เผยแพร่ |
---|
จากความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่ประสบปัญหาด้านเงินทุนที่ไม่เพียงพอในการดำเนินกิจการ กรมประมงจึงได้มีการดำเนินงาน “โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564” (คชก.64) ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร โดยได้รับอนุมัติเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ภายใต้วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่กู้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2569 ครอบคลุมพื้นที่ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั้งสิ้น 35 จังหวัด
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลฯ ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2565 มีมติอนุมัติให้เพิ่ม “รูปแบบ การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) ขนาดเล็ก” เป็นรูปแบบกิจกรรมหลัก ภายใต้กิจกรรมที่ 1 ลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการติดตั้งชุด Solar cell ต่อกับเครื่องเติมอากาศ เช่น เครื่องตีน้ำ ใบพัดตีน้ำ รูทโบลเวอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ แบบ 1 ชุดต่อ 1 เครื่อง
ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทั้งรูปแบบ ออฟกริด (off grid) หรือแบบ ออนกริด (on grid) และไฮบริด (hybrid) ซึ่งใช้ไฟฟ้าจาก 2 แหล่งจ่าย คือ Solar cell ร่วมกับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า เกษตรกรจึงสามารถใช้เครื่องเติมอากาศได้ตลอดเวลาตามความต้องการทั้งในช่วงที่มีแสงแดดและไม่มีแสงแดด ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ชุดละประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน โดยใช้เงินลงทุนชุดละประมาณ 30,000-50,000 บาท อายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี และใช้ระยะเวลาคืนทุนเพียงประมาณ 1 ปีครึ่ง เพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อและได้รับการสนับสนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยจากโครงการเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่มีความพร้อมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดเอกสารการสมัครได้ที่หน้าเว็บไซต์กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หัวข้อ “โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564” และยื่นเอกสารการสมัครได้ ณ ศูนย์ที่รับผิดชอบโครงการในพื้นที่
หากเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ให้บริการตอบคำถาม (Help Desk) ทาง Line @ “COASTALCARES” (Line ID : @281jxxaj) หรือสอบถามได้ที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและพัฒนาธุรกิจ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทร. 02-940-6295 และ 02-561-3997 ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ