาบอกเล่าเรื่องราวของอะโวกาโดที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

หั่นชิมกันไป

ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปร่วมงาน เทศกาลอะโวคาโด ที่ อบต.รวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่จัดงานกันตั้งแต่วันที่ 29-31 กรกฎาคม 2565 งานนี้ท่านนายก อบต. นายมณฑล สว่างนภาลัย และทีมงานทุกท่าน เนรมิตพื้นที่บริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลรวมไทยพัฒนา ให้เป็นเมืองอะโวกาโด มีเวทีกลางที่เป็นพื้นที่จัดประกวด เสวนา และกิจกรรมอื่นๆ บริเวณโดยรอบก็มีการมาออกร้าน สวนสนุก สนามแข่งขันกีฬาทั้งฟุตซอล วอลเล่ย์บอล เปตอง และชกมวย ตรงนี้ต้องยอมรับครับว่าจัดงานได้อลังการมากๆ

ผลอะโวกาโดดกเต็มต้น

แม่งานที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์โหน่ง นายธนากร โปทิกำชัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) และทีมงานทุกท่านที่เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ที่หันมาปลูกอะโวกาโดเป็นพืชสร้างเงินในพื้นที่อย่างมั่นคงต่อไป ข้อมูลที่อาจารย์โหน่งแจ้งให้ทราบคือ ประเทศไทย ยังนำเข้าผลอะโวกาโดแต่ละปีเป็นเงินมหาศาล ทำอย่างไรจึงจะลดการนำเข้าและมีผลที่ปลูกในบ้านเราเข้ามาทดแทน ในสายพันธุ์และคุณภาพที่ไม่แตกต่าง สำคัญกว่านั้นคือเป้าหมายที่วางไว้ให้พบพระเป็นเมืองอะโวกาโด ที่สามารถปลูกให้ได้ผลผลิตสู่ท้องตลาดได้ทั้งปี

“อาจารย์ครับ ให้มีผลทั้งปี จะทำได้หรือครับ”

“ได้แน่นอนครับ พื้นที่พบพระเหมาะมาก ดิน น้ำ สภาพอากาศ ความสูงของพื้นที่ ทุกอย่างลงตัวมาก”

“ทำอย่างไรจึงจะมีผลผลิตออกมาทั้งปีได้ครับ”

ท่านรองผู้ว่าฯ เดินชมงาน
คนมาเที่ยวงานภาคกลางคืน

“เราต้องปลูกหลายสายพันธุ์ครับ จะมีปฏิทินการให้ผลผลิตในวงรอบปีอยู่แล้วเช่น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ก็มีพันธุ์พื้นเมืองพบพระ พอเข้าเมษายนก็มีปีเตอร์สัน/รูเฮิล มิถุนายนก็บัคคาเนียร์ กรกฎาคมก็บูท 7/บูท 8 สิงหาคมก็พิงเคอร์ตัน กันยายนก็แฮสส์/แลมแฮสส์ ช่วงพฤศจิกายนจนถึงมกราคมก็สายพันธุ์ปากช่อง 2-8 เรียกว่ามีผลผลิตวนเวียนทั้งปีได้แน่นอน”

“พันธุ์อื่นๆ ก็ถือว่าเป็นพันธุ์ทางการตลาดก็น่าจะขายได้ แต่พันธุ์พื้นเมืองลูกค้าจะตอบรับอย่างไรครับ”

“เรามีการพัฒนาครับในทุกปีเราจะจัดประกวดสายพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีหลากหลายมาก ที่ดีก็เก็บไว้ ที่ไม่ผ่านก็จัดการเปลี่ยนยอดเป็นสายพันธุ์ดีเพื่อการค้าต่อไป”

“เปลี่ยนยังไงครับ”

“เอายอดใหม่สายพันธุ์ดีมาเปลี่ยนครับ ข้อดีคือมีต้นตอที่แข็งแรงแล้ว ผลผลิตใหม่ที่ออกมาก็จะเป็นสายพันธุ์ดี”

คณะกรรมการตัดสินการประกวดผล

งานนี้มีส่วนราชการมาร่วมด้วยมากมาย นำโดย ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสุรพล วงสุขพิศาล, นายอำเภอพบพระ นายสมพงษ์ ฟุ้งทวีวงศ์, ททท.จังหวัดตาก, เกษตรจังหวัดตาก ฯลฯ ในงานมีการประกวดธิดาอะโวกาโด, การประกวดอาหารคาวหวานที่ใช้อะโวกาโดเป็นวัตถุดิบ, ประกวดอะโวกาโดสายพันธุ์ต่างๆ, ประกวดร้องเพลง รวมถึงเสวนาเรื่องราวของอะโวกาโดและทิศทางในอนาคต ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องในพื้นที่และต่างพื้นที่มาร่วมงานจำนวนมาก และยังมีกิจกรรมตอนกลางคืน ทั้งแข่งมวยคาดเชือก สวนสนุก และการออกร้านของพ่อค้าแม่ค้าอย่างมากมาย ทราบมาว่า ทางท่านนายก อบต.ให้มาออกร้านกันฟรีๆ เลยทีเดียว ก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนกิจกรรมและผลผลิตในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีเลยครับ

ในงาน ผมได้ชิมอะโวกาโดที่เป็นสายพันธุ์ประจำสวนเด่นๆ ที่นำมาออกร้าน, อะโวกาโดที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าแต่ละสายพันธุ์ก็มีรูปร่างและรสชาติที่แตกต่างกัน มีทั้งมัน มีทั้งมันอมหวาน มีทั้งเนื้อเหนียวหนึบและมีร่วน เรียกว่าหลากหลายมาก ที่เราไม่สามารถซื้อกินได้ตามตลาดใดๆ ใครอยากชิมแบบนี้ต้องมาที่งานนี้เท่านั้น

เดินชมและชิมกันไป

พูดถึงอะโวกาโด ผมมักได้รับคำถามคล้ายๆ กันเสมอ “พื้นที่ไหนปลูกได้บ้าง” ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจึงนำคำถามนี้ไปสอบถาม อาจารย์โหน่ง – นายธนากร โปทิกำชัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญอะโวกาโดเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย

“อะโวกาโดสามารถปลูกได้ทุกที่ในเมืองไทยเราครับ”

“ไม่เกี่ยวกับสภาพอากาศหรือครับ”

น้องๆ พรีเซนเตอร์อะโวกาโด

“ความสูงของพื้นที่จะกำหนดว่าเราควรปลูกสายพันธุ์อะไรครับ เช่น พื้นที่ราบทั่วไป สายพันธุ์ที่ควรปลูกก็เป็น ปีเตอร์สัน บูท 7 บูท 8 บัคคาเนียร์ ส่วนพื้นที่สูงก็ปลูกได้ทุกสายพันธุ์ พวกแฮสส์ แลมแฮสส์นี่ต้องที่สูงเป็นหลักครับ”

“แสดงว่า สายพันธุ์ที่สูง หากมาปลูกพื้นราบจะไม่ได้ผลใช่ไหมครับอาจารย์”

“อาจไม่ได้หรือได้น้อยครับ เพราะพื้นที่ไม่เหมาะกับสายพันธุ์ของเขา”

“ทิศทางอะโวกาโดจะไปทางไหนครับอาจารย์”

“ผมเชื่อว่าไปได้ดีครับ ผลไม้เพื่อสุขภาพและความงาม นับวันจะมีผู้บริโภคมากขึ้น ปลูกเลยครับดีแน่นอน”

ต้นกล้าที่มีจำหน่ายในงาน

หลังจากได้ความรู้จากอาจารย์โหน่งแล้ว ผมเดินช็อปต้นกล้า (เสียบยอด) ในงานเลยครับ ต้นละ 100 บาทเท่านั้น สบายกระเป๋าเลย เพราะพื้นที่สวนผมเองก็เป็นที่ราบครับ ดังนั้น สายพันธุ์ที่ได้มาก็เป็นปีเตอร์สัน บัคคาเนียร์เป็นหลักเลย ส่วนพันธุ์อื่นติดมาเพื่อทดลองเท่านั้น และมีอีกจำนวนหนึ่งที่อาจารย์โหน่งมอบให้มาลองปลูกด้วยครับ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้มาปลูกอะโวกาโดกันเถิดครับ ดีแน่นอน


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354