ยก “ทุเรียนเบตง” สู่สินค้าเกษตร มูลค่าสูงตามแผน 13

ภาคเกษตรถูกกำหนดเป็นหมุดหมายที่ 1 ในแผน 13 โดยเขียนไว้ว่า “ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง” โดยไทยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจาก “ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย” ไปสู่การผลิตสินค้าคุณภาพสูงที่ “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก” โดยในปี 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของภาคการเกษตรและการแปรรูปที่เกี่ยวข้องมีมูลค่าๆ 1,477,589 ล้านบาท

แต่ไทยมีจุดอ่อน ข้อจำกัด และอุปสรรคที่สำคัญในการยกระดับการพัฒนาภาคเกษตรของไทย อาทิ ขาดน้ำเพื่อการเกษตร การเพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ขาดการเชื่อมโยงในลักษณะของคลัสเตอร์ตลอดห่วงโซ่มูลค่าของสถาบันเกษตรกรและเครือข่าย ความไม่สอดคล้องกันของปริมาณและคุณภาพผลผลิตกับความต้องการของตลาดทั้งในด้านการบริโภคทางตรงและการเป็นวัตถุดิบแปรรูปผลิตภัณฑ์ การผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม ความตระหนักของผู้ผลิตและผู้บริโภคเกี่ยวกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่เฉพาะเจาะจงยังมีการใช้ไม่มาก เป็นต้น

นายธัชธาวินท์ สะรุโณ อดีตผู้เชี่ยวชาญ สวพ.8  กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแผน 13 ด้านเกษตรจึงตั้งเป้าหมายการพัฒนา เช่น มูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสูงขึ้นรายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า 537,000 บาท ต่อครัวเรือน พื้นที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการเพื่อคุณภาพ ความมั่นคงอาหาร และความยั่งยืนของภาคเกษตร เพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เป็นต้น

โดย กลยุทธ์การพัฒนา ใช้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมุ่งเป้าเพื่อให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมการผลิตและการขยายตัวของตลาดของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การขยายผลรูปแบบเกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีมูลค่าเพิ่มสูงจากแบบอย่างความสำเร็จในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เกษตรปลอดภัย วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวเกษตร การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรและการพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงภาคีต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการในพื้นที่ เป็นต้น โดยกรณีตัวอย่างการพัฒนาที่น่าสนใจ คือ “ทุเรียนเบตง”

“ทุเรียนเบตง ต้นแบบสินค้าเกษตรมูลค่าสูง”

นางสาวสุวิมล วงศ์พลัง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สวพ.8 กล่าวว่า ทุเรียนเบตงเหมาะที่จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูงตามแผน 13 โดยนำจุดเด่นเรื่องคุณภาพมาบวกกับลักษณะพิเศษทางภูมิสังคม ส่วนภาพรวมทุเรียนจังหวัดยะลา มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 82,000 ไร่ ผลผลิตของทุเรียนยะลา มีชื่อเสียงมานาน ได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนอร่อยจากชายแดนใต้ แต่ปัจจุบันเจอปัญหาผลผลิตทุเรียนมีหนอน โดย สสก.5 รายงานเมื่อปี 2561 พบมีผลผลิตเสียหายจากการเข้าทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน 5,710 ตัน คิดเป็นร้อยละ 24 ของผลผลิต ทำให้เป็นปัญหาฉุดดึงความน่าเชื่อถือของทุเรียนยะลาลงมา ส่งผลไปยังเรื่องการขายในตลาดแห่งการแข่งขันที่ทำให้ได้ราคาตกต่ำลงด้วย นอกจากนั้นสนง.เกษตรจังหวัดยะลา (2565) รายงานว่าแต่มีทุเรียนเกรด A และ B เพียงราว 11% ซึ่งถือว่าเป็น “จุดท้าทายการพัฒนา” ในการยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้นกว่านี้

และจากการพบปะพูดคุยกับเกษตรกร GAP ดีเด่น คุณวิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์ (สวนเฮียเต๋อ ทุเรียนเบตง) พบว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน อย่างฤดูที่ผ่าน ผลผลิตรอบที่ขายส่งออก 18 ตัน พบหนอนในผลทุเรียน แค่ 8 ลูก (ราว 0.1%)  จึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการนำไปขยายผลในการผลิตทุเรียนคุณภาพ

ประกอบกับอำเภอเบตงมีเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ คือตั้งอยู่ในแนวทิวเขาสันกาลาคีรี มีลักษณะคล้ายหัวหอกพุ่งไปอยู่ในดินแดนประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่เป็นที่ราบสูงเนินเขา ลุ่มน้ำ พื้นที่ทั่วไปสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,900 ฟุต ตัวเมืองเบตงอยู่ห่างจากด่านชายแดนเบตงเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า เป็นเมืองหน้าด่านที่จะนำสินค้าเข้าออกไปยังท่าเรือน้ำลึกปีนังของมาเลเซีย สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป ประมาณ 27.5-28.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,281.6 มิลลิเมตร ต่อปี มีฝนตกเฉลี่ย 135 วัน ต่อปี การปลูกทุเรียนในเบตงจึงมีเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์หลายอย่างที่แตกต่างจากอำเภออื่นๆ เช่น พื้นที่สูง อากาศหนาวเย็น มีสายหมอก และมีบ่อน้ำร้อน เป็นต้น

เฮียเต๋อ วิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์ (สวนเฮียเต๋อ ทุเรียนเบตง) เกษตรกร ที่ ศวพ.ยะลา สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร คัดเลือกเป็น GAP ดีเด่นภาคใต้ตอนล่าง และจังหวัดคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น ทำสวนทุเรียนอยู่ที่อำเภอเบตง เล่าว่า เป้าหมายของการทำสวนคือผลิตทุเรียนเกรดคุณภาพดีพรีเมี่ยม เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจของตลาด สวนเราการันตีเรื่องความอร่อย และลูกค้าเชื่อถือมาก เช่น มูซานคิง ขายโลละ 600 ก็ขายหมดเพราะคุณภาพเราดีและอยากให้รายอื่นๆ มีการผลิตเกรดคุณภาพกันมากๆ จะได้เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนเบตง เฮียเต๋อ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนยินดีให้ข้อมูลการจัดการสวนแก่เกษตรกรทุกคน เพื่อจะได้ช่วยกันผลิตทุเรียนเบตงให้มีคุณภาพ โดยศวพ.ยะลา ได้ถอดหลักวิชาการในการจัดการดูแลสวนทุเรียนเฮียเต๋อ ไว้ดังนี้

กันยายน – สำรวจการระบาดศัตรูพืช กำจัดวัชพืช และตัดแต่งกิ่ง – ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 12.5 กิโลกรัม/ต้น – หลังจากนั้น 4-5 วันใส่ปูนขาว และโดโลไมต์ 5 กิโลกรัม/ต้น – ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-0-0 จำนวน 4-5 กิโลกรัม/ต้น – เว้น 15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จำนวน 3-5 กิโลกรัม/ต้น

ตุลาคม – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ – ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-0-0 จำนวน 4-5 กิโลกรัม/ต้น – เว้น 15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จำนวน 3-5 กิโลกรัม/ต้น – ใส่แมกนีเซียม จำนวน 1.5 กิโลกรัม/ต้น

พฤศจิกายน – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ – เว้นระยะ 1 เดือน เพื่อทำการพักต้น

ธันวาคม – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – ฉีดพ่นฮอร์โมน – ใส่โบรอน 400 กรัม/ต้น ตามด้วย แมกนีเซียม 1 กิโลกรัม/ต้น

มกราคม – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 จำนวน 1.5 กิโลกรัม/ต้น – เว้น 15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 จำนวน 1.5 กิโลกรัม/ต้น

กุมภาพันธ์ – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ – สำรวจการติดดอก

มีนาคม – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – ฉีดพ่นฮอร์โมน – ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

เมษายน – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 จำนวน 1.5 กิโลกรัม/ต้น- ฉีดพ่นฮอร์โมน – ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

พฤษภาคม – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช

มิถุนายน – กันยายน – สำรวจการระบาดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืช – เก็บเกี่ยวผลผลิต (หยุดการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน)

นายธัชธาวินท์ สะรุโณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่าจากความโดดเด่นและดีเด่นของทุเรียนเบตง จึงน่าที่จะยกระดับทุเรียนเบตงให้เป็นต้นแบบทุเรียนดีมีคุณภาพมีอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ และนำมาทำเป็นทุเรียนเบตง GI หรือสร้างแบรนด์เบตงขึ้นมาโดยเฉพาะ แนวความคิดการยกระดับทุเรียนคุณภาพดีของเบตงออกมาจากกลุ่มที่ยังมีปัญหาในการผลิต จะช่วยส่งเสริมเกษตรกรที่ต้องการผลิตเกรดคุณภาพ และช่วยให้ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าดีมีความมั่นใจ พูดกันในเชิงกลยุทธ์การพัฒนา คือ กลุ่มไหนพร้อม นับ 8 แล้ว ก็ส่งเสริมให้เดินไปก่อนจนถึง 10 ส่วนกลุ่มที่นับ 4 ก็พัฒนาว่ากันไปตามบริบทของเกษตรกร

นายชัชนนท์ เต็มนา นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศวพ.ยะลา ผู้มีส่วนในการผลักดันคุณภาพทุเรียนเบตงกล่าวว่า ศวพ.ยะลา รับรอง GAP ทุเรียน GAP ยะลาไปแล้ว 1,759 ราย 9,919.75 ไร่ และเห็นด้วยที่จะมีการทำทุเรียนเบตง GI โดยมีขั้นตอนเคร่าๆ คือ หน่วยงานเกษตร เป็นต้นเรื่องไปหารือรองผู้ว่าด้านเศรษฐกิจขอความเห็นชอบเบื้องต้น จากนั้นตั้งคณะทำงาน ที่ประกอบด้วยจังหวัด เกษตร พาณิชย์ มหาวิทยาลัย ล้ง ภาคเอกชน และเกษตรกรผู้นำ เป็นต้น ประชุมจัดทำคำขอ จัดทำข้อมูล และเสนอขอ GI ต่อกระทรวงพาณิชย์

ส่วนชื่อทาง GI เช่น “ทุเรียนเบตง” หรือ “ทุเรียนในสายหมอก” ขอบเขตพื้นที่ผลิต อำเภอเบตง หรือในกรณีใช่ชื่อทุเรียนในสายหมอก ก็รวมอำเภออื่นๆ ด้วยที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมือนกัน โดยความโดดเด่นเชิงภูมิศาสตร์คือความสูงจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิต่ำและมีหมอก ซึ่งส่งผลต่อพื้นฐานทางการเจริญเติบโต และคุณภาพ ที่แตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป พร้อมกับร่างเกณฑ์คุณภาพ เช่น GAP% หนอนเจาะผล ระยะการเก็บเกี่ยว เปอร์เซ็นต์แป้ง ความหวาน เนื้อสัมผัส  เป็นต้น

GI (Geographical Indications) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ