เลี้ยง-พัฒนาพันธุ์ควายไทย ผลิตลูกพันธุ์คุณภาพ ช่วยทำตลาดได้ราคาดี

กระบือ หรือ ควาย ในสมัยก่อนนั้นนำมาเป็นสัตว์ที่ช่วยในเรื่องของการทำเกษตร หรือที่คุ้นเคยกันดีคือการไถนา นอกจากจะช่วยงานแล้ว กระบือยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่สร้างความผูกพันให้กับผู้เลี้ยงไม่น้อยทีเดียว ซึ่งกระบือไทยในสมัยก่อนมีโครงสร้างตัวที่ยังไม่ใหญ่มากเหมือนเช่นทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันกระบือไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือการนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ให้ได้โครงสร้างที่ใหญ่กว่าแต่ก่อน เพราะมองไปถึงอนาคตว่านอกจากการอนุรักษ์แล้ว ยังสามารถมุ่งเป้าการพัฒนาไปสู่การเป็นกระบือเนื้อเพื่อการบริโภค

คุณบุณยนุช เรืองเพชร หรือ คุณอ้อ

คุณบุณยนุช เรืองเพชร หรือ คุณอ้อ เจ้าของคณาภัณฑ์ ฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 195 หมู่ที่ 2 ตำบลนาคู อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำกระบือเข้ามาเลี้ยงโดยมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาสายพันธุ์กระบือให้มีคุณภาพ ตั้งแต่โครงสร้างตัวที่ใหญ่และศักยภาพหลายๆ ด้าน ซึ่งเธอคาดหวังว่าจากจุดเริ่มต้นเหล่านี้ จะเป็นการสร้างทิศทางให้กระบือไทยได้มีช่องทางตลาดในวงกว้าง ไม่ใช่เป็นการเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์หรือประกวดเพียงอย่างเดียว  

กระบือ สัตว์เลี้ยงให้ความสุข

คุณอ้อ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีครอบครัวของเธอเลี้ยงโคเนื้อสร้างรายได้มาก่อน ต่อมามีโอกาสนำกระบือเข้ามาเลี้ยง เมื่อเริ่มเลี้ยงยิ่งรู้สึกว่าอุปนิสัยของกระบือค่อนข้างน่ารัก จึงเกิดความตั้งใจที่อยากจะเลี้ยงแบบครบวงจรมากขึ้น ตั้งเป้าว่าเมื่อเลี้ยงแล้วจะเลี้ยงไปในทิศทางไหน เธอจึงสร้างจุดยืนให้กับตัวเองว่าในช่วงแรกอยากจะพัฒนาสายพันธุ์ก่อน จากนั้นเมื่อกระบือมีโครงสร้างที่ดีก็จะต่อยอดไปสู่ตลาดอื่นๆ ได้

“พอเราได้ทดลองเลี้ยงไป ทำให้เริ่มเข้าใจว่า ความชอบของเราจะเป็นตัวกำหนดตลาด จะไปในทิศทางไหน เพราะถ้าเราต้องการให้เป็นกระบือที่มีคุณภาพ เราต้องทำการปรับปรุงพันธุ์ โดยหาพันธุกรรมพ่อแม่ที่ดีๆ นำมาผสม ซึ่งสายพันธุ์กระบือที่เลี้ยง จะเน้นเป็นกระบือสายพันธุ์ไทยเป็นหลัก การผสมพันธุ์ก็จะดูว่าถ้าแม่พันธุ์มีตรงไหนที่ด้อย ก็จะหาจุดเด่นของพ่อพันธุ์ที่ดีเข้ามาผสม ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกพันธุ์กระบือที่ได้ มีคุณภาพตามในแบบที่จินตนาการไว้” คุณอ้อ บอก

จากความตั้งใจที่จะพัฒนาสายพันธุ์กระบือนี้เอง จึงทำให้ฟาร์มของเธอต่อยอดการทำธุรกิจ คือการรับผสมพันธุ์ให้กับกระบือของเกษตรกรท่านอื่นด้วย เพื่อลูกกระบือที่ได้จะมีโครงสร้างที่ดี และช่วยให้เกษตรกรรายอื่นต่อยอดการทำตลาดต่อไปในอนาคต

พื้นที่เลี้ยงกระบือ ควรเป็นสัดส่วน

การจัดพื้นที่สำหรับเลี้ยงกระบือนั้น คุณอ้อ เล่าว่า ได้จัดพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนให้มีทั้งแปลงหญ้าสำหรับเดินเล่น และบ่อน้ำให้กระบือได้ลงแช่เล่นในระหว่างวัน พร้อมทั้งแบ่งพื้นที่โรงเรือนนอน และแปลงปลูกหญ้าไว้ตัดให้กระบือกินเสริมเข้ามาอีกด้วย จึงทำให้ภายในฟาร์มของเธอมีความพร้อมในทุกด้าน จนสามารถพัฒนาและผลิตกระบือที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่เดินเล่น

การผสมพันธุ์กระบือภายในฟาร์มมีการผสมโดยใช้พ่อพันธุ์ที่เลี้ยงไว้ และอีกส่วนหนึ่งจะนำน้ำเชื้อเข้ามาผสมเทียม ซึ่งอายุแม่พันธุ์ที่พร้อมผสมพันธุ์อย่างต่ำ 3 ปีขึ้นไป หลังจากผสมติดแล้วรอตั้งท้องประมาณ 10-12 เดือน

“ช่วงก่อนที่จะปล่อยให้แม่กระบือตั้งท้อง ก็จะมีการทำวัคซีนถ่ายพยาธิ ส่วนอาหารที่ให้กินก็จะให้อาหารแบบปกติ จำพวกหญ้า ฟาง สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงก็จะเป็นหญ้าสดและฟางให้กินในทุกๆ วัน พร้อมกับให้กินอาหารข้นที่มีโปรตีนอยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ 1 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน การปล่อยเดินเล่นปกติในช่วง 14.00-16.00 น. เพื่อให้กระบือมีความแข็งแรง โดยช่วงที่กระบือออกไปเดินเล่น ช่วงนี้เราก็จะทำความสะอาดคอก เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของโรค” คุณอ้อ บอก

เมื่อครบกำหนดคลอดลูกกระบือออกมาแล้ว หลังจากได้อายุประมาณ 2 เดือน จะทำการถ่ายพยาธิให้กับลูกกระบือ และเมื่อได้อายุ 4 เดือน จึงเข้าสู่กระบวนการทำแผนวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ส่วนกระบือตัวอื่นภายในฟาร์มจะมีแผนการทำวัคซีนให้ทุก 6 เดือนครั้ง โรคที่ป้องกันหลักๆ จะมีตั้งแต่โรคคอบวมไปจนถึงโรคปากเท้าเปื่อย โดยลูกกระบือที่หย่านมแล้ว มีอายุได้ 7-10 เดือน ก็สามารถส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มาติดต่อซื้อได้ทันที

ให้หญ้ากินระหว่างวัน

เน้นจำหน่าย ลูกพันธุ์กระบือคุณภาพ

การทำตลาดเพื่อจำหน่ายกระบือภายในฟาร์มนั้น คุณอ้อ บอกว่า ในช่วงแรกไม่ได้มองว่ากระบือจะสามารถทำรายได้ให้กับเธอได้เหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะช่วงแรกที่นำมาเลี้ยงมองเห็นแต่ความน่ารัก แต่เมื่อทดลองเลี้ยงและลงมือทำอย่างจริงจัง ยิ่งทำให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จึงนำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ให้กับคนทั่วไป ส่งผลให้ผู้ที่สนใจและชอบการเลี้ยงกระบือได้เข้ามาพูดคุย จากนั้นการดำเนินตลาดก็เข้ามาเรื่อยๆ จนเกิดรายได้ที่ดีทีเดียว

โดยการจำหน่ายกระบือมีทั้งกระบือสวยงาม และกระบือที่มีรูปทรงดีที่ลูกค้าสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์เองได้ ซึ่งราคาที่จำหน่ายก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ลูกกระบือที่หย่านมแล้วทรงสวยทรงดี ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 100,000 บาท และแม่พันธุ์ตั้งท้องราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 250,000-500,000 บาท

พื้นที่โรงเรือนนอน

สำหรับเกษตรกรท่านอื่นที่ต้องการให้ทางฟาร์มทำการผสมพันธุ์ให้ โดยใช้น้ำเชื้อและพ่อพันธุ์ภายในฟาร์ม ก็จะมีขั้นตอนการตรวจโรคต่างๆ ก่อนผสมพันธุ์ ซึ่งแม่พันธุ์กระบือจะอยู่กับทางฟาร์มประมาณ 45-50 วัน เมื่อผสมพันธุ์ติดแล้วจะส่งคืนให้กับลูกค้านำกลับไป กระบวนการทั้งหมดนี้ราคาอยู่ที่ 15,000-25,000 บาท

“สำหรับคนที่สนใจอยากจะเลี้ยงกระบือ สิ่งแรกที่ต้องแนะนำก่อนเลย คือต้องถามใจตัวเองก่อนว่าชอบเลี้ยงไหม ถ้าชอบเลี้ยงกระบือ ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมดีแน่นอน แต่ถ้าเลี้ยงเพราะมองว่าได้เงินเยอะ แบบนี้ไม่น่าจะต่อยอดไปได้ เพราะไม่ได้เริ่มจากใจที่รักจริงๆ เมื่อเลี้ยงแล้ว มีกำไรและกำลังที่จะต่อยอด และพัฒนาไปเรื่อยๆ กระบือที่ผสมพันธุ์ออกมา เชื่อว่าเป็นกระบือที่มีโครงสร้างที่ดี และจะช่วยส่งเสริมผู้เลี้ยงให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน” คุณอ้อ บอก

 

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์กระบือ หรือต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณบุณยนุช เรืองเพชร หรือ คุณอ้อ หมายเลขโทรศัพท์ 083-916-2295

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 9 พ.ย. 2022