อดีตสถาปนิกสู่นักพัฒนา ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง

ในปัจจุบันธุรกิจฟาร์มสเตย์ถือเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแล้วยังได้เรียนรู้วิถีชุมชนอีกด้วย เลยไม่แปลกใจที่คนเมืองจะหาเวลาไปท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงฟาร์มสเตย์อยู่บ่อยครั้ง และหลายท่านยังมีความฝันเล็กๆ ว่าเมื่อเกษียณจากงานประจำแล้วอยากจะเปิดฟาร์มสเตย์ที่ต่างจังหวัดดูบ้าง บทความนี้ผู้เขียนจะพามารู้จักคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว เจ้าของฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง ทั้งยังเป็นนักพัฒนาชุมชนอีกด้วย

สมาชิกไร่คืนรังและนักท่องเที่ยว

คุณพงศ์ภูนาถ รุ่งเรือง หรือ คุณเซล อายุ 28 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง ตั้งอยู่ที่ 87 หมู่ที่ 14 ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณเซลมีความสนใจในการเกษตรตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ขณะศึกษาอยู่เคยเข้าร่วมโครงการกับเดอะคลาวด์ (the cloud) ซึ่งมีโครงการที่รับอาสาสมัครไปทำการเกษตรที่เชียงใหม่เป็นเวลา 7 วัน ทำให้คุณเซลรู้สึกรักในการทำเกษตรกรรมมากขึ้น แต่เมื่อจบการศึกษาและทำงานได้ระยะหนึ่งก็ถูกเรียกตัวกลับมาช่วยพ่อทำกิจการร้านอาหารที่บ้าน

ครอบครัวคุณเซล

กล่าวถึงคุณพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนที่มีกิจกรรมยามว่างชอบแต่งสวนในบ้าน และสุดท้ายจึงมาแต่งสวนเป็นร้านอาหารและทำมายาวนาน โดยมีความฝันว่าอยากมีไร่เป็นของตนเองในบั้นปลายชีวิต ส่วนคุณแม่ของคุณเซลประกอบอาชีพเป็นพยาบาล กิจการร้านอาหารถูกดำเนินต่อไประยะหนึ่งก่อนจะมีสายฟ้าฟาดลงมาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อร้านอาหารที่ทำมาจนเลี้ยงสามชีวิตได้ กลับต้องมีเหตุให้คืนกิจการให้กับเจ้าของที่ดินและย้ายไปหาที่ตั้งรกรากใหม่ถาวรในเวลาต่อมา

ผักออร์แกนิกที่ปลูกด้วยใจ

ด้วยสุดท้ายบั้นปลายชีวิต

จะกลับสู่คืนถิ่นดินผืนไร่

เมื่อถึงจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต ทำให้คุณพ่อของคุณเซลตกตะกอนว่าสุดท้ายแล้วคนเราก็ต้องกลับคืนถิ่น คล้ายกับนกที่กลับรัง ถึงจะเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่คงเหมาะสมแก่เวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำในสิ่งที่รัก จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะไปพัฒนาที่ดินที่เคยซื้อไว้ที่จังหวัดนครราชสีมา

Advertisement

ช่วงเวลานั้นคุณเซลกำลังบวชเรียนและเคยคาดว่าจะไม่สึกเพราะมีความสุขกับการบวชเรียนมาก แต่เมื่อมานึกขึ้นได้ว่าความสุขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวและสู้ไปด้วยกัน จึงตัดสินใจลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตกับครอบครัว

พ่อและแม่ของคุณเซล

คุณเซล เสริมว่า จังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเคยคิดว่ายังไม่พอ เรายังอยากเที่ยว อยากท่องโลก เราลองถอยออกมาก้าวหนึ่งแล้วมองว่าอะไรที่เราต้องการและมีความสุข ความสุขของเซลคือความสุขในการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว

Advertisement

“ใครๆ ก็บอกว่าที่ตรงนี้ไม่มีอะไรเลย งั้นขอคนเมืองอย่างเราท้าทายกับมันหน่อย”

จากพ่อแม่ลูกคนเมือง 3 คน มายืนอยู่หน้าผืนดินโล่งๆ 23 ไร่ จึงต้องมีแต่คำว่าสู้เท่านั้น ถึงแม้ทั้งสามจะไม่มีใครเคยประกอบอาชีพทางการเกษตรมาก่อน แต่เมื่อตัดสินใจแล้วทุกคนก็พร้อมที่จะมาช่วยกันลงมือทำ ซึ่งขณะนั้นคุณแม่ของคุณเซลที่มีอาชีพเป็นพยาบาลก็ได้เกษียณอายุก่อนกำหนดเพื่อมาช่วยกันพัฒนาที่ดิน

ไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้

สัดส่วนของที่ดิน 23 ไร่ ได้ถูกจัดสรรพื้นที่โดยขุดเป็นบ่อรอบพื้นที่ประมาณ 30 ส่วน เพราะน้ำมีความสำคัญต่อการทำการเกษตรเป็นอย่างมาก ต่อมา 20 ส่วนเป็นต้นไม้จำพวกไม้ป่าไม้ยืนต้น อาทิ ประดู่ มะฮอกกานี จามจุรี ถัดมาเป็นนาข้าวออร์แกนิก 10 ส่วน ปศุสัตว์ 20 ส่วน ประกอบด้วยควาย 3 ตัว เป็ด 40 ตัว ไก่ไข่ 100 ตัว และส่วนสุดท้ายคือที่พัก 3 หลัง คิดเป็นประมาณ 20 ส่วน นอกจากนั้นปลูกมะพร้าว 80 ต้น และที่เหลือเป็นมะขามเทศ

ทั้งหมดนี้คือการพยายามที่จะสร้างความสมบูรณ์และหลากหลายให้ได้มากที่สุด และแน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นส่วนประกอบที่สมบูรณ์ในการที่จะเป็นฟาร์มสเตย์

ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่

อุปสรรคแรกคือดิน

แก้โดยใช้หลักการทำเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture)

เมื่อคิดจะทำการเกษตรแบบยั่งยืนจึงต้องแก้ปัญหาดินก่อนเพราะดินเป็นดินเค็ม คุณเซลจึงยึดหลักหัวใจในการทำเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture) มาพัฒนาที่ดิน โดยหลักการคร่าวๆ ของทฤษฎีนี้คือ

1. ปล่อยให้หญ้าขึ้น จะไม่ไถกลบ ไม่ใช้เครื่องจักรเพราะรากของหญ้ามีความสำคัญเนื่องจากสังเคราะห์แสงและทำให้เกิดคาร์บอนในดิน เมื่อรากของหญ้าชอนไชก็ทำให้ดินมีช่องว่างและมีคุณภาพที่ดีขึ้น เมื่อหญ้าสูงก็ปล่อยให้ควายมากิน และเมื่อกินหมดก็ย้ายควายไปกินหญ้าในพื้นที่บริเวณอื่นต่อ

2. ต่อเนื่องจากข้อแรก เมื่อควายกินหญ้าแล้วถ่ายมูลออกมา หน้าดินจะมีขี้ควายทับถมกันไปบนดินชั้นบนทำให้ดินดีขึ้น เมื่อดินดีจะเกิดจุลินทรีย์และแบคทีเรียในดิน ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติให้แก่พืช คุณเซลเชื่อในจุลินทรีย์เล็กๆ ที่ช่วยโลกใบนี้ ดินจะอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไถกลบเพื่อเอาดินชั้นล่างขึ้นมา เพราะดินชั้นล่างในพื้นที่มีความเค็มมากไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก

3. การทำป่าอาหาร (food forest) เป็นวิธีการเลียนแบบการมีอยู่ของระบบนิเวศในป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายและเกื้อกูลกัน ส่วนนี้มีการปลูกพืชที่หลากหลาย เช่น ต้นไม้ที่อีก 10 ปีที่โตขึ้นไปเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ หรือไม้ทรงพุ่มสลับกันไป ส่วนนี้ทำเป็นแปลงสาธิตอยู่ 30×30 เมตร ถ้าได้ผลดีค่อยขยายพื้นที่ออกไป

นาข้าว

ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน

การเป็นคนหน้าใหม่ในพื้นที่ ก็ต้องการการพิสูจน์เช่นกัน

ปัญหาพื้นฐานที่ครอบครัวของคุณเซลต้องเจอคือการเป็นหน้าใหม่ในพื้นที่ คุณพ่อของคุณเซลเลือกซื้อที่ดินผืนนี้เพราะอยู่ใกล้กับที่ดินของเพื่อนสนิท แต่ด้วยความเป็นคนหน้าใหม่จึงต้องปรับตัวกับชุมชนมาโดยตลอด อย่างเช่น ในระยะแรกที่คนในพื้นที่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงปลูกต้นไม้เป็นจำนวนมากและทำนาข้าวเป็นจำนวนน้อย ทั้งๆ ที่ข้าวน่าจะสร้างรายได้มากกว่า และการที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลยจะได้ผลผลิตดีได้อย่างไร

คุณเซลกับควายที่เลี้ยงไว้

ครอบครัวคุณเซลจึงใช้เวลาพิสูจน์ ชาวบ้านจะเดินมาดูเรื่อยๆ แล้วถามว่าทำแบบนี้คืออะไร อะไรคือน้ำหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทำไมต้องทำออร์แกนิก สุดท้ายแล้วไปบรรจบที่ตัวเงิน ชาวบ้านมาบ่นว่าทำ 10 กว่าไร่ได้เงินน้อยมากเพราะข้าวเปลือกราคาตก ซึ่งคุณเซลทำ 3 ไร่ แต่ได้กำไรพอสมควรเพราะกรรมวิธีการลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยและน้ำหมักจากธรรมชาติ จากนั้นชาวบ้านจึงเปิดใจเข้ามาเรียนรู้ คุณเซลจึงใช้โอกาสนี้ในการถ่ายทอดความรู้และการปฏิบัติเกษตรอินทรีย์ ซึ่งการเรียนรู้ของชาวบ้านเป็นการเรียนรู้ที่พัฒนาจากระดับครอบครัวไปยังระดับชุมชนในเวลาต่อมา

การฟาดรวงข้าวเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดร่วงลงมา

จากความอุตสาหะ

สู่ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง

เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว คุณเซลจึงตัดสินใจจดวิสาหกิจชุมชนฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง โดยผลิตภัณฑ์แรกคือข้าวออร์แกนิกของไร่และของชาวบ้านที่หันมาทำนาข้าวออร์แกนิก ออร์แกนิกในที่นี้คือการทำเกษตรอินทรีย์ที่เน้นเรื่องปุ๋ยหมักและไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและกำจัดศัตรูพืชโดยมนุษย์ ศัตรูพืชหลักๆ คือหอยเชอรี่และนกปากห่าง แก้ปัญหาโดยอนุญาตให้ชาวบ้านมาหาหอยไปทำอาหารกันได้ ส่วนนกปากห่างที่มากินหอย เมื่อจำนวนหอยลดลง นกก็บินมาลงที่นาน้อยลงเพราะไม่มีอาหาร ต่อมาเรื่องปู ก็ให้คนก็มาหาปูได้

“ใครจะมาหาหอยหาปูมาเลยไม่คิดเงินแต่แค่ทำกับข้าวมาเผื่อกัน”

นักท่องเที่ยว

ความสัมพันธ์ที่น่ารักและถ้อยทีถ้อยอาศัย สุดท้ายแล้วพื้นที่การเกษตรของชุมชนก็กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากๆ จนชาวบ้านบอกไม่ต้องเข้าป่าหรือไปหนองเพื่อหาอาหารกินแล้ว อยู่บ้านก็ได้กิน ถือว่าสำเร็จเป็นธุรกิจฟาร์มสเตย์กึ่งชุมชนที่พัฒนาชุมชนไปด้วย มากไปกว่านั้นยังการันตีด้วยรางวัลหลากหลาย อาทิ รางวัล Entrepreneurship Competition in Tourism (ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว) ซึ่งเป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นไฟนอลลิสต์ท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก ต่อมาได้แก่รางวัลนวัตกรรมสร้างสรรค์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โครงการ TAT GYM 2021 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และโครงการนักพัฒนาชุมชน Roots Incubation Program ซึ่งเป็นโครงการของคนรุ่นใหม่ที่มีใจอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด และอื่นๆ อีกมากมาย

บ้านพัก

ทำความเข้าใจ

การท่องเที่ยวฟาร์มสเตย์

การท่องเที่ยวฟาร์มสเตย์คือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ศึกษาวิถีชุมชนด้วย โดยหัวใจหลักของฟาร์มสเตย์ไร่คืนรังคือ การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า หลักการคืออยากให้คนได้ใช้ชีวิตให้ช้าลง เพราะเมื่อเราช้าลงแล้วจะมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากขึ้น

ในส่วนของที่พักมีจำนวน 3 หลัง มีห้องหนึ่งออกแบบสำหรับผู้สูงอายุคือจะมีเตียงนอนให้ ในขณะที่อีก 2 ห้องจะเป็นเสื่อกางมุ้งแบบฉบับวิถีชีวิตดั้งเดิมจริงๆ การจัดสรรพื้นที่ทั้งหมดและในส่วนของการรับนักท่องเที่ยวนั้น เป็นปริมาณที่พิจารณาแล้วว่า 3 คนพ่อแม่ลูกดูแลได้ ถ้ามากกว่านี้อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง “ลูกค้าที่เข้ามาต้องเข้าใจก่อนว่าเราเป็นยังไง ต้องจองล่วงหน้าเพราะอย่างน้อยต้องคุยทำความเข้าใจให้รู้จักเราก่อน เพราะหากเกิดผิดพลาดทางความเข้าใจอาจจะเกิดความผิดหวังจากการคาดหวัง จึงต้องจองก่อน 2 หรือ 3 วัน เพราะอยากรู้จักซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อน”

ห้องพัก

เมื่อรับนักท่องเที่ยวแล้วก็ต้องมีตารางกิจกรรม กิจกรรมจะเป็นรูปแบบพักผ่อนสบายๆ หากเดินทางถึงฟาร์มจะมีสปาเท้าต้อนรับ เป็นน้ำอุ่นกับเกลือสมุนไพร และมีน้ำผักผลไม้ปลอดสารจากชุมชนให้ได้ชิม มื้อเย็นกินหมูกระทะ กลางคืนอาจจะนั่งคุยกันภายใต้แสงจันทร์ หากหน้าหนาวอากาศจะเย็นสบาย เช้ามากินอาหารเช้าและเที่ยวชมฟาร์ม กินอาหารเที่ยง ช่วงบ่ายเป็นฐานกิจกรรมชุมชนที่จะศึกษาการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชน เช่น การทำศาลพระภูมิ การเลี้ยงวัวที่เป็นการออมทรัพย์ของชาวบ้าน ชมสวนสมุนไพรออร์แกนิกของชาวบ้าน เมื่อถึงตอนเย็นสามารถขี่จักรยานไปชมวิวและพระอาทิตย์ตกดินที่อ่างเก็บน้ำในชุมชนได้ เมื่อกลับที่พักและพักผ่อนแล้ว ตอนเช้าหากใครประสงค์จะทำบุญก็มีพระสงฆ์ผ่านหมู่บ้าน

สำรับอาหาร

แผนในอนาคต

เนื่องจากโครงการนี้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เสริม แต่คุณเซลจะบอกชาวบ้านเสมอว่านี่ไม่ใช่รายได้หลัก ไม่ต้องหยุดงานเพื่อมาทำ ในระยะหลังๆ คุณเซลทำการขยายไปติดต่อชุมชนอื่นเพื่อให้นักท่องเที่ยวไปชุมชนอื่นด้วย และมีเป้าหมายว่าใน 1 ปีจะขยายไปชุมชนอื่นปีละ 1 ชุมชน

แผนต่อมาต่อเนื่องจากการเลือกทำการเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture) ที่เลือกวิธีนี้เพราะอนาคตอยากขายคาร์บอนเครดิต คือการบ่งบอกว่าพื้นที่ของเรามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในดิน ซึ่งเมื่อมีมากเท่าไหร่ก็จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้มากเท่านั้น ส่วนนี้เป็นการเกษตรรักษ์โลก ซึ่งในไทยยังถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก แต่ในหลายๆ ประเทศเริ่มทำกันแล้ว เช่น บนถุงผักที่ขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีฉลากแปะว่าคือผักที่มาจากการทำการเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน หลักการนี้ยังเกี่ยวโยงกับหลักการความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ที่มีจุดประสงค์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ที่โลกเรามีเป้าหมายกำหนดให้ทำได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ส่วนนี้สำคัญในการรักษ์ที่ดินของตนเองและรักษ์โลกด้วย

บรรยากาศนักท่องเที่ยวร่วมกินอาหารเย็นที่ที่พัก

หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมฟาร์มเสตย์ไร่คืนรัง สามารถเข้าไปชมที่เพจเฟซบุ๊กชื่อ ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรังRkr Farmstay หรือโทร. 089-244-1369

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354