ชุมชนเข้มแข็งด้วย ‘ข้าวเม่า’

ไม่มีใครเข้าใจความเจ็บปวดของเกษตรกรเท่ากับเกษตรกรด้วยกัน และไม่มีใครแก้ปัญหาของชาวนาได้ยั่งยืนเท่ากับชาวนาเอง “กฤษณะ เทพเนาว์”  ประธานกลุ่ม และผู้ก่อตั้งกลุ่มผลิตข้าวเม่า บ้านหนองบัว ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งนับว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพลิกฟื้นจากข้าวธรรมดาที่ราคาขายเดิมทีอยู่ที่ 10 บาท จนมาแปรรูปขายได้ในราคากิโลกรัมละ 400 บาท

กฤษณะ บอกว่า ผมเป็นเพียงชาวนาคนหนึ่งที่ทนทุกข์กับปัญหาราคาข้าว หนี้สิน วนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกปี จนรู้สึกว่าชีวิตชาวนาช่างต่ำต้อยด้อยค่า จนตอนหลังไปร่วมโครงการพลังปัญญา ที่มีภาคีร่วมกันจาก 5 หน่วยงานหลัก อาทิ มูลนิธิมั่นพัฒนา, กองทัพบก, เอสซีจี, สวทช. และหอการค้าไทยเมื่อ 3 ปีก่อน กระทั่งได้เรียนรู้

วิธีคิด ทบทวนตนเอง จนเกิดความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง โดยใช้ทรัพยากรที่มีภูมิปัญญาอยู่

“จากเดิมเราอยู่กับตัวเองทุกวัน และมองว่าเราถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นเกษตรกรที่ตามกระแสสังคม อะไรแพงก็ปลูกสิ่งนั้น แต่ตอนหลังมาค้นพบว่ายิ่งทำมาก ก็ยิ่งจนมาก ยิ่งมีปัญหามาก วนเวียนเช่นนี้ จนเกิดการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น หากอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เรายังทำทุกอย่างแบบเก่า ก็ยากที่จะเกิดสิ่งใหม่ การกระทำที่มาจากความคิดที่หยาบ ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลอันประณีต”

จึงเกิดการคิดนอกกรอบ และยึดหลัก “ง่าย-ไว-ใหม่-ใหญ่-มีความสุข” จึงเกิดขึ้น
โดยมองสินค้าใกล้ตัวคือข้าว โดยพิจารณาพบว่าข้าวเปลือกราคาอยู่ที่ 9-10 บาท/กิโลกรัม หากอยากให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็ขายข้าวสารได้ราคา 20-30 บาท/กิโลกรัม แต่ในแง่การแข่งขัน ข้าวสารในท้องตลาดมีเจ้าตลาดรายใหญ่มากมายที่ชุมชนไม่สามารถเข้าไปแข่งขันได้ หากจะขายในชุมชนเอง จะไม่เกิดการพัฒนา จนมองเห็นตลาดสินค้าแปรรูปจากข้าวคือ “ข้าวเม่า”

ซึ่งราคาข้าวเม่าดิบอยู่ที่ 50 บาท/กิโลกรัม และหากนำไปแปรรูป ราคาจะสามารถกระโดดไปได้อีกเป็นกิโลกรัมละ 400 บาท โดยผ่านกรรมวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนในชุมชนทำกันเป็นอยู่แล้ว

“ข้าวเม่า” ไม่ใช่ของใหม่ในชุมชน หรือในประเทศไทย ทุกภาคมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเม่า แต่ข้าวเม่าจะนิยมในช่วงเทศกาลเท่านั้น ไม่ได้บริโภคกันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ช่วงแรกตลาดที่จำหน่ายคือคนในชุมชนเอง โดยแบ่งหน้าที่กันคือชาวนามีหน้าที่ปลูกข้าว และจำหน่ายข้าวในช่วงที่รวงข้าวยังเป็นข้าวน้ำนม ให้แก่กลุ่มที่เป็นผู้ผลิตข้าวเม่า ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่มีเครื่องตำอยู่ที่บ้าน ประมาณ 60 ครัวเรือน

เมื่อตำเป็นข้าวเม่าดิบจะจำหน่ายกิโลกรัมละ 50 บาท ให้แก่แม่ค้าจากพื้นที่อื่นๆ รวมไปถึงชาวนา หรือลูกเมีย ที่มาขายสินค้าในตลาดนอกเวลาทำนา มาแปรรูปเป็นข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าแปรรูปอื่นๆ เพื่อจำหน่ายต่อไป ซึ่งเป็นการหมุนเวียนรายได้ ภายในชุมชน และเป็นการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำในสินค้าตัวเดียว

แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาเรื่องของการจำหน่ายสินค้าตัดราคากันเองในชุมชน สุดท้ายจึงมีการพูดคุยกันเพื่อรวมกลุ่มกันผลิต มีการตกลงเรื่องของราคา มาตรฐาน แนวคิด และความฝันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากเดิมที่ผลิตโดยมีเงินเป็นตัวตั้ง ต่างคนต่างทำ ก็เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ข้าวเม่าของชุมชนเป็นข้าวเม่าคุณภาพดี มีมาตรฐาน มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ทั้งด้านรสชาติ คุณภาพข้าว เช่น มีการวางแผนพัฒนาไปสู่ข้าวเม่าอินทรีย์ เพื่อหนีตลาดข้าวเม่าเดิมที่เริ่มมีการผลิตเยอะขึ้น ทั้งยังรองรับตลาดต่างประเทศ รวมถึงตลาดบนที่มีความต้องการสินค้าที่มีความใส่ใจต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทางชุมชนข้าวเม่ายังมองไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขั้นตอนสำคัญในการผลิตข้าวเม่าขั้นตอนหนึ่งคือการคั่ว ซึ่งต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิง และพลังงานที่ชุมชนสามารถหยิบมาใช้ได้อย่างง่ายดาย ใกล้มือ และต้นทุนต่ำที่สุดคือฟืน

แต่เมื่อมีการขยายตลาด เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น ทางชุมชนมีความตระหนักว่าป่าไม้ที่มีอยู่จะถูกรุกราน และถูกแผ้วถาง โดยช่วงแรก ทางกลุ่มจึงปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทางออก แต่เนื่องจากอุปสรรคเรื่องของต้นทุน และเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ท้ายที่สุดชุมชนจึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า…ทำไมต้องให้คนอื่นมาปลูกป่าเพื่อเรา?

ทำไมชุมชนไม่หาวิธีรองรับความเสี่ยงในอนาคตด้วยตนเอง?

จนเกิดเป็นแนวคิดปลูกต้นไม้ตาม หัวไร่ปลายนา เพราะชาวบ้านในพื้นที่แทบทุกบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีพื้นที่หัวไร่ปลายนาที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็เลยใช้พื้นที่เหล่านั้นปลูกต้นไม้ โดยนำแนวคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ กฤษณะ บอกว่าจนกลายเป็นความยั่งยืนตามมา เพราะเราทำงานร่วมกัน โดยยึดหลักของการแบ่งปัน ทำให้เกิดการกระจายวงกว้างในมิติต่างๆ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม สังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม

“ที่ผ่านมาเราทำงานโดยใช้กำลังมากกว่าปัญญา เราทำงานหนัก แต่ได้ผลผลิตน้อย ชีวิตก็ไม่มีความสุข แต่เมื่อเราทำงานโดยใช้ปัญญา อาศัยความร่วมมือกันของคนในชุมชน เราทำงานน้อยลง ได้ผลผลิตที่มากขึ้น เรามีความสุขมากขึ้น ทำให้มีเวลามองสิ่งรอบตัว ชื่นชมธรรมชาติ จิตวิญญาณมีความประณีตมากขึ้น มีหัวจิตหัวใจที่จะบำรุงดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มุ่งแต่เรื่องปากท้องอย่างเดียวอีกต่อไป ชุมชนก็จะยั่งยืน สังคมมีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมก็ได้รับการใส่ใจเกิดความยั่งยืนในทุกมิติ”

จนกลายเป็นอีกชุมชนเข้มแข็ง และพัฒนาตนเอง กระทั่งมองเห็นความยั่งยืนในทุกมิติ โดยผ่านกระบวนการคิดว่า…ทุกการทำงาน มีปัญหาให้แก้ แต่ทุกครั้งทำให้เกิดการพัฒนา

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ