เบื้องหลังไข่-ไก่ไทยไปเกาหลี เกษตรกรและผู้ส่งออกไข่ไก่ไทยยิ้มแก้มปริด้วยความภาคภูมิใจ

เบื้องหลังไข่-ไก่ไทยไปเกาหลี เกษตรกรและผู้ส่งออกไข่ไก่ไทยยิ้มแก้มปริด้วยความภาคภูมิใจ เมื่อเดือน (มิถุนายน) ที่ผ่านมามีข่าวทางการเกาหลีใต้ได้ออกประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้าไข่ไก่จากประเทศไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ตอกย้ำสถานะ “ครัวไทยสู่โลก” ของอุตสาหกรรมอาหารไทย ไปอย่างเต็มๆ

เพราะถ้าตรวจดูรายชื่อประเทศที่ทางการเกาหลีใต้อนุญาตให้ส่งไข่ไก่สดเข้าไปขาย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเนื่องจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก  ตามการรายงานข่าวของสำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์  และสเปน ที่เกาหลีใต้ยอมให้ส่งไข่ไก่สดเข้าไปขาย

เมื่อต้นปีนี้สหรัฐอเมริกาก็ได้รับอนุญาตให้มีการส่งออกไข่ไก่สดไปเกาหลีเช่นกัน แต่ต้องถูกระงับไปเมื่อพบปัญหาไข้หวัดนกในสหรัฐ

มองในมุมของผู้บริโภคชาวไทยเราควรจะอุ่นใจและภูมิใจได้เช่นกันว่าผลิตภัณฑ์ไข่ของประเทศไทยเรามีมาตรฐาน ที่เชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าที่มีมาตรฐานสูงปรี๊ดอย่างเกาหลีใต้

จากข้อมูลสถิติ Livestock and Poultry: World Markets and Trade 2557-2559 และการคาดการณ์ของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ พบว่าไข่ไก่ไทยมีส่วนแบ่งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก โดยมีปริมาณการส่งออก 0.42 พันล้านฟองในปี 2559 ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง ตุรกีมีการส่งออก 11 พันล้านฟอง ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ 9.0 พันล้านฟอง  หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็มีการส่งออกไข่ไก่ถึง 4 พันล้านฟองในปีที่ผ่านมา

มองอีกนัยหนึ่งไทยเรายังมีโอกาสอีกมากที่จะเพิ่มการส่งออกไข่ไก่ หากสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ ต้นทุนการผลิต และการขาดแคลนอุปทานของไข่ไก่ในประเทศได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่เกาหลีใต้เข้ามาช่วยตอกย้ำคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของไข่ไทย

จากการวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันไข่ไก่ไทยโดย สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ จุดแข็งของอุตสาหกรรมไข่ไก่ไทยคือ มีระบบตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิตไข่ไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเป็นผู้นำด้านมาตรฐานการจัดการฟาร์ม ความปลอดภัยด้านอาหารและระบบมาตรฐานฟาร์มในอาเซียน  ขณะที่มีจุดอ่อนคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงเนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ นอกจากนี้การส่งออกไข่ไก่ไทยเป็นเพียงการส่งออกเพื่อระบายผลผลิตส่วนเกินและรักษาระดับราคาภายในประเทศ

แต่ในส่วนของไก่เนื้อนั้นประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งออกในระดับโลกมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้  จนได้รับการขนานนามจาก นิตยสาร Nikkei Asian Review ประเทศญี่ปุ่นว่าเป็น “บริษัทที่ปฏิวัติโต๊ะอาหารของประเทศญี่ปุ่น”  โดยเริ่มต้นจากการบุกเบิกส่งออกเนื้อไก่ไปญี่ปุ่นเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้วของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์

Nikkei Asian Review ระบุว่า “ซีพี เริ่มส่งออกเนื้อไก่ไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 และในราวทศวรรษที่ 2520 หลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในประเทศไทยได้เริ่มธุรกิจเลี้ยงกุ้งจนประสบความสำเร็จแล้ว ซีพี ก็ได้เริ่มส่งออกกุ้งไปยังญี่ปุ่น ตั้งแต่นั้นมา ซีพี ก็ได้ขายเนื้อไก่และกุ้งในราคาที่เป็นธรรมให้ชาวญี่ปุ่น ทำให้ไก่ทอดและกุ้งทอดกลายเป็นเมนูประจำบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่น”

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกไก่ได้เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก บราซิล สหรัฐอเมริกา และยุโรป ด้วยปริมาณการส่งออกมากกว่า  700,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบแสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นตลาดส่งออกไก่เป็นหลักไทย คือราว 50% ของปริมาณไก่ส่งออกทั้งประเทศ  ทั้งนี้จากรายงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของ บล.เอเซีย พลัส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 20% จากปริมาณการส่งออกไก่ไทยไปญี่ปุ่นทั้งหมด ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ  2 และ3 ที่มีส่วนแบ่ง13% และ 3% ตามลำดับ

ส่วนทางรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้อนุมัติให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งไปเกาหลีใต้ ได้ เมื่อ 9 พ.ย. 59 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี

ที่มา : มติชนออนไลน์