“มะลิดิลิเวอรี่” สร้างยอดขายวันละครึ่งหมื่น ฝีมือเกษตรกรหนุ่มปทุมฯ เน้นคุณภาพ ทำน้อย แต่ได้มาก

“มะลิ” นับเป็นไม้ดอกที่มีบทบาทในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ด้วยเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ มะลิถือเป็นไม้มงคลใช้ในการบูชาพระ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ประจำวันแม่ เป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าทางจิตใจ สื่อความหมายที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกล และผลิดอกออกตลอดทั้งปี จึงส่งผลให้ดอกมะลิกลายเป็นไม้ดอกทำเงินให้กับเกษตรกรได้อย่างไม่ขาดสาย

ดอกมะลิของที่สวน สวยงามไปตามการปลูกการดูแลอย่างใส่ใจ

คุณศิระศักดิ์ กล่อมเสนาะ หรือ พี่เล็ก เจ้าของสวนมะลิศักดิ์ชัยคลอง 12 อาศัยอยู่ที่ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้สืบทอดสวนมะลิของครอบครัวที่ปลูกมายาวนานกว่า 20 ปี เน้นการปลูกอย่างมีคุณภาพ ดูแลให้ทั่วถึง เด่นที่การทำตลาดดิลิเวอรี่ส่งถึงหน้าร้านโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สร้างยอดขายวันละครึ่งหมื่น

พี่เล็ก เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้พ่อแม่ของตนเองเป็นเกษตรกรชาวสวนส้ม ปลูกส้มเขียวหวาน หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “ส้มรังสิต” แต่พอมาถึงช่วงสักประมาณปี 38 เกษตรกรชาวสวนส้มในโซนรังสิตต้องเผชิญกับโรคกรีนนิ่ง ส่งผลทำให้ส้มที่ปลูกทรุดโทรมและแห้งตาย และด้วยปัญหาเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้คุณพ่อและพี่ชายของตนเองเริ่มหันมาทดลองปลูกมะลิ ตามคำแนะนำของเกษตรกรที่รู้จักกัน โดยเริ่มปลูกจาก 50 ต้น เป็นการปลูกแทนที่ส้มเขียวหวานต้นที่โทรมหรือต้นที่ตายไป จนทำให้เห็นว่าการปลูกส้ม 1 ปี ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเพียง      1 ครั้ง แต่มะลิออกดอกเก็บได้ทุกวัน หลังจากนั้นจึงเริ่มขยับขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น และตนเองเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การปลูกมะลิจึงกลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้ครอบครัวจนถึงปัจจุบัน

คุณศิระศักดิ์ กล่อมเสนาะ หรือ พี่เล็ก

ปลูกมะลิ 14 ไร่
ทำตลาดดิลิเวอรี่
ผลผลิตไม่พอขาย

เจ้าของบอกว่า สำหรับการปลูกมะลิเด็ดดอกขาย จากความคิดเห็นส่วนตัวแล้วมีข้อดีอยู่ 3 ข้อด้วยกันคือ 1. มะลิเป็นไม้ดอกที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากมีรายได้หมุนเวียนทุกวัน เพราะมะลิออกดอกให้เก็บขายได้ทุกวัน 2. ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้นานหลายปี และ 3. เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เรื่องของความศรัทธาก็อยู่ตรงนี้ มะลิจึงกลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ดี ซึ่งในบางครั้งหรือบางจังหวะดอกมะลิมีราคาแพงกว่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ตรงนี้ถือเป็นกำไร แต่ถ้าหากช่วงไหนราคาถูกลง เจ้าของสวนก็ยังมีเงินให้กินให้ใช้อย่างไม่ขาดมือ

ระยะห่างระหว่างต้น 1.20 เมตร โดยประมาณ

โดยจุดเด่นเฉพาะของที่สวนคือเน้นการปลูกเอง ขายเอง ส่งดิลิเวอรี่ถึงมือพ่อค้าแม่ค้าโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือตลาดใหญ่ๆ โดยไอเดียการส่งมะลิดิลิเวอรี่ ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากที่สวนเคยถูกบีบมาจากตลาดใหญ่ๆ ทำให้สินค้าเราขายยาก โดนกดราคาบ้าง ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตนเองคิดว่าอีกไม่นานก็ต้องเลิกรากับอาชีพปลูกดอกมะลิแล้วกลับไปประกอบอาชีพค้าขายเหมือนเดิม จึงลองมาดัดแปลงทำกล่องสำหรับใส่ดอกมะลิต่อท้ายกับมอเตอร์ไซค์แล้วขับส่งไปตามร้าน โดยอาศัยจังหวะช่วงเทศกาล วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา หรือเป็นเทศกาลที่แม่ค้าต้องการใช้ดอกมะลิเยอะๆ เข้าไปเปิดตลาด พอหลังจากนั้นมาแม่ค้าก็เริ่มติดใจในคุณภาพของดอกมะลิของตนเอง และเริ่มติดต่อสั่งสินค้าเข้ามาเอง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการส่งดอกมะลิดิลิเวอรี่ เพราะทำให้แม่ค้าได้ดอกมะลิที่สดใหม่ทุกวัน เก็บรักษาได้นาน ไม่ช้ำ จนกลายมาเป็นลูกค้าประจำอยู่ประมาณ 20 กว่าเจ้า มีลูกค้าตั้งแต่โซนรังสิต ปทุมธานี รังสิต ลำลูกกา ไปจนถึงรามคำแหง วัชรพล และรามอินทรา

สภาพแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

เทคนิคการปลูก

สายพันธุ์มะลิ ที่ปลูกคือ พันธุ์เพชรบุรี จะมีลักษณะเด่นคือ ทนโรค ดอกมีน้ำหนักดี ก้านยาว ดอกแหลม แม่ค้าชอบ

การปลูก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก (ขี้วัว) และปูนขาวหรือโดโลไมท์ จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงหลุมปลูกได้เลย โดยสภาพพื้นดินบริเวณแถบปทุมธานีมีลักษณะเป็นดินเหนียว จึงต้องปลูกแบบยกร่องเหมือนร่องส้มในสมัยก่อน ซึ่งของที่สวนก็ปลูกทับสวนส้มเก่า ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 1.20 เมตร

ปลูกอย่างใส่ใจ เน้นคุณภาพ ดอกสวย สมบูรณ์เท่ากันทุกดอก

การดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ย

มะลิเป็นพืชที่ชอบน้ำมาก แต่ก็ขาดน้ำไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการปลูกในแต่ละฤดูกาลก็จะมีการให้น้ำที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าหากปลูกในหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน อากาศร้อนอาจจะต้องให้รดน้ำ 3 วันครั้ง หรือถ้าปลูกในช่วงหน้าหนาวอาจจะต้องรีบรดในช่วงเวลาประมาณตี 5 ถึง 6 โมงเช้า รดน้ำเพื่อป้องกันไล่ราน้ำค้าง

การบำรุงใส่ปุ๋ยบังคับให้มะลิออกดอกในช่วงที่ต้องการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกตัวอย่าง หากเกษตรกรต้องการเก็บดอกมะลิในวันที่ 1 กันยายน ดังนั้น ในวันที่ 1 สิงหาคม ก็จะทำการตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ยรดน้ำให้เรียบร้อย และผลผลิตก็จะออกมาให้เก็บในวันที่ 1 กันยายนพอดี

ดอกมะลิของที่สวน สวยงามไปตามการปลูกการดูแลอย่างใส่ใจ

โดยวิธีการใส่ปุ๋ยในระหว่างการบังคับดอก จะทำการใส่ปุ๋ยทางดิน 2 ครั้ง และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำทางใบจำนวน 4 ครั้ง สลับกับการฉีดพ่นสารชีวภาพอีก 4 ครั้ง เช่น ครั้งที่ 1 ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ครั้งที่ 2 นับไปอีก 3 วัน จะฉีดพ่นด้วยสารชีวภาพ สลับกันแบบนี้จนครบ จะช่วยในเรื่องของการแตกตาดอก และเมื่อแตกตาดอกออกมาแล้วให้พ่นฮอร์โมนบำรุงดอกเพื่อให้ดอกสมบูรณ์เสมอกัน  

เคล็ดลับสำคัญปลูกมะลิให้ได้คุณภาพ สำคัญที่สุดคือการดูแลเอาใจใส่ ต้องลงสำรวจตรวจแปลงทุกวันอย่าให้ขาด เพราะการทำเกษตรไม่สามารถบอกได้เป็นสูตรตายตัวว่าบำรุงใส่ปุ๋ยแบบไหนแล้วดี หรือบอกได้ว่าต้องปลูกแบบนั้น แบบนี้ถึงจะดี แต่จะปลูกให้ประสบความสำเร็จได้คือความใส่ใจในแต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปี “การปลูกมะลิเปรียบเสมือนการทำงานประจำ หากเราหยุดบ่อยๆ บริษัทก็ไล่เราออก สวนมะลิก็เช่นกันหากปล่อยทิ้งไว้ 2-3 วัน ลงแปลงทีผลผลิตก็ออกมาน้อย สวนของเราก็เจ๊งได้เหมือนกัน”

มะลิเป็นพืชไม่ชอบน้ำท่วม น้ำแฉะ จึงต้องปลูกแบบยกร่อง เพื่อช่วยระบายน้ำได้ดี

ปริมาณผลผลิต พื้นที่การปลูกมีทั้งหมด 14 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกเป็นล็อก มีล็อก 10 ไร่ กับล็อก   4 ไร่ และในล็อก 10 ไร่ จะแบ่งปลูกเป็น 4 ร่อง แล้วแบ่งตัดดอก 2 ร่อง เว้น 2 ร่อง แบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยผลผลิตที่เก็บได้เฉลี่ยประมาณ 25-30 ลิตรต่อวัน ราคาขายตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 มานี้ราคาดอกมะลิดีมาก อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยลิตรละ 200-300 บาท (1 ลิตร เท่ากับ 7 ขีด) เจ้าของสวนอยู่ได้สบายมากกับราคานี้ และในทางที่ดีราคาไม่ควรจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 150 บาท เพราะปุ๋ยยามีราคาสูงขึ้น บวกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกอย่าง แต่หากเปรียบเทียบกับต้นทุนแล้วราคากิโลกรัมละ 150 บาท ก็ยังคุ้มค่าเพราะสามารถเก็บดอกได้ทุกวัน ก็มีเงินหมุนไว้ใช้จ่ายภายในครอบครัว และยิ่งถ้าหากรู้จักเก็บ แบ่งไว้หยอดกระปุกสักวันละ 500 บาท เกษตรกรก็จะมีเงินเก็บทุกวัน วันละ 500 บาท หรือถ้ามีมากอาจจะแบ่งเก็บสักวันละ 1,000 บาท ก็จะมีเงินเก็บทุกวัน วันละ 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับรายได้และภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละคน  

แพ็กใส่ถุง จัดเรียงใส่กล่องโฟมเก็บความเย็น อย่างเบามือ

 

“มะลิดิลิเวอรี่” สะดวก รวดเร็ว
ของสดใหม่ทุกวัน ถูกใจแม่ค้า

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาด พี่เล็ก เล่าให้ฟังว่า โดยทั่วไปแล้วแม่ค้าที่รับซื้อจะชอบดอกมะลิที่มีราคาถูก ซึ่งพอซื้อไปแล้วใช้ได้แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือใช้ไม่ได้ แต่มะลิที่สวนของตนเองจะขายในราคาที่สูงกว่าร้านทั่วไป แต่สามารถการันตีคุณภาพสินค้าได้ว่าเมื่อซื้อไปแล้วใช้ได้เกือบทุกดอก และทนต่อการเก็บรักษา แม่ค้าจึงยอมจ่ายซื้อของที่สวนในราคาที่แพงกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งบ่งบอกได้ว่าการผลิตของทุกอย่างสิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพ ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกและการดูแลที่สวนจึงไม่เลือกปลูกในพื้นที่เยอะปลูกทีเดียวเป็น 10 ไร่ แต่จะแบ่งปลูกเป็นร่อง เอาแค่ที่ดูแลได้ทั่วถึง ไม่ทำแบบบ้าระห่ำ เมื่อดูแลทั่วถึงคุณภาพจะยิ่งสูง ราคาก็สูงขึ้นตาม

คนงานกำลังช่วยกันเก็บมะลิ เตรียมส่งลูกค้า

“อย่างตลาดขายลิตรละ 150 บาท แต่ของผมขายได้ลิตรละ 200 บาท แม่ค้าก็ซื้อผมเพราะเขารู้มืออยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปเปิดตลาดใหม่เราขายราคาแพงไม่ได้ เขาไม่ยอมรับครับ เพราะราคาแพงกว่าใครจะไปซื้อของเรา เราก็รอช่วงจังหวะที่ราคาแพง ถ้าอยากเปิดร้านใหม่ก็ไปเปิดตอนนี้ หลังจากนั้นถ้าของเราดีจริงก็สามารถขายในราคาที่สูงได้”

แพ็กใส่ถุง จัดเรียงใส่กล่องโฟมเก็บความเย็น อย่างเบามือ

และถัดมาสำหรับคนที่มีคำถามว่าตลาดมะลิยังสดใสหรือไม่ พี่เล็ก อธิบายเพิ่มเติมว่า ตลาดมะลิยังสดใสอยู่มาก แต่เพียงแค่ว่า ณ ปัจจุบันนี้การแข่งขันสูงขึ้น โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ลูกค้าไม่จำเป็นต้องสั่งทีละมากๆ ใช้เวลาขนส่งนานหลายวัน รวมถึงลูกค้าที่อยู่ไกล ไม่ว่าจะภาคไหน จังหวัดไหน ก็สามารถสั่งของได้ทั่วถึงกันหมด และรวดเร็วทันใจ เพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้อยู่รอด และรุ่งกับการปลูกมะลิก็คือการปรับตัว หากเกษตรกรท่านใดรู้จักปรับตัวและพัฒนา การทำการตลาดออนไลน์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยลืมตา    อ้าปากได้

ขั้นตอนล้างทำความสะอาดก่อนแพ็กใส่ถุงส่งแม่ค้า
แก๊งเก็บดอกมะลิตัวน้อย

ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่
ปลูกมะลิเด็ดดอกขายยังไงให้อยู่รอด

คำถามแรกเลยคือ คุณอยากจะทำเป็นอาชีพหลัก อาชีพรอง หรืออาชีพเสริม ถ้าทำเป็นอาชีพเสริม เราต้องถามว่าอาชีพหลักทำอะไร สมมุตว่าอาชีพหลักเราทำนา ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกประมาณ 3-4 เดือน แล้วอยากจะปลูกมะลิสร้างรายเสริมเป็นรายวัน ก็แนะนำให้ปลูก 200-300 ต้นก่อน แต่ถ้าอยากทำเป็นอาชีพหลักอย่างผม ก็ต้องถามว่าตลาดคุณอยู่ตรงไหน ถ้าเมื่อไหร่คุณไปพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ผมไม่แนะนำให้ทำเป็นอาชีพหลัก เพราะถึงเวลาราคาถูก ไม่มีใครรับของคุณหรอก นอกจากคุณจะปลูกเอง แล้วขายเอง จะเป็นส่วนของร้านดอกไม้ ร้อยพวงมาลัยขายเองก็ได้ ถ้าทำได้อันนี้ปลูกได้เต็มที่เลย แต่อย่าไปฝากความหวังไว้กับใคร เพราะมันฝากไว้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือคือต้องใช้การตลาดนำการผลิต” พี่เล็ก กล่าวทิ้งท้าย

ขั้นตอนล้างทำความสะอาดก่อนแพ็กใส่ถุงส่งแม่ค้า
ใส่กล่องเรียบร้อย เตรียมส่งดิลิเวอรี่ถึงมือลูกค้า ด้วยรถคู่ใจ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 090-417-5438 หรือติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก :  Sirasak Klomsanao


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354