กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองเหม้า กันตัง เลี้ยงจิ้งหรีด ผลตอบแทนคุ้มค่า

หากกล่าวถึงจิ้งหรีด อย่างแรกที่คนจะนึกถึงคงเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจากเสียงร้องใสแจ๋วอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เกิดจากการถูกันของปีกคู่หน้าในจิ้งหรีดตัวผู้ เสียงดัง กริก…กริก…กริก…

จิ้งหรีดจัดเป็นแมลงที่มีขนาดของลำตัวปานกลาง มีปีก 2 คู่ ปีกคู่หน้าเนื้อจะหนากว่าปีกคู่หลัง เมื่อพับจะหักเป็นมุมที่ด้านข้างของลำตัว ปีกคู่หลังบางพับได้แบบพัดสอดเข้าไปอยู่ใต้ปีกคู่หน้า ปากแบบกัดกิน ส่วนหัวกับอกมีขนาดกว้างไล่เลี่ยกัน จิ้งหรีดตัวผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียง เป็นฟันเล็กๆ อยู่ตามเส้นปีกบริเวณกลางปีก ใช้กรีดกับแผ่นทำเสียงที่อยู่บริเวณท้องปีกของปีกอีกข้างหนึ่ง ตัวเมียมีอวัยวะสำหรับใช้วางไข่เป็นท่อยาวๆ บริเวณก้นคล้ายเข็ม และไม่สามารถทำเสียงได้เหมือนตัวผู้

คุณสรวง พรหมบุญทอง เกษตรอำเภอกันตัง ร่วมประชุมกับสมาชิกกลุ่ม

สำหรับในประเทศไทยสามารถพบจิ้งหรีดได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ชนิดของจิ้งหรีดที่พบ ได้แก่ จิ้งหรีดทองดำ (Gryllus bimaculatus), จิ้งหรีดทองแดง (Gryllus testaceus), จิ้งโกร่ง (Brachytrupes portentosus) เป็นต้น

เกษตรกรบ้านหนองเหม้า หมู่ที่ 5 ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รวมกลุ่มกันเลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้หลักหมื่นยามว่างให้กับครัวเรือน นอกเหนือจากการทำสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน

กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองเหม้าและเกษตรตำบล

โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ปีงบประมาณ 2561 หนึ่งในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ขับเคลื่อนโดยกรมส่งเสริมการเกษตร คือจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองเหม้าในการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยทางกลุ่มได้รับงบสนับสนุนเป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ จำนวน 100,000 บาท สมาชิกเข้าร่วมโครงการจำนวน 25 ราย ปัจจุบันการเลี้ยงจิ้งหรีดของกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองเหม้ายังคงดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

คุณสมบัติ ทดแทน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 และที่ปรึกษากลุ่ม เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงจิ้งหรีดว่า ปกติหลังจากตัดยางเสร็จ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจะมีเวลาว่าง เลยอยากหากิจกรรมให้ชาวบ้านทำเพื่อให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะว่ารายได้จากการทำสวนยางกับสวนปาล์มมันไม่พอจ่าย ราคายาง/ปาล์มก็ต่ำ ประจวบเหมาะกับมีโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยเข้ามา จึงเป็นโอกาสดีในการให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเสนอกิจกรรมที่ต้องการทำ มีการนำเข้าวาระการประชุมหมู่บ้านเพื่อเลือกโครงการในการประชุมหมู่บ้าน มีการเสนอกิจกรรมเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะเห็นว่าในพื้นที่ยังไม่มีการเลี้ยงและการเลี้ยงไม่ค่อยยุ่งยาก จึงอยากทดลองนำมาเลี้ยง เมื่อสรุปว่าจะทำการเลี้ยงจิ้งหรีดจึงมีการเลือกคณะกรรมการกลุ่ม ช่วยกันศึกษา หาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงจิ้งหรีด และเลือกเลี้ยงจิ้งหรีดพันธุ์ทองดำโดยมีเกษตรตำบลเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำต่างๆ กับกลุ่มเกษตรกร

จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ

คุณสมพงษ์ ปกครอง ประธานกลุ่ม เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดของกลุ่มว่า เริ่มจากซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จิ้งหรีดมาเลี้ยงเพื่อไว้เอาไข่ แล้วฟักเพื่อเลี้ยงรุ่นต่อไปกับซื้อพันธุ์ไข่นำมาเลี้ยงในคอกขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร โดยภายในคอกใส่แผงไข่เอาไว้เพื่อใช้เป็นที่อาศัยและหลบซ่อนตัว หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ไข่จะแตกออกมาเป็นตัว แล้วให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับจิ้งหรีดโดยเฉพาะ ดูแลเรื่องการให้อาหารเช้า-เย็น ในส่วนของน้ำจะนำน้ำสะอาดใส่ในถาดที่วางก้อนถ่านเอาไว้เพื่อให้จิ้งหรีดใช้เกาะ กันการตกน้ำ การให้อาหารจะผสมพวกใบตำลึง ใบมันสำปะหลังซึ่งปลูกไว้บริเวณรอบรั้วบ้านร่วมกับอาหารสำเร็จรูปเพื่อลดต้นทุน ในส่วนของคอกเลี้ยงตรงบริเวณขาตั้งจะรองด้วยภาชนะใส่น้ำไว้ กันมดขึ้นมายังคอกเลี้ยงไปกัดกินจิ้งหรีด ภายในตัวคอกด้านในจะใช้เทปกาวติดไว้โดยรอบทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันการกระโดดเกาะแล้วหนีออกจากคอกเลี้ยง สำหรับฝาด้านบนจะเป็นมุ้งตาข่ายสีฟ้าขนาดเล็กปิดไว้ป้องกันการบินหนีและป้องกันจิ้งจกลงไปกัดกินจิ้งหรีดในคอก

การเลี้ยงจิ้งหรีด 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดย 10 วันก่อนทำการจับจิ้งหรีดจะนำขันพลาสติกที่ใส่แกลบเผา ขุยมะพร้าว ดิน น้ำ ผสมเข้ากันแล้วไปวางไว้ในคอกเพื่อใช้เป็นที่วางไข่ แล้วนำไข่ที่ได้ไปฟักเป็นตัวอ่อนใช้เลี้ยงในรุ่นต่อไป และก่อนทำการจับจิ้งหรีดเพื่อจำหน่าย 1 วันจะล้างท้องจิ้งหรีดโดยการงดให้อาหารสำเร็จรูปแล้วให้ฟักทองดิบแทน เพื่อเป็นการลดกลิ่น ช่วยให้น้ำหนักดี

คุณสมพงษ์ ปกครอง ประธานกลุ่ม พาดูภายในคอกเลี้ยง

การจับจิ้งหรีดจะใช้ถังหูหิ้วพลาสติกใส่ลงในคอกเลี้ยงแล้วดึงแผงไข่ขึ้นมาเคาะลงในถัง ทำไปเรื่อยๆ จนหมดคอกก็จะได้จิ้งหรีดมา หลังจากนั้นจะนำจิ้งหรีดไปล้างทำความสะอาดและลวกให้สุก ชั่งน้ำหนัก บรรจุถุง รอจำหน่าย

ขณะนี้ทางกลุ่มมีคอกเลี้ยงจิ้งหรีดจำนวน 30 คอก ทำการเลี้ยงรอบละ 15 คอก เพื่อสลับให้มีจิ้งหรีดขายตลอด ไม่ขาดช่วง โดยจิ้งหรีด 1 คอก มีน้ำหนักประมาณ 6-7 กิโลกรัม เมื่อจับครบทั้ง 15 คอก ก็จะได้จิ้งหรีดรอบละประมาณ 100 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้กับทางกลุ่มไม่ต่ำกว่า 18,000 บาทต่อรอบ

ถาดใส่น้ำ ใส่อาหาร

การจำหน่าย ทางกลุ่มจำหน่ายแบบลวกสุกกิโลกรัมละ 180 บาท และแบบทอดกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในชุมชน อำเภอข้างเคียง และมีลูกค้าต่างจังหวัดบางส่วน จิ้งหรีดลวกสุกบรรจุถุงน้ำหนัก 1 กิโลกรัม

ปัจจุบันกระแสการบริโภคจิ้งหรีดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่ให้สารอาหารประเภทโปรตีนสูง ทำให้เป็นที่นิยมของกลุ่มผู้รักสุขภาพ ทางกลุ่มได้ให้ความสำคัญกับกระแสการบริโภคนี้ จึงมีการวางแผนเพิ่มปริมาณการผลิตและคิดหาวิธีการแปรรูป สร้างความหลากหลายให้กับกลุ่มผู้บริโภคต่อไป

จิ้งหรีดลวกสุก บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม

สำหรับเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียงหรือท่านใดที่สนใจสั่งซื้อหรือประสงค์ขอดูงาน ศึกษาข้อมูลการเลี้ยงจิ้งหรีด ทางกลุ่มยินดีให้ข้อมูล โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมบัติ ทดแทน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เบอร์โทรศัพท์ 061-997-8859 คุณสมพงษ์ ปกครอง ประธานกลุ่ม เบอร์โทรศัพท์ 088-395-2300 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง เบอร์โทรศัพท์ 075-251-742

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2565