“กัญชาด่าง” ไม้ประดับสวยงาม ของดีจังหวัดชัยนาท

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณคมกฤช สุขกุล เกษตรกรและนักวิชาการเกษตรอิสระ ได้ชักชวนนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านไปเยี่ยมชม “กัญชาด่าง” สินค้าเด่นของดีจังหวัดชัยนาท ที่เตรียมเปิดตัวในฐานะ “ไม้ประดับสวยงาม” ที่ใช้เวลาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2565

ต้นด่างชมพูเพชรชัยนาท

 

ปลูกเป็นพืชสมุนไพร

แต่กลายพันธุ์เป็นไม้ด่าง

ผู้ใหญ่ใหม่ เจ้าของสายพันธุ์กัญชาด่าง

คุณคมกฤช สุขกุล แนะนำให้รู้จักกับ คุณสามารถ เถกิงสรคันธุ์ ที่เรียกกันติดปากว่า “ผู้ใหญ่ใหม่” เจ้าของพันธุ์ “กัญชาด่าง” ที่อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองขุ่น อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โทร. 083-923-9291

ผู้ใหญ่ใหม่ บอกว่า ได้สายพันธุ์กัญชาด่างมาด้วยความบังเอิญ ก่อนหน้านี้ ผู้ใหญ่ด่างมีอาการป่วยจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องรักษาตัวอยู่นานนับปี จนได้เจอกับพระธุดงค์ท่านหนึ่ง ที่มอบเมล็ดพันธุ์กัญชาให้มาปลูกและใช้รักษาอาการตามตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านของไทย ปรากฏว่าช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้นในระยะเวลาไม่นาน

สำหรับเมล็ดพันธุ์กัญชาที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองหางกระรอก ที่มีความผิดปกติของยีนส์ต้นกัญชาทำให้เกิดต้นกัญชาพันธุ์ด่างปนมา 2 ต้น ในแปลงปลูกกัญชาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผู้ใหญ่ใหม่ ได้ทำการแยกต้นกัญชาด่างมาเพาะปลูกขยายพันธุ์จนถึงปัจจุบัน จำนวน 9 รุ่น (ปี 2561-2565) จนได้สายพันธุ์ที่นิ่งและมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน สามารถจำแนกได้ชัดเจนตามลักษณะเด่นของสี ต้น ใบ โดยทั้ง 5 สายพันธุ์ ที่คัดเลือกได้ทดลองปลูกสายพันธุ์ละ 20 ต้น โดยการปักชำกิ่ง ในจำนวนดังกล่าวพบว่ามี 18 ต้น ที่มีลักษณะเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน

ด่างขาวเพชรชัยนาท

 

การรวบรวม และศึกษาพันธุ์

ผู้ใหญ่ใหม่ เล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2562 ได้มีการรวบรวมทดลองปลูกและพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาเป็นจำนวนถึง 9 รุ่น โดยในแต่ละรุ่นจะเป็นการพัฒนามาจากการเพาะเมล็ด โดยในรุ่นที่ 1 นั้นเริ่มมีใบด่างแค่ 1-2 ใบเท่านั้น ใน 1 ต้น ส่วนใบอื่นๆ มีสีเขียวและบิดงอ รุ่นที่ 2-5 ใบด่าง เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นประมาณ 40-50% แต่ลักษณะใบยังไม่สวย มีใบม้วนและบิดงอบ้าง รุ่นที่ 6-8 ใบด่างเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประมาณ 60-80% แต่ลักษณะใบเริ่มสวย ไม่บิดงอ รุ่นที่ 9 ใบด่างเริ่มพัฒนาเต็มขึ้น ด่างสม่ำเสมอ ชัดเจนทุกใบใน 1 ต้น ประมาณ 90-100% ลักษณะใบสวยแผ่ ดูเด่นสง่า

คุณคมกฤช สุขกุล ที่ปรึกษาด้านวิชา เรื่องกัญชาด่าง

 

การคัดเลือกสายพันธุ์

ช่วงปี 2562-2564 ผู้ใหญ่ใหม่ ได้นำเมล็ดพันธุ์ที่คัดเก็บไว้ไปปลูกคัดเลือกเพื่อคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะความด่าง สีตามที่ต้องการมาขยายพันธุ์ โดยคัดเลือกมา 5 ต้น ที่มีลักษณะแตกต่างกันมาเพาะขยายให้มีการแยกจำแนกเป็น 5 สายพันธุ์ ตามลักษณะเด่นคือ สีที่แตกต่างบนใบ โดยใช้วิธีการปักชำ โดยขั้นแรกแบ่งปักชำสายพันธุ์ละ 5 ต้น โดยใช้ระยะเวลา 4-5 เดือน แบ่งการปักชำไปอีกสายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ละ 20 ต้น

ทุกคนชื่นชอบ “กัญชาด่าง” สินค้าเด่นของเมืองชัยนาท

ช่วงปี 2564-2565 ผู้ใหญ่ใหม่ เริ่มทำการอนุรักษ์พันธุกรรม ฟื้นฟูพันธุกรรม คัดเลือกพันธุ์ต้นกัญชาด่างได้ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ 1. ด่างขาวเพชรชัยนาท 689 2. ด่างเหลืองเพชรชัยนาท 888 3. ด่างเขียวเพชรชัยนาท 999 4. ด่างม่วงเพชรชัยนาท 989 5. ด่างชมพูเพชรชัยนาท 898

ผู้ใหญ่ใหม่ ได้เก็บเมล็ดพันธุ์ใส่โหลแก้วไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิช่องแช่ของปกติ และได้มีการนำเมล็ดออกมาทดสอบความงอกลงในดิน ซึ่งพบว่ามีอัตราการงอกไม่ต่ำกว่า 95% ของทุกเดือน

ในปี 2565 รัฐบาลได้เปิดให้มีการปลูกกัญชาเสรี เพื่อส่งเสริมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถนำเข้าและส่งออกไปเป็นไม้ประดับสวยงาม นำไปแปรรูปทั้งทางด้านเวชกรรม อุตสาหกรรม อาหาร และยารักษาโรค

ลักษณะใบด่างเหลืองเพชรชัยนาท

ผู้ใหญ่ใหม่ ได้พัฒนาสายพันธุ์กัญชาด่าง โดยทดลองนำใบ ต้น ราก มาต้มดื่มกินเป็นชาบำรุงร่างกายก่อนนอนทุกวัน ปรากฏว่านอนหลับสบาย ปัญหาสุขภาพในอดีตค่อยๆ หายไป ร่างกายแข็งแรงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงกล่าวได้ว่า กัญชาด่างก็มีสรรพคุณทางยาไม่แพ้ต้นกัญชาทั่วไป

ผู้ใหญ่ใหม่ มองว่า กัญชาด่าง มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ ในฐานะพืชสมุนไพรและไม้ประดับสวยงาม ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว ชุมชน และอาจจะขยายไปได้ถึงในระดับจังหวัด ผู้ใหญ่ใหม่ได้เรียนปรึกษาผู้ใหญ่ที่เคารพ 2 ท่าน คือ คุณอนุชา นาคาศัย และ คุณอนุสรณ์ นาคาศัย ว่าควรตั้งชื่อกัญชาด่างอย่างไรดี ก็ได้รับคำแนะนำว่า ควรให้ใช้ชื่อ “เพชรชัยนาท” เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดชัยนาท

ลักษณะเมล็ดพันธุ์กัญชาด่าง

สำหรับชื่อกัญชาด่างทั้ง 5 สายพันธุ์นั้น ผู้ใหญ่ใหม่ บอกว่า มีเอกลักษณ์เด่นที่แตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ โดยมี ลักษณะเหลือบสีเพิ่มเข้ามาที่ก้าน และปลายใบจึงเป็นที่มาของชื่อกัญชาด่างทั้ง 5 สายพันธุ์ ดังนี้ คือ 1. ด่างขาวเพชรชัยนาท 689 ที่มีสีขาวเด่นพราวทั้งต้น 2. ด่างเหลืองเพชรชัยนาท 888 มีจุดด่างเหลืองบริเวณปลายใบ 3. ด่างเขียวเพชรชัยนาท 999 มีสีเขียวเหลือบสะดุดตา  4. ด่างม่วงเพชรชัยนาท 989 มีสีม่วงบริเวณก้านใบ ราก และปลายใบ 5. ด่างชมพูเพชรชัยนาท 898 มีสีชมพูบริเวณก้านใบ ราก และปลายใบ นอกจากนี้ ยังพบว่าด่างชมพูเพชรชัยนาทและด่างม่วงเพชรชัยนาท ยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวในช่วงเดือนที่ 4-5 อีกด้วย

ต้นกัญชาด่างเขียวเพชรชัยนาท
ลักษณะใบกัญชาด่าง
กัญชาด่าง ของดีจังหวัดชัยนาท

คุณคมกฤช สุขกุล นักวิชาการเกษตรอิสระ มองว่า สำหรับกัญชาด่างในขณะนี้ พัฒนาถึงรุ่น F4 แล้ว ถือว่าสายพันธุ์นิ่งแล้ว ผู้ใหญ่ใหม่จึงยื่นขอจดทะเบียนรับรองพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตรแล้ว กัญชาด่าง เป็นพืชที่มีลักษณะเด่น เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นและมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นไม้ประดับสวยงามได้ในอนาคต


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354