แรงงานวิกฤตขาด 3 ล้าน ม.44 ซื้อเวลา 120 วันอุ้มธุรกิจ

บิ๊กตู่ใช้ ม.44 แก้ปมแรงงานต่างด้าว ชะลอบังคับใช้ 3 มาตราบทลงโทษหนักอีก 120 วัน ขีดเส้นลูกจ้าง-นายจ้างทำให้ถูกต้องก่อนลุยลงดาบเข้ม แจงยิบไม่เร่งแก้สินค้าส่งออก 2 แสนล้าน เจอกีดกันการค้า กกร.ถกตัวเลขต่างด้าว 6 ล้านคน ผิดกฎหมาย 50% หวั่นคุมเข้มกระทบแรงงานขาดทั้งระบบ สมาคมประมงต้องการ 7.4 หมื่นคน วอนรัฐกู้วิกฤต กรมการจัดหางานออก 6 มาตรการช่วย ส่งทีมบินด่วนเจรจาเมียนมา ก่อนถกกัมพูชา-ลาว

แม้ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนการบังคับใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีผลตั้งแต่ 23 มิ.ย. 2560 ของสมาคม องค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงานจะถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการเมื่อ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ยังเคลื่อนไหวเรียกร้อง เพราะวิตกกังวลอัตราโทษตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายกำหนดบทลงโทษทั้งปรับ จำคุกไว้ค่อนข้างหนักและรุนแรง

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ผ่อนปรนให้กับนายจ้าง โดยให้ระยะเวลา 120 วันแก้ไขปัญหาลูกจ้างคนต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ม.44 ชะลอ 3 มาตราโทษหนัก

นายวิษณุกล่าวภายหลังการหารือร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ รมว.แรงงาน อธิบดีกรมจัดหางาน ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตัวแทนจากคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เพื่อพิจารณาการแก้ปัญหาผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชอบให้ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว รวม 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101, 102 และ 122 ออกไป 120 วัน ทั้ง 3 มาตราเป็นฐานความผิดสถานหนักที่จะลงโทษผู้ประกอบการและลูกจ้างต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ 23 มิ.ย. 2560 ระหว่างนี้จะไม่มีการกวดขัน จับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ยกเว้นความผิดฐานค้ามนุษย์

เจรจาเปิดช่องจดทะเบียน

นายวิษณุกล่าวว่า ในช่วงการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้บางมาตรา จะแบ่งกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ได้อนุญาตตั้งแต่ต้น จะผลักดันออกนอกประเทศ เพื่อขออนุญาตให้ถูกต้องในประเทศต้นทาง เช่น เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา

โดยกระทรวงแรงงานจะใช้ช่องทางการเจรจากับประเทศต้นทาง เพื่อจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายบริเวณชายแดน โดยเจ้าหน้าที่ของประเทศต้นทางตรวจสอบและออกใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีช่องทางจดทะเบียนเพื่อออกใบอนุญาตที่ศูนย์บุคคลของเมียนมาในไทย 5 ศูนย์ อาทิ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ อ.แม่สอด แม่สาย และช่องทางอื่นหากประเทศต้นทางอนุญาต เช่น การจดทะเบียนออกใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์

2.กลุ่มที่เข้าเมืองมาถูกกฎหมาย แต่ไปใช้แรงงานในสถานที่หรือบริษัทผู้ประกอบกิจการที่ใบอนุญาตไม่ได้กำหนดไว้ ให้เดินทางไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งเปลี่ยนสถานที่ใช้แรงงาน ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงดำเนินการ ช่องทางนี้สามารถทำได้เกินกว่า 120 วัน

ปัดขยายเวลาจดทะเบียน

สำหรับข้อเสนอ กกร. 4 ข้อ รัฐบาลรับข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ ข้อ 2 ขอให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายลูก ข้อ 3 ปัญหาการจ่ายเงินชดเชยกรณีลูกจ้างต้องกลับไปประเทศต้นทาง เพื่อกลับเข้ามาใหม่ และข้อ 4 เรื่องการประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจแก่นายจ้าง

“ยกเว้นข้อ 1 ที่เสนอให้รัฐบาลตั้งหน่วยหรือศูนย์จดทะเบียนขึ้นใหม่ในประเทศเนื่องจากไทยได้ลงนาม MOU ไว้กับ3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ว่า จะแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายโดยส่งกลับไปยังประเทศต้นทางเพื่อตรวจสอบ ถ้าหากเปลี่ยนให้มาจดทะเบียนภายในประเทศจะผิดเงื่อนไข พันธะการลงนาม MOU เปรียบเสมือนรัฐบาลไทยเองล้มกระดานที่เคยได้เจรจากันไว้ และต้องมีการเจรจากันใหม่อีกครั้ง”

นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวที่รออยู่บริเวณตามแนวชายแดนทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมากเพื่อมาจดทะเบียนในประเทศโดยผิดกฎหมายเข้าเมืองจนมีปัญหาอื่นตามมา

“นายกฯได้ให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาว่า 1.รัฐบาลยังเคารพพันธกรณีที่ทำไว้กับต่างประเทศ 2.การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ จะไม่ใช้ปัญหาของการใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ มาเป็นอุปสรรคและจะเข้มงวดมากขึ้น 3.เพื่อผ่อนคลายผลกระทบควรชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราออกไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน”

“บิ๊กตู่” เข้มแก้ปัญหาค้ามนุษย์

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ว่า รัฐบาลนี้ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วนและส่งผลกระทบรุนแรง ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม มีปัญหาเชื่อมโยงมากมาย ทั้งแรงงานทาส แรงงานต่างด้าว ขอทาน โสเภณี และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ความเสียหายทางเศรษฐกิจ เฉพาะในส่วนของการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และแรงงานทาส หากไม่เร่งแก้ไข อาจถูกกีดกันสินค้าประมง มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

เมื่อรัฐบาลและ คสช.เข้ามา ได้จัดการกับปัญหาอย่างครบวงจร ส่งผลให้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของไทย อันดับดีขึ้นในปีที่ผ่านมา และคงอยู่ในระดับเดิมในปีนี้ มาจากความทุ่มเทและบูรณาการ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และเจ้าหน้าที่อย่างเด็ดขาด การป้องกันผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ คุ้มครองเหยื่อและพยาน และสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งในและระหว่างประเทศ

คาดโทษวินัย-อาญา จนท.รัฐ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการประเมินใด ๆ ซึ่งเป็นมุมมองจากภายนอก ก็คือการปกป้องคุ้มครอง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้หลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นสำคัญ จึงขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันแก้ปัญหาเรื้อรังของประเทศนี้ให้ได้อย่างยั่งยืน

“ซึ่งจะทำได้ก็จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ จากข้าราชการพลเรือน-ตำรวจ- ทหาร-อัยการ-ศาล ต้องช่วยกันขจัดวงจรค้ามนุษย์ออกจากบ้านเมืองให้ได้ รัฐบาลจะเข้มงวด ลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องผู้ที่ไม่ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ หากมีการเรียกรับผลประโยชน์จะต้องปรับย้าย สอบสวนในทันที เมื่อพบว่ามีการกระทำผิดจริง ก็ต้องมีโทษทั้งทางอาญา และทางวินัย ไล่ออก ปลดออก”

ออก 6 มาตรการแก้ปัญหา

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากผ่อนปรนให้ 120 วันแล้ว ในส่วนของกรมการจัดหางานมีมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบอีก 6 มาตรการ 1.กรณีใช้ลูกจ้างโดยไปเอาลูกจ้างของคนอื่น ถือเป็นความผิด ตามกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 4 แสนบาท จะผ่อนปรนให้เปลี่ยนตัวนายจ้างได้ โดยให้ออกใบอนุญาตทำงานหรือ Work Permit ใหม่ ค่าใช้จ่าย 100 บาท

2.ต่างด้าวที่มีบัตรสีชมพู ให้ออกใบพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยก่อนไปขอ Work Permit ภายใน 15 วัน สามารถทำงานต่อได้ 4 ปี 3.กรมการจัดหางานได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เดินทางด่วนไปเมียนมาเมื่อ 29 มิ.ย.เจรจาขยายกรอบความร่วมมือตาม MOU ด้านแรงงานที่ทำไว้กับเมียนมา ให้ต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางชั่วคราว มาออกใบพิสูจน์สัญชาติได้เลยก่อนขอ Work Permit

ให้อธิบดีประมงแก้แรงงานขาด

4.กลุ่มที่มี Passport และมี VISA นักท่องเที่ยว แต่อยู่เกินเวลา และลักลอบทำงาน จะหารือเมียนมาให้เปลี่ยนมาเป็น VISA 5.กลุ่มที่ไม่มีเอกสารใด ๆ แต่ลักลอบเข้ามประเทศผิดกฎหมาย จะเรียกบริษัทจัดหางาน 90 บริษัทมาหารือ 5 ก.ค. 2560 นี้ แบ่งกลุ่มตามความเชี่ยวชาญ แยกเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเมียนมา ลาว กัมพูชา จากนั้นจะแจ้งนายจ้างที่ต้องการแรงงานต่างด้าวแต่ละประเทศทราบ ขณะเดียวกันก็จะขอความร่วมมือไม่ให้คิดค่าใช้จ่ายในการจัดหาแรงงานต่างด้าวสูงกว่า 1.5-2 หมื่นบาท/ราย 6.การแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการประมง พ.ร.ก. ฉบับใหม่ให้อำนาจอธิบดีกรมประมงเป็นดูและแก้ปัญหาทั้งระบบ

ต่างด้าว 6 ล้านผิด กม. 3 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุม กกร. ได้หยิบยกปัญหาแรงงานต่างด้าวขึ้นหารือหลายเรื่อง รวมทั้งตัวเลขต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัยทำงานในไทยว่า น่าจะมีทั้งหมด 6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการอยู่อาศัยและทำงานโดยผิดกฎหมาย 3 ล้านคน

ประมงเจอ 2 เด้ง

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวในเรือประมงตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่า เจ้าของเรือประมงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ทั้งจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 ที่มีบทลงโทษหนัก นอกจากจะถูกปรับ 400,000-800,000 บาทต่อคนแล้ว ยังถูกยึดใบอนุญาตการทำประมงด้วย ส่วนกรณีที่รัฐออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จะส่งผลกระทบต่อเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ 10-29 ตันกรอส จำนวน 3,000-4,000 ลำ ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องถูกตรวจสอบจากศูนย์รับแจ้งเรือประมงเข้า-ออก (PIPO) รวมทั้งเรือประมงพื้นบ้านอีก 28,000 ลำที่ไม่ต้องแจ้งเข้า-ออกกับ PIPO อาจเกิดความปั่นป่วนขาดแคลนแรงงานหนัก

ทั้งนี้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยสำรวจความต้องการใช้แรงงานของเรือประมงมีทั้งสิ้น 74,892 คน จากเรือประมงพาณิชย์ 6,257 ลำต้องการแรงงาน 73,048 คน เรือประมงพื้นบ้าน 384 ลำต้องการแรงงาน 1,412 คน กลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีเรือประมง 32 ลำต้องการแรงงาน 432 คน

ซ้ำเติมขาดแรงงานประมง

นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด และนายณรงค์ ไชยศิริ เลขานุการสมาคมประมง จ.ตราด ชี้ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ซ้ำเติมการขาดแคลนแรงงานให้เห็นปัญหาหนักขึ้น ตอนนี้เจ้าของเรือ 20-30% จอดเรือไม่ได้ออกจับปลารอดูท่าทีที่ชัดเจนจากรัฐ และส่วนหนึ่งต้องการเลิกทำอาชีพประมง นอกจากนี้ภาคเกษตร เอสเอ็มอี จ.ตราด ก็กระทบมาก เพราะโทษหนัก

และปฏิบัติยาก ขณะที่แรงงานต่างด้าวต้องทพาสปอร์ตเสียค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 10,000 บาท บอร์เดอร์พาส 3,000-3,500 บาท ส่วนใหญ่นายจ้างออกเงินให้ก่อนทยอยหักเงินภายหลังแต่ต่างด้าวมักจะเปลี่ยนงาน

แนะตั้ง บ.จัดหางานร่วมกัมพูชา

นายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.ตราด กล่าวว่าเห็นด้วยในการจัดระเบียบแรงงานให้ถูกต้อง แต่ขอยืดระยะเวลา 2-3 เดือน และควรจัดตั้งบริษัทจัดหางานร่วมกันในระดับจังหวัดชายแดน (ตราด) กับจังหวัดของกัมพูชา เพื่อนำเข้าแรงงานตามโควตา และอำนวยความ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทางการกัมพูชาช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องเอกสารและค่าใช้จ่าย

ส่วนนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่าในส่วนของภาคประมง (ในเรือ)ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเริ่มปรับตัวได้แล้วจากการคุมเข้มแรงงานต่างด้าวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่อยากให้รัฐช่วยผลักดันให้มีการนำแรงงานข้ามชาติมาใช้ในเรือประมง มิฉะนั้นเรือประมงทุกลำก็ต้องจอด เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงประมงบนฝั่งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์