มังคุดโบราณ ลานสกา ของดีเมืองนครศรีธรรมราช ผิวเปลือกบาง เนื้อขาวสด หารับประทานยาก

“มังคุด” ราชินีแห่งไม้ผล (Queen of Fruit) เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตเป็นฤดูกาล อาจนับได้ว่าเป็นไม้คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ การบอกกล่าวของผู้รู้ตำนาน และลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นมังคุด บ่งชี้ว่ามีอายุยาวนาน จนต้องเรียกว่ามังคุดโบราณหลายร้อยปี ที่ยังคงยืนต้นอย่างแข็งแรง สมบูรณ์ ยังให้ผลผลิตดกเป็นปกติ แถมมีรสชาติหวานอร่อย ผิวเปลือกบาง เนื้อสีขาวสด เมล็ดน้อย เป็นผลไม้ที่หารับประทานยาก ทางราชการกำลังเร่งรัดขึ้นทะเบียนมังคุดโบราณลานสกา เพื่อหามาอนุรักษ์ รักษา และส่งเสริมให้เกิดการรัก หวงแหน ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับการศึกษาดูงานและการท่องเที่ยวเกษตร สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนแห่งนี้

คุณชลินทร์ ประพฤติตรง เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่อำเภอลานสกา โดยเฉพาะตำบลลานสกา และตำบลขุนทะเล ยังคงมีมังคุดโบราณยืนต้นอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่น่าจะต่ำกว่า 200 ต้น กระจายอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน บ้านเกษตรกร วัด โรงเรียน และที่ต่างๆ จากการบอกกล่าว และคาดคะเนอายุโดยอ้างอิงบริบท สิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ที่พอเทียบเคียงได้ ไม่น่าจะต่ำกว่า 300 ปี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ร่วมกับเกษตรกรในชุมชนได้มีความคิดที่จะสำรวจมังคุดโบราณ และจัดทำทะเบียนประวัติไว้ให้ชัดเจน มีระบบการจัดเก็บอย่างดี มีการถ่ายภาพต้นมังคุด ประวัติต้นมังคุด พิกัดที่ตั้ง เพื่อจัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ และบันทึกในแผนที่ออนไลน์เพื่อการเผยแพร่สู่สากลต่อไป

“มอบให้กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรอำเภอลานสกา เกษตรกรภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เกษตรกรเจ้าของต้นมังคุดโบราณ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวชุมชน/ท่องเที่ยวเกษตร ได้ดำเนินการสำรวจ และขึ้นทะเบียนมังคุดโบราณอย่างจริงจัง”

คุณนิพนธ์ สุขสะอาด หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า แรงบันดาลใจให้คิดและนำเรื่องมังคุดโบราณมาเป็นประเด็นในการทำงานเชิงรุกและสร้างสรรค์ จากปี 2559 สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช และอำเภอลานสกา จัดกิจกรรม “ปันตะลุยสวนลานสกา” โดยนำนักปั่นและสื่อมวลชน ปั่นไปชิมผลผลิตมังคุด 300 ปี ที่วัดสรรเสริญ (วัดสอ) ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา ปรากฏว่าผู้ที่ได้ชิมมังคุดทุกคนติดใจในรสชาติความอร่อยและหารับประทานยาก จึงเกิดแนวคิดร่วมกันว่าจะต้องสำรวจ ทำประวัติ (Story) อนุรักษ์และส่งเสริมให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว และนำสู่การหารือกับผู้เกี่ยวข้อง และสรุปตกลงใจกันเพื่อสำรวจจัดทำทะเบียนมังคุดโบราณที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป

ต้นมังคุดโบราณ อายุหลายร้อยปี ยังยืนต้นให้ดอกผลสมบูรณ์ ในอำเภอลานสกา

คุณนิพนธ์ บอกด้วยว่า จะเร่งดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อนำไปเชื่อมโยงและกำหนดในแผนที่ท่องเที่ยวร่วมกับผู้ประกอบการและเครือข่ายต่อไป โดยระดมพลังจากเจ้าของต้นมังคุด พระ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำในท้องถิ่น ประธาน ศพก. โดยการอำนวยความสะดวกและจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ถ่ายภาพ จับพิกัด GPS และจัดหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจัดทำ Story มังคุดโบราณ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยววิถีเกษตร และท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้

คุณวิเชียร มัชณิกะ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลานสกา หมู่ที่ 1 ตำบลลานสกา อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่า ศักยภาพของอำเภอลานสกาอยู่ท่ามกลางหุบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีอากาศบริสุทธิ์ มีน้ำสะอาด มีธรรมชาติที่งดงาม ทั้งน้ำตก ถ้ำ ภูเขา แหล่งน้ำธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และอาชีพการเกษตรที่หลากหลาย หรือ “สวนสมรม” หรือเกษตรผสมผสาน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมั่นคงทางอาหารของคนลานสกาที่มีพร้อม และอยู่ใกล้กับตัวเมืองนครศรีธรรมราช แค่ 20 กิโลเมตร ใกล้สนามบิน ใกล้สถานีรถไฟ ทำให้ลานสกาเป็นเสน่ห์ทางการท่องเที่ยวอยู่ในลำดับต้นๆ ของจังหวัด

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีศักยภาพทางการเกษตร เป็นพื้นที่ที่มีมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง ลางสาด จำปาดะ สะตอ พืชผักพื้นเมืองที่ปลอดสารพิษ สินค้าแปรรูปทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อ เช่น ทุเรียนกวน มังคุดกวน สะตอดอง ลูกประดอง โดยเฉพาะมังคุดโบราณ และมังคุดภูเขาที่เป็นสินค้าทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของอำเภอลานสกาที่มีความเป็นที่สุดอยู่ในตัว

ท่านใดสนใจอยากมีส่วนร่วมและเสริมพลังชีวิตตามสโลแกน “เกิดมาหนึ่งชาติขอได้กราบพระธาตุเมืองนครฯ” และผู้เขียนต่อให้ว่า “และได้มานอนลานสกา” (อากาศดีที่สุดในประเทศไทย) “และได้ทานมังคุดโบราณ ลานสกา” แม้เพียงผลเดียวจะเกิดเป็น “ไตรความสุข” ความเป็นที่สุดและมงคลชีวิต จะเกิดขึ้นกับตัวท่านและครอบครัวเมื่อได้สัมผัส ณ บัดนั้น