เปลี่ยนชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน! SUSTAINABILITY EXPO 2022 SX2022 : GOOD BALANCE, BETTER WORLD สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน2565 ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง”ดำเนินรายการโดย นายประพจน์ ภู่ทองคำ รายการสารคดีสภาชาวบ้าน และผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พ่อคำเดื่อง ภาษี ศูนย์ปราชญ์ชุมชนพ่อคำเดื่อง ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ และ คุณสุพจน์ โคมณี ประธานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งตัวแทนปราชญ์ชาวบ้านทั้งสองท่านสนับสนุนให้คนไทยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สร้างอาชีพ-แก้จน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“พ่อคำเดื่อง” ปลูกต้นไม้ทุกวัน

ชีวิตจึงร่ำรวยธรรมชาติ

พ่อคำเดื่อง ภาษี สุดยอดคนเกษตรแห่งแดนอีสาน ในอดีตเคยทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ช่วงแรกปลูกปอขายได้ราคาดี จึงกู้เงินมาขยายการลงทุนออกไปเรื่อยๆ ต่อมาเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดจนขาดทุน จึงกู้ยืมเงิน ธ.ก.ส. มาลงทุนปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง จนเป็นหนี้สินมากมาย พ่อคำเดื่อง เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถปลดหนี้สินได้ในที่สุด

“จน เครียด กินเหล้า” เป็นช่วงต่ำสุดของชีวิต พ่อคำเดื่องแก้ปัญหาโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรโดยใช้ต้นทุนธรรมชาติที่มีอยู่ คือ “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” ที่มีมากมายก่ายกอง แต่ทุกคนไม่เห็น คนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย สมัยก่อนเวลากินผลไม้ที่มีเมล็ด เช่น มะม่วง จะนำไปปลูกเพื่อให้ลูกหลานได้กินต่อจากรุ่นเรา พ่อคำเดื่อง เรียนรู้เข้าใจวัฏจักรของพืชและธรรมชาติ ออกแบบและวางแผนปลูกพืชให้ได้ผลเร็วใน 2 ปี ได้ป่าอุโมงค์ต้นไม้ ทำให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ และการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น

“ทุกวันนี้ มนุษย์ใช้โลกอย่างไม่ถูกต้อง พยายามกอบโกยทรัพยากรของโลกให้กับตัวเอง อย่าหวังใช้ชีวิตในโลกนี้อย่างมีความสุข เพราะทุกคนใช้ทรัพยากรโลกจนหมดโดยไม่ใส่คืน หากใส่คืน ทุกอย่าง โลกก็จะดีขึ้น คนรวยอยากย้ายไปดาวอังคาร โดยใช้ SpaceX ผมคิดว่า การสร้างบ้านใหม่บนดาวอังคาร ต้องทำฝน ทำอากาศใหม่ อย่ากระนั้นเลย เราทำบนโลกใบนี้ดีกว่า ภายใต้แนวคิด สร้างดาวดวงใหม่บนโลกใบเดิม บนเนื้อที่ 10 ไร่ เน้นการพึ่งพาตัวเองด้วยการปลูกป่า สร้างสิ่งแวดล้อมให้มั่นคง ยั่งยืน” พ่อคำเดื่อง กล่าว

พ่อคำเดื่อง ให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามากที่สุด หากเหลือเวลาอยู่ในโลกใบนี้ 3 นาที พ่อคำเดื่องตั้งใจปลูกต้นไม้ก่อนตาย เพราะต้นไม้ที่ปลูกจะช่วยลดปัญหาโลกร้อน และทำหน้าที่กรองอากาศให้กับผู้คนทั่วโลก 7 พันล้านคน หากไม่ปลูก มันจะเป็นอวกาศ การปลูกต้นไม้ คือสร้างโอกาส การปลูกต้นไม้ไม่ใช่เรื่องเสียเวลา แต่ได้เวลากลับมา ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะไม่เห็นความสำคัญของเวลา ควรปลูกต้นไม้ ทุกหย่อมหญ้า เพื่อให้เป็นโอกาสไม่ใช่เป็นอวกาศ

กล้าสัก ราคาต้นละ 20 บาท หากปลูก 20 ต้น มูลค่า 400 บาท ใช้เวลาปลูกไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อต้นสักอายุ 20 ปี สามารถปลูกบ้านได้ 1 หลัง โดยใช้เงินทุนค่าไม้สักแค่ 400 บาทเท่านั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้  เป็นการทิ้งเวลา ทิ้งอวกาศ หากรัฐบาลอยากส่งเสริมให้ชาวไทยมีบ้านไม้สักในอนาคต ให้ส่งเสริมปลูกไม้สักคนละ 20 ต้น ในอนาคตก็จะมีบ้านไม้สักอยู่อาศัยได้แล้ว

สุพจน์ โคมณี ใช้ระบบ “นาฉัน”

เชื่อมโยงชาวนากับคนซื้อข้าว

สุพจน์ โคมณี ประธานศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เล่าว่า ตั้งแต่ปี2538-2540 ธ.ก.ส. พาไปเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. รวมทั้งคุณสุพจน์ไปเรียนรู้หลักคิดและวิธีการทำเกษตรของปราชญ์ชาวบ้าน อย่างเช่น พ่อคำเดื่อง ภาษี แต่คุณสุพจน์ไม่เชื่อ จนกระทั่งประสบความล้มเหลวในการทำเกษตรถึง 2 ครั้ง

คุณสุพจน์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงอายุ 18 ปี ไม่มีเงินทุน ไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนปลูกข้าวโพด 200 ไร่ เพราะคิดว่า ทำมากย่อมได้มาก แต่อาชีพเกษตร อยู่เหนือการควบคุมธรรมชาติ เจอฝนแล้ง น้ำท่วม ต่อให้ขยันแทบตาย ก็ล้มเหลวได้ ธุรกิจเจ๊ง ต้องขายที่ดิน 20 ไร่ ที่จังหวัดเพชรบุรีเพื่อใช้หนี้ หลังตกงานไปรับจ้างเป็นแรงงานจับกังได้ 4 ปีเกิดอุบัติเหตุ กระดูกหลังแตก ทำงานหนักไม่ได้ จึงกลับบ้านเกิดที่อำเภอชุมแสง

แม่ให้ที่ดินทำกินอีก 48 ไร่ คุณสุพจน์ เคยทำใหญ่มาแล้ว ให้มากทำเล็กๆ ก็อายเขา จึงเช่าที่ดินเพิ่มเพื่อทำเกษตร ปี 2533 เกิดปัญหาเพลี้ยกระโดดระบาด ปี 2535 เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง “พฤกษทมิฬ” ราคาข้าวถูก แค่เกวียนละ 2,800 บาท ปี 2538 เกิดปัญหาน้ำท่วม เจอโชคร้าย 3 เหตุการณ์ใหญ่ ทำให้ชีวิตคุณสุพจน์ ล้มเหลวอีกครั้ง

“ผมเจ็บปวดที่สุดในชีวิตที่ต้องเอาที่ดินแม่ 28 ไร่ไปขายใช้หนี้อีกครั้ง ในวันที่หมดตัว ผมรู้สึกว่า วิธีคิดของผมไม่ถูกต้อง แม้ทำทุกวิถีทางแล้วยังเอาตัวไม่รอด ขณะที่คนอื่นทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังอยู่รอดได้ ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำงาน น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในชีวิต โดยนำที่ดิน 20 ไร่ที่เหลืออยู่ไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น  30:30:30:10 ลงมือทำเกษตรอย่างจริงจัง ปรากฎว่า 6 ปีผ่านไป สามารถปลดหนี้ ธ.ก.ส. 700,000 บาทได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่ยังทำอาชีพเดิมคือ เกษตรกร ผมเชื่อว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทยได้ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเปลี่ยนวิธีคิด สามารถประสบคววามสำเร็จในชีวิต ทั้งอาชีพและรายได้” คุณสุพจน์ กล่าว

คุณสุพจน์ มองว่า การปลูกข้าวมีกำไรมหาศาล คนที่เกี่ยวข้องกับชาวนา “รวยหมด” ตั้งแต่คนขายพันธุ์ข้าว คนขายปุ๋ย เจ้าของโรงสี คนขายข้าวสารก็รวย ยกเว้น “ชาวนา” ที่แบกรับความเสี่ยงในการลงทุนมาตลอด ปัจจุบัน คุณสุพจน์ได้เปิดตัวโครงการ “นาฉัน” ทำให้คุณสุพจน์ปลี่ยนบทบาทเป็นเจ้าของทุกกิจการที่เกี่ยวข้องกับการทำนา ตั้งแต่เป็นเจ้าของพันธุ์ข้าว เจ้าของโรงสี และเป็นคนขายข้าว ที่นี่ไม่ได้เน้นการเพิ่มผลผลิต แต่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า จากส่วนที่เหลือจากขบวนการแปรรูปข้าว เช่น แกลบ รำ ฯลฯ ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก

โครงการ “นาฉัน” เนื้อที่ 8 ไร่แห่งนี้ ได้ปรับยกร่องแปลงคันนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น วางระบบไฟฟ้า น้ำประปา ในรูปแบบท่อใต้ดินทั้งหมด สร้างเส้นทางถนน เพื่อพานักท่องเที่ยวเข้าศึกษาดูงานได้อย่างสะดวกสบาย และเปิดโอกาสให้คนเมืองประมาณ 50 ราย เป็นเจ้าของแปลงนา เรียกว่า “นาฉัน” เช่น คุณประพจน์สนใจสมัครเป็นเจ้าแปลงนา ไปถ่ายเซลฟี่ข้างแปลงนาที่ติดชื่อนาว่า “นาประพจน์” เจ้าของแปลงนาสามารถติดตามดูผลงานนาฉันได้ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก วิธีการปลูก ดูแลเก็บเกี่ยว

“ที่ผ่านมา ทุกคนถูกแยกออกหมด คนกินไม่รู้ว่ากินข้าวใคร คนปลูกก็ไม่รู้ว่าใครกิน ความห่วงใย ไม่เกิดขึ้น แต่ระบบนาฉัน เมื่อนายประพจน์และครอบครัวไปเยี่ยมแปลงนา ทำให้รู้ว่า คนเหล่านี้คือ ผู้ร่วมเป็นเจ้าของ เป็นคนที่กินข้าวเรา โครงการ “นาฉัน” ทำให้คนกินและคนปลูก เกิดความห่วงใยกัน และเป็นการเชื่อมโยงตลาดจากแปลงนาถึงผู้บริโภค ทุกวันนี้ข้าวขายดี จนไม่พอขาย” คุณสุพจน์ กล่าว

คุณสุพจน์ เปิดตัวโครงการนาฉัน ตั้งแต่ปี 2560 สามารถขายข้าวได้ตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 บาท ขณะที่ข้าวในท้องตลาดทั่วไป ขายที่กิโลกรัมละ 30 บาท คุณสุพจน์ขอความร่วมมือสมาชิกแปลงนาฉันทุกรายให้ช่วยซื้อข้าวในราคาแพงหน่อย เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้ หลังจากนั้นจะทยอยลดราคาข้าวลง ในปีนี้ สมาชิกแปลงนาฉัน ซื้อข้าวได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ปี 2566 สมาชิกทุกคนจะได้กินข้าวที่ราคา กิโลกรัมละ 50 บาทเพราะการดูแลช่วยเหลือกันทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง  เมื่อโครงการ “นาฉัน” ประสบความสำเร็จด้วยดี คุณสุพจน์จึงอยากเผยแพร่แนวคิดโครงการ “นาฉัน” ในวงกว้าง เพราะเชื่อว่า แนวคิดนี้จะช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชาวนา และช่วยให้ผู้บริโภค มีแปลงนาและมีข้าวกินเป็นของตัวเอง

คุณสุพจน์ เชื่อว่า อาชีพการทำนาอยู่ได้ สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และทำงานอย่างมีความสุข จึงส่งลูกชายไปเรียนเกษตรที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้กลับมาทำนา ส่วนลูกสาวส่งไปเรียนด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ตอนนี้ลูกๆ เรียนจบกลับมาช่วยต่อยอดกิจการเกษตรของครอบครัวได้แล้ว

ที่ผ่านมา คุณสุพจน์นำผลผลิตสินค้าเกษตรไปวางขายในตลาด ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง  5 โมงเย็น โดยมั่นใจว่า ตัวเองทำตลาดเก่ง สร้างฐานตลาดที่มั่นคงให้ลูกหลาน แต่ลูกๆ แนะนำให้พ่อเปลี่ยนไปขายตลาดออนไลน์ดีกว่า เพราะวิธีการตลาดรูปแบบเดิมกำลังหมดยุค คนรุ่นใหม่ไม่ชอบซื้อแบบนี้แล้ว มันเสียเวลา เมื่อเทียบกับการขายสินค้าออนไลน์ ลูกค้าเห็นสินค้า เงินเข้าตลอด

หากใครติดต่อผลงานคุณสุพจน์ทางเฟสบุ๊ค จะรู้ว่า ขณะนี้ คุณสุพจน์ได้นำที่ดิน 32 ไร่ มาดำเนินงานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิด “แผ่นดินของพ่อ” โดยขุดสระน้ำเนื้อที่ 5 ไร่ เป็นรูปแผนที่ประเทศไทย มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปลูกต้นไม้ประจำจังหวัดทั้ง 77 แห่ง และปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบสระ

การทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อาชีพเกษตรกรของคุณ     สุพจน์ก้าวสู่ความสำเร็จ คุณสุพจน์จึงอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ หลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อคนไทยโดยจำลองรูปแบบศูนย์การศึกษาอันเนื่องมาจากการพัฒนาตามพระราชดำริ 6 แห่ง ในพื้นที่แห่งนี้ เช่น ห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ เขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี ฯลฯ นำเสนอข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบคิวอาร์โค้ด เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้รับรู้ว่า การจัดตั้งศูนย์การศึกษาตามแนวพระราชดำริเกิดขึ้นได้อย่างไร และสภาพในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมโครงการดังกล่าวได้ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป

…………………

#SX2022 #GoodBalance #BetterWorld #BetterMe #BetterLiving #BetterCommunity

#SustainabilityExpo #SustainabilityExpo2022 #Sustainability #พอเพียงยั่งยืนเพื่อโลก

#FrasersProperty #GC #SCG #ThaiBev #ThaiUnion


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354