ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มันสาคู หรือ สาคูไทย บางครั้งเรียกว่า สาคูขาว หรือ สาคูวิลาส เป็นไม้ล้มลุกมีอายุอยู่ได้หลายฤดู การปลูกมันสาคูส่วนใหญ่เพื่อสกัดแป้งจากเหง้า แป้งที่ได้มีสีขาว ไม่มีรส และไม่มีกลิ่นเมื่อแห้ง แป้งจากเหง้ามันสาคู ถือเป็นคาร์โบไฮเดรตบริสุทธิ์จากธรรมชาติแหล่งหนึ่งที่ปราศจากโปรตีนกลูเตนและคุณภาพดี ใช้ในการทำบิสกิต ขนมอบ เค้ก พุดดิ้ง และอาหารพื้นเมือง และจากคำบอกเล่าของเกษตรกรผู้ปลูกมันสาคูที่จังหวัดขอนแก่นเล่าให้ฟังว่า มันสาคูถือเป็นมันพื้นบ้านโบราณที่คนเฒ่าคนแก่นำมาต้มกินเป็นอาหารมานานแล้ว โดยในสมัยก่อนทุกบ้านจะมีปลูกติดบ้านไว้ บ้านละ 1-2 ต้น แต่ในปัจจุบันมันสาคูเริ่มหากินยาก มันสาคูจึงกลายเป็นพืชทางเลือกสร้างรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อย
คุณจุฑารัตน์ ปัสสา หรือ พี่จุ๊ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลป่าหวายนั่ง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น อดีตพนักงานประจำ ผันตัวสู่เกษตรกรปลูกมันสาคูสร้างรายได้ที่ตอนนี้ตลาดกำลังไปได้สวย
พี่จุ๊ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกมันสาคูให้ฟังว่า เมื่อก่อนทำงานเป็นพนักงานประจำอยู่ที่บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี พร้อมกับการขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริมควบคู่กันไป โดยสินค้าที่ขายหลักๆ จะเน้นเป็นอาหารพื้นบ้านที่รับจากอีกที่มาขายทำกำไรพอได้มีเงินเก็บเล็กๆ น้อยๆ จนมาถึงวันที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อกลับมาอยู่กับครอบครัว และเดินหน้าสู่การเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว โดยเลือกที่จะต่อยอดจากเดิมที่เคยรับของจากคนอื่นมาขาย ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาปลูกเอง ทำตลาดขายเองอย่างเต็มตัว
“หลังที่พี่ลาออกจากงาน พี่ก็เริ่มปลูกพืชพื้นบ้านทั่วไปก่อน โดยมีพ่อกับแม่เป็นผู้ช่วย จนมีอยู่วันหนึ่งพี่ได้ไปเดินตลาดและเห็นมีคนเอามาสาคูมาขาย แล้วเขาขายดี เลยสนใจอยากเอามาขายบ้าง และพอไปหาหัวมันมาขายได้ พี่ก็เริ่มจากการโพสต์ขายในตลาดออนไลน์เหมือนเดิม ก็ได้ผลตอบรับดีมาก ของที่ได้มาไม่พอขาย ซึ่งคิดว่าคงเป็นเพราะมีคนปลูกน้อยทำให้หากินยาก และอีกอย่างคือด้วยความที่มันสาคูเป็นพืชพื้นบ้านที่คนต่างจังหวัดรู้ดี โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปต่างต้องเคยลิ้มรสมันสาคูกันมาแล้ว แต่ไม่รู้จะไปหากินได้ที่ไหน ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปผู้คนเริ่มหาพืชอย่างอื่นมาปลูกแทน มันสาคูก็เริ่มสูญหายไป ทำให้พี่มองเห็นช่องทางทำกิน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เลือกปลูกมันสาคูสร้างรายได้”
“มันสาคู” อาหารพื้นบ้าน
ปลูกง่าย สร้างรายได้ดี
เจ้าของบอกว่า นับเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่คลุกคลีอยู่กับการปลูกมันสาคู ทำให้รู้ว่ามันสาคูเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยอะไรมากมาย และสามารถปลูกได้ในทุกสภาพอากาศ ขอแค่เพียงหมั่นดูแลกำจัดวัชพืชอยู่เป็นประจำ วิธีการปลูกไม่ยุ่งยากคล้ายกับการปลูกข่า ตะไคร้ทั่วไป สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งหัวและต้นพันธุ์ โดยที่สวนเริ่มจากการทดลองปลูกบนพื้นที่เพียงไม่ถึง 1 งาน หลังจากนั้นเมื่อผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ จึงได้มีการขยับขยายพื้นที่ปลูกบนพื้นที่ 1 ไร่
มันสาคูสามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน แต่ถ้าจะให้ดีและง่ายต่อการลงหัวต้องเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย
การเตรียมดิน ให้โรยปุ๋ยขี้ไก่รองพื้นแล้วใช้รถไถกลบ ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นยกร่องปลูก โดยที่สวนจะใช้ทั้งหัวพันธุ์และต้นพันธุ์ในการปลูก ตามความสะดวกในแต่ละช่วง และมีข้อแตกต่างกันคือ ถ้าปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์จะเน้นการแตกกอเยอะ แต่ถ้าต้องการเน้นผลผลิต ปลูกแล้วขึ้นง่าย แนะนำให้ปลูกโดยใช้หัวพันธุ์ ในระยะความห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร
การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย มันสาคูเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในทุกฤดูกาล หากปลูกในช่วงฤดูฝนก็แทบไม่ต้องรดน้ำ แต่เนื่องจากที่สวนเริ่มต้นปลูกในช่วงเดือนมกราคมเป็นหน้าแล้ง ที่สวนจึงจำเป็นต้องทำระบบน้ำหยด โดยจะเปิดรดอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30-40 นาที ดูความชุ่มชื้นของดินเป็นหลัก
ปุ๋ย หากปลูกกินเองใส่แค่ปุ๋ยคอกก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับเกษตรกรปลูกเพื่อจำหน่ายจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงเพิ่มเติมนิดหน่อย มันสาคูใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 8 เดือน อย่างของที่สวนเริ่มปลูกในช่วงเดือนมกราคม ภายในเดือนกันยายนจะเริ่มขุดหัวขายได้
ซึ่งในช่วงระยะการปลูก 8 เดือน จะมีการใส่ปุ๋ยทั้งหมด 2 ครั้ง คือช่วงหลังจากการลงหัวปลูกได้ประมาณ 2 เดือน เริ่มใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 สูตร 15-15-15 ปริมาณต้นละ 1 กำมือ แล้วพอเดือนที่ 6 ให้ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 สูตร 0-0-60 ปริมาณครึ่งกระสอบต่อไร่ เป็นสูตรช่วยเร่งหัว บำรุงหัว และช่วยทำให้รสชาติหวานขึ้น โดยปริมาณผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.5 กิโลกรัมต่อกอ มีทั้งหัวเล็กและหัวใหญ่คละกัน
ตลาดออนไลน์กำลังไปได้สวย
แนะมือใหม่อยากทำต้องมีตลาดรองรับ
สำหรับตลาดมันสาคู ณ ปัจจุบัน พี่จุ๊ บอกว่า ยังไปได้ดีสำหรับผู้ที่มีตลาดรองรับอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเป็นเกษตรกรมือใหม่แนะนำว่าควรศึกษาหาตลาดก่อนปลูก อย่าเชื่อคำโฆษณาเพียงเพราะเขาบอกว่าดี ปลูกแล้วรวย แต่ในชีวิตจริงมีอะไรมากกว่านั้น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ปลูกอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญคือเรื่องการตลาดที่มักเป็นจุดด้อยของใครหลายๆ คน เพราะฉะนั้นหากเกษตรกรมือใหม่สนใจก็ต้องศึกษาทางรอดให้ดีก่อน
“กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้พี่ก็ใช้เวลาทำตลาดออนไลน์มาก่อน ถึงทำให้ได้รู้ว่าตลาดมันสาคูยังมีความต้องการ และขายได้ในราคาค่อนข้างดี ขายได้ราคาเริ่มต้นตั้งแต่กิโลกรัมละ 50-120 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา หากผลผลิตของที่สวนออกมาเร็วกว่าสวนอื่นๆ ก็จะขายได้ในราคาที่ดี แต่ถ้าหากออกมาชนกับหลายๆ สวนก็ต้องขยับราคาลงมาหน่อย แต่จะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท รวมถึงการขายต้นพันธุ์ในราคาต้นละ 6 บาท หากสั่งซื้อ 20 ต้นขึ้นไปส่งฟรี โดยที่ผ่านมาเน้นทำตลาดออนไลน์เพียงช่องทางเดียว โดยลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อไปจะนำไปกินได้หลากหลาย ทั้งต้ม นึ่ง เผา กินคู่กับน้ำผึ้งบ้าง น้ำตาลบ้าง หรือบางคนนำไปบดทำเป็นแป้งสำหรับทำขนมก็ได้ รสชาติจะหวานนิด มัน เหนียว หนึบ หอม คล้ายข้าวโพดข้าวเหนียวต้ม ไฟเบอร์สูง ประโยชน์เยอะ มีออร์เดอร์สั่งซื้อทางออนไลน์เข้ามาทุกวัน วันละ 40-50 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 70 บาท เมื่อหักต้นทุนการจัดการออก 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือกำไร” พี่จุ๊ กล่าวทิ้งท้าย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 095-601-9699 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : Jutharat Passa
……………………………………….
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354