ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่น่าจับตามอง เมื่อประเทศญี่ปุ่นแสดงตัวในการลงทุนก่อสร้างโรงงานรับซื้อไม้ในกลุ่มที่มีศักยภาพในการให้พลังงานเชื้อเพลิงสูงจากเกษตรกรภาคใต้ของไทย ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และไม้ในสกุลอะเคเซีย (Acada Species) ซึ่งได้แก่ไม้ในกลุ่มกระถิน เช่น กระถินณรงค์ กระถินเทพา เป็นต้น
โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่ม JCS ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจในการลงทุน และร่วมทุนก่อตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด หรือ Wood Pellet ในประเทศไทย จำนวน 20 โรงงาน และมีเป้าหมายการผลิตจำนวน 5 ล้านตัน ต่อปี เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะประเทศญี่ปุ่นมองว่า ความต้องการด้านเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เนื่องจากมีนโยบายต้องการลดปริมาณการใช้ถ่านหินและการยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงหันมามองการผลิตเชื้อเพลิงโดยใช้วัตถุดิบจากไม้ ประมาณ 5 จิกะวัตต์ (GW) ในปี ค.ศ. 2019

ประเทศไทย เป็นประเทศที่ประเทศญี่ปุ่นมองว่า มีศักยภาพในการผลิตวัตถุดิบเชื้อเพลิงเหล่านี้ส่งต่อให้กับประเทศญี่ปุ่นได้ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท JC Services จำกัด ได้ลงนามร่วมทุนกับบริษัท นัมเบอร์ไนน์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย กำลังผลิตประมาณ 700 ตัน ต่อวัน เป็นโรงงานแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดพังงา และมีการลงนามร่วมทุนในการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดเพิ่มอีก กับบริษัท นัมเบอร์ไนน์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด และบริษัท เอ็น เค ดีสคัพเวอร์รี่ จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดอีก 3 โรงงานเพิ่มเติม ในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และจังหวัดชลบุรี รวมกำลังผลิตทั้งหมด 1 ล้านตัน ต่อปี
ด้วยเหตุนี้ จึงมองย้อนมาที่ประเทศไทย ประเทศที่ญี่ปุ่นมองว่า มีศักยภาพในการป้อนไม้สำหรับผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดให้กับประเทศญี่ปุ่นได้ในระยะยาว จะสามารถจัดการป้อนไม้สำหรับผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดได้ระยะยาวได้จริงหรือ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับกลุ่ม JSC ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น ในการดำเนินการวิจัยและนวัตกรรมการจัดการวัตถุดิบที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงจากไม้โตเร็ว สำหรับโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นระยะยาว โดยมุ่งเน้นการผลิตไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน การจัดการสวนยางพาราแบบผสมผสาน โดยการใช้ระบบมาตรฐานการจัดการอย่างยั่งยืนตามแนวทาง FSC (Forest Stewardship Council) เข้ามาเพื่อการันตี มีความถูกต้องตามกฎหมายและความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นโอกาสดีสำหรับการเจริญเติบโตของไม้เศรษฐกิจ การสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่เกษตรไม่เหมาะสม ปรับมาปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน รวมถึงการดำเนินการแบบเกษตรแปลงใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาล
“ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่เป็นเป้าหมายในการนำไปผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด ซึ่งประเทศไทยจะโค่นยางก็ต่อเมื่อต้นยางพารามีอายุ 25 ปี เพราะระหว่างนั้นมูลค่าของยางพาราอยู่ที่น้ำยางพาราที่เกษตรกรสามารถกรีดนำไปจำหน่ายได้ ส่วนไม้โตเร็วในสกุลอะเคเซียนั้น เราจะส่งเสริมให้ปลูกร่วมยาง เป็นการปลูกแทรกระหว่างแถวและต้นในสวนยางพารา โดยสามารถตัดขายในอายุไม้ 3-5 ปี สำหรับต้นยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นไม้ที่ให้พลังงานและเจริญเติบโตเร็ว ไม่สามารถปลูกร่วมในสวนยางพาราได้ เพราะจะทำให้หน้าดินเสื่อมสภาพเร็ว จึงควรปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร และสามารถตัดไปผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดได้ในอายุไม้ 3-5 ปี เช่นกัน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวนศาสตร์ จะต้องเข้าไปดูเรื่องของการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจสูงสุดด้วย” ดร.จงรัก กล่าว

Mr.Masami Nakakubo CEO บริษัท JC Service จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล และมีกำหนดเริ่มเดินเครื่องในปี ค.ศ. 2019 จึงวางเป้าหมายการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด จำนวน 20 โรงงาน กำลังผลิตประมาณโรงงานละ 250,000 ตัน ต่อปี ซึ่งเบื้องต้นโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด จำนวน 6 โรงงาน จะก่อสร้างในประเทศไทย โดยพื้นที่เป้าหมายคือภาคใต้ เนื่องจากมีระบบการขนส่งทางเรือที่เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม การเลือกประเทศไทยในการก่อตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดนั้น เนื่องจากไม้ยางพาราของประเทศไทยมีศักยภาพ มีการโค่นไม้เพื่อปลูกทดแทนปีละประมาณ 4-5 แสนไร่ ต่อปี มีผลผลิตทางด้านเนื้อไม้เข้าสู่ตลาดประมาณ 43 ล้านตัน ต่อปี และหากมีการส่งเสริมให้ปลูกไม้โตเร็ว นำส่วนที่เหลือทิ้งหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ เช่น รากไม้ยางพารา ปีกไม้ยางพารา นำมาทำอัดเม็ดเป็นเชื้อเพลิงจากไม้ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อีกทาง

ดร.วระชาติ ทนังผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัมเบอร์ไนน์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทร่วมทุนการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย กำลังผลิตประมาณ 700 ตัน ต่อวัน เป็นโรงงานแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดพังงา ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่ม JSC ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น เข้ามายังพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงศักยภาพไม้โตเร็วในพื้นที่ของประเทศไทยมากว่า 1 ปีแล้ว ก่อนจะตัดสินใจเลือกพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นฐานการผลิตใหญ่ เนื่องจากภาคใต้เป็นพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดของประเทศไทย ซึ่งไม้ยางพาราที่มีอายุ 25 ปี ต้องขายไม้ ส่วนที่เป็นลำต้นจะถูกนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือวัสดุที่มีมูลค่าสูงได้ ยกเว้น ส่วนปลายไม้ ปีกไม้และรากไม้ ซึ่งถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้ต่ำ และทั้งสามส่วนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำนี้ เมื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่าเดิม
“สำหรับโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด โดยบริษัท นัมเบอร์ไนน์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เป็นผู้ร่วมทุนในการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกในจังหวัดพังงา และอีก 2 แห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่ มูลค่าการก่อสร้าง 800 ล้านบาท ต่อโรง ความคุ้มทุนอยู่ที่ 3-4 ปี เป็นการถือหุ้นในสัดส่วนต่างชาติ 40 เปอร์เซ็นต์ มีความสามารถในการผลิตเชื้อเพลิงจากไม้โตเร็วในพื้นที่ รวม 3 โรงงาน ได้มากถึง 7.5 แสนตัน ต่อปี ไม้ที่โรงงานรับซื้อ หากเป็นไม้ยางพาราต้องอายุไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี ส่วนไม้โตเร็วประเภทอื่น ควรมีอายุ 2-3 ปี ก็สามารถตัดมาจำหน่ายได้ เพราะเป็นไม้ที่มีค่าความร้อนในระดับที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดได้”
สำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้โตเร็วร่วมยางพาราระหว่างร่องสวน ก็เป็นวิธีการเพิ่มรายได้จากการทำสวนยางพาราอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะสามารถขายไม้โตเร็วเหล่านั้นได้ในระหว่างที่ต้นยางพาราอยู่ในระยะกรีด และแม้ว่า ไม้ยางพาราจะสามารถตัดขายเพื่อส่งเข้าโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดได้ขณะที่ไม้ยางพารามีอายุ 6-7 ปีก็ตาม แต่ไม้ยางพารายังสามารถกรีดน้ำยางจำหน่ายได้ ซึ่งได้ราคาดีกว่าการจำหน่ายเนื้อไม้ขณะอายุไม้ 6-7 ปี อีกด้วย จึงควรใช้เฉพาะส่วนที่เป็นปีกไม้ ปลายไม้และรากไม้ของยางพาราในการนำเข้าโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ดจะดีกว่า
การก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงไม้อัดเม็ด หากมองในมุมของการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ดร.วระชาติ คำนวณจากความสามารถในการใช้ไม้สำหรับผลิตเชื้อเพลิงไม้อัดเม็ดในแต่ละวัน ไม่เกิน 1,000 ตัน ต่อโรงงาน คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไร่ละ 3,000-5,000 บาท ต่อปี
น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าไม้โตเร็ว ร่วมกับการจัดการพื้นที่สวนยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มรายได้