ผู้เขียน | บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ |
---|---|
เผยแพร่ |
อำเภอลอง เป็นเขตปกครองของจังหวัดแพร่ ในอดีตเป็นเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เรียกชื่อว่า เมืองลอง

ที่ตั้งของเมืองลอง มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง “แอ่งลอง-วังชิ้น” เป็นแอ่งขนาดเล็กตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาผีปันน้ำ มีแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านตอนกลางและตอนใต้ของแอ่ง และมีลำห้วยสาขาไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำยม แต่ละปีๆ จะมีตะกอนดินที่ถูกพัดมาทับถมกองกันอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำ จนเป็นที่ราบชายฝั่ง เรียกตะกอนดินนี้ว่า ดินน้ำไหลทรายมูล เป็นดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง มีอินทรียวัตถุ จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก และต่อมาเกิดเป็นสวนส้มโอจำนวนมาก มีการปลูกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ปลูกลักษณะไร่ ไม่ยกร่องเหมือนภาคกลาง จากปีนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน “ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง” ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐที่จะให้เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดแพร่ มี 2 โครงการ แต่ละโครงการมีหลายกิจกรรมและมีงบประมาณช่วยในการขับเคลื่อน ได้แก่ โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการส่งเสริมโดยสำนักงานเกษตรจังหวัด คุณประภาส สานอูป เกษตรจังหวัดแพร่ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด คุณวัชระ อินโองการ และสำนักงานเกษตรอำเภอลอง คุณณปภัช แก้วเขียว เป็นผู้แนะนำส่งเสริม

มีกิจกรรมที่นำลงไปในพื้นที่เพื่อเป็นการกระตุ้นชาวสวนส้มโอให้เกิดการตื่นตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงในการผลิตส้มโอคุณภาพ
1. พัฒนาเกษตรกรด้วยการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการผลิตส้มโอไม้ผลอัตลักษณ์พื้นถิ่น
2. มีแปลงเรียนรู้การผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ที่ได้มาตรฐาน
3. พัฒนาสินค้า (ส้มโอ) ไม้ผลอัตลักษณ์ “ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง” เพื่อดำเนินการเข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI (Geographical Indications)
4. จัดทำกล่องบรรจุภัณฑ์ มีข้อความบ่งบอกเรื่องราวความเป็นมาของไม้ผลอัตลักษณ์ อ้างอิงแหล่งผลิต สำหรับใช้บรรจุผลส้มโอจำหน่ายไปยังผู้บริโภค
5. ส่งเสริมการตลาดหลากหลายรูปแบบ วิธีการทั้งผ่านสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ จัดงานเทศกาลผลไม้ในจังหวัดแพร่ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลไม้ (ส้มโอ)

กิจกรรมการประชาสัมพันธ์ที่ผู้เขียนนำเสนอในบทความนี้เป็นการจัดงานแถลงข่าวส้มโอเมืองลอง สินค้าอัตลักษณ์จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กำแพงเมืองแพร่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เกษตรจังหวัดแพร่ พาณิชย์จังหวัดแพร่ และตัวแทนเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ เป็นคณะผู้แถลงข่าว ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่ทำให้เกิดการรับรู้สู่วงกว้าง ประชาชนรู้จักส้มโอเมืองลอง มีคำสั่งซื้อทางสื่อออนไลน์ และจำหน่ายตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ผลผลิตส้มโอของเกษตรกรออกสู่ตลาดไปหลายจังหวัด ผู้เขียนนำเนื้อหาโดยสรุปไว้ดังนี้

คุณสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้แถลงข่าวถึงความเป็นมาของการผลักดันส้มโอเมืองลองให้เป็นผลไม้ GI และกล่าวถึงลักษณะเด่นของส้มโอเมืองลองว่า จังหวัดแพร่มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสำหรับปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด มีจุดแข็งเป็นประตูสู่ล้านนา เป็นเมืองชุมทางรถไฟกระจายสินค้าสู่จังหวัดอื่นๆ ได้ง่าย ในอนาคตจะมีรถไฟรางคู่ไปถึงจังหวัดเชียงราย สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ สำหรับส้มโอจังหวัดแพร่เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ลักษณะส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง รูปทรง ทรงกลมได้สัดส่วน ไม่บิดเบี้ยว-เปลือกผลสีเขียว เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวอมเหลือง เปลือกแกะง่าย เปลือกบางถึงหนาปานกลาง-เนื้อกุ้งใหญ่ สีคล้ายน้ำผึ้ง เนื้อแน่น ไม่ฉ่ำน้ำ แกะเนื้อออกจากเยื่อหุ้มกลีบได้ง่าย เมล็ดขนาดปานกลาง จำนวนเมล็ดน้อย หรือไม่มีเมล็ดเลย รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่มีรสขม มีการเพาะปลูกกันมากที่อำเภอลอง

คุณสมหวัง กล่าวอีกว่า สนับสนุนให้มีการผลักดันและพัฒนาให้ได้ GI ซึ่ง GI นี้มีความสำคัญ แต่ควรที่จะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ณ บริเวณแอ่งลอง-วังชิ้น กับต้องสร้างแบรนด์ หรือสร้างสตอรี่ให้คนรู้จัก จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของส้มโอ จึงขอเชิญชวนให้มีการบริโภคส้มโอ ของดีๆ จังหวัดแพร่ ให้เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้น

คุณประภาส สานอูป เกษตรจังหวัดแพร่ แถลงถึงการส่งเสริมส้มโอเมืองลองเป็นผลไม้ GI และการพัฒนาด้านคุณภาพผลผลิตว่า จังหวัดแพร่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต สามารถพัฒนายกระดับเพื่อเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ส้มโอของเกษตรกรให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติด้วย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตส้มโอคุณภาพ นำเกษตรกรศึกษาดูงานการผลิตและการตลาดส้มโอ เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ศึกษาเรียนรู้จากเกษตรกรที่ปลูกส้มโอในแหล่งที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสงคราม จัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตไม้ผลที่มีอัตลักษณ์สู่มาตรฐาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ

คุณอารีย์ เหลืองหิรัญ พาณิชย์จังหวัดแพร่ กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดส้มโอ โอกาสทางด้านการตลาดของส้มโอจังหวัดแพร่ และกระบวนการก้าวสู่ส้มโอ GI ว่า ส้มโอเป็นผลผลิตที่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เป็นที่น่ายินดีว่า ประเทศไทยมีการส่งออกส้มโอไปยังประเทศต่างๆ มาหลายปีแล้ว เมื่อเรามารู้จักกับส้มโอเมืองลองกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรอำเภอลองที่จะผลิตส้มโอไปยังผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้ ในเรื่อง GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น ความหมายก็คือ ภูมิประเทศ บวกกับภูมิปัญญา ซึ่งอำเภอลองมีภูมิประเทศที่ล้อมรอบด้วยภูเขา มีบรรยากาศที่ดี ทั้งดินฟ้าอากาศก็เอื้ออำนวย เหมาะสมกับการปลูกไม้ผล เมื่อผนวกกับภูมิปัญญาของเกษตรกรที่มีมาแต่ดั้งเดิม รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ได้รับการส่งเสริม มีการปรับปรุง ปรุงแต่งให้มีรสชาติดีขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุน ยื่นขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จึงขอเชิญชวนต้องไปชิมส้มโอเมืองลอง

แรงกระเพื่อมหลังการจัดงานแถลงข่าว
ภายหลังการจัดงานแถลงข่าว กลุ่มส้มโออัตลักษณ์ ได้ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดแพร่ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ส้มโอทางเพจเฟซบุ๊กออกไปทางสื่อออนไลน์ ก็มีคำสั่งซื้อเข้ามายังกลุ่มเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มได้เข้าดูสวนส้มโอของสมาชิกเพื่อคัดคุณภาพส่งให้ผู้สั่งซื้อ จนสามารถจัดส่งได้จนครบถ้วน ทั้งนี้ กลุ่มได้รับความอนุเคราะห์จากพาณิชย์จังหวัดแพร่ มอบกล่องบรรจุภัณฑ์ของกรมการค้าภายใน และกล่องบรรจุภัณฑ์จากไปรษณีย์ไทย (ไปรษณีย์อำเภอลอง) ให้แก่กลุ่มได้ดำเนินการจัดส่งผ่านที่ทำการไปรษณีย์ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 โดยได้รับการยกเว้นค่าขนส่ง

กลุ่มได้รับการติดต่อจากตัวแทนห้างโมเดิร์นเทรด บริษัทผู้ส่งออกส้มโอไปยังต่างประเทศ จากการประสานงานของพาณิชย์จังหวัด เข้าเจรจาทางการค้าและขอเข้าดูแปลงผลผลิตส้มโอของสมาชิก และมีห้างโมเดิร์นเทรด ยินดีที่จะให้กลุ่มนำผลผลิตส้มโอเข้าไปวางจำหน่ายในห้าง เป็นการเปิดตลาดให้ผู้บริโภคได้ซื้อหา

สมาชิกภูมิใจและปลื้มใจที่ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มไม้ผลอัตลักษณ์
คุณจำเนียร ธินวล อยู่บ้านเลขที่ 116 หมู่ที่ 4 บ้านโคนป่าหิน ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทร. 081-796-2134 กล่าวอย่างภาคภูมิใจที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไม้ผลอัตลักษณ์ ว่า เป็นสิ่งที่ดีกับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในพื้นที่ของอำเภอลอง ที่จะได้รับมาตรฐาน GI ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ว่า พื้นที่ของอำเภอลองมีความเหมาะสมกับการปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งที่มีรสชาติจากอานิสงส์ของธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้ให้ ดินน้ำไหลทรายมูล ให้เป็นที่พึงพอใจ ชื่นชอบของผู้บริโภค และ GI จะช่วยส่งเสริมทางด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะมีการขยายการผลิตและพัฒนาคุณภาพตลอดไป และที่ดิฉันเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มไม้ผลอัตลักษณ์นั้น มีประโยชน์ในด้านการตลาดของกลุ่ม สร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน ทั้งยังได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดความรู้ ทักษะและทัศนคติในการรวมกลุ่มกันผลิต

ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ (ส้มโอ) มีสมาชิก 30 ครัวเรือน บริหารกลุ่มโดยคณะกรรมการกลุ่มส้มโออัตลักษณ์พื้นถิ่นเมืองลอง จำนวน 4 คน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นประธานกลุ่ม กรรมการศึกษา กรรมการประชาสัมพันธ์ และกรรมการการตลาด

มีช่องทางการสื่อสารผ่านเพจเฟซบุ๊ก : ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง
อีกโครงการหนึ่ง โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ดำเนินการส่งเสริมโดยสำนักงานเกษตรอำเภอลอง คุณจรรฎา ดีปาละ และมีเจ้าหน้าที่แนะนำส่งเสริม คุณสราวิชญ์ สายมงคล

ระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ : เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่
โดยมีการวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน โดยสมาชิกจะร่วมกันกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพทุกขั้นตอน จนถึงการเชื่อมโยงตลาด

มีกิจกรรมที่ส่งเสริมในพื้นที่ ได้แก่
- จัดทำแผนและเป้าหมาย 5 ด้าน (ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ)
- ถ่ายทอดความรู้และการบริหารงานแก่สมาชิก โดยเน้นการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐาน การพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ความเข้มแข็งของกลุ่ม และการเชื่อมโยงตลาด
- การรวมกลุ่มบริหารจัดการร่วมกันโดยการรวมกันผลิต รวมกันขาย
- มีแปลงเรียนรู้ด้านการลดต้นทุน
- จัดทำกล่องบรรจุภัณฑ์พร้อมข้อความเรื่องราวความเป็นมาและคุณค่าของส้มโอ และสติ๊กเกอร์สำหรับบรรจุ และติดที่ผลส้มโออ้างอิงแหล่งที่ผลิต

บริหารองค์กรกลุ่มเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้เข้มแข็ง
การบริหารองค์กรกลุ่ม มีประธานกลุ่มและกรรมการดูแลด้านต่างๆ ตามองค์ประกอบของเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้แก่ ด้านการบริหารการผลิต ด้านดินน้ำธาตุอาหาร ด้านอารักขาพืช ด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาด ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการบริหารองค์กร

การบริหารสมาชิก แบ่งเป็นกลุ่มย่อยแต่ละตำบล สมาชิกเลือกประธานกลุ่มย่อย และเลือกกรรมการร่วมเป็นองค์คณะกรรมการกลุ่มแปลงใหญ่
มีองค์ประกอบของการบริหารแปลงใหญ่คือ ผู้จัดการแปลง มีที่ปรึกษาร่วมเป็นทีมบริหารให้เกิดการขับเคลื่อนนำไปสู่ความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้

คุณจรรฎา ดีปาละ เกษตรอำเภอลอง กล่าวถึงการส่งเสริมกลุ่มแปลงใหญ่ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แปลงใหญ่ส้มโออำเภอลองประสบผลสำเร็จ ต้องเกิดจากตัวเกษตรกรเองก่อนด้วยความร่วมมือร่วมใจ รวมกลุ่มที่มีเป้าประสงค์ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น รวมคน รวมพื้นที่เป็นกลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอ และต้องการจะพัฒนาคุณภาพการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP ควบคู่กันไป และมีเรื่องราว (story) เชื่อมโยงเป็นพืชอัตลักษณ์ หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อพัฒนาการตลาด มีปฏิทินดูแลรักษาแปลงส้มโอทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง การยอมรับเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพ การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีความปลอดภัยสู่มาตรฐาน จนถึงมือผู้บริโภค ส่วนนโยบายการช่วยเหลือ หรือให้การสนับสนุนจากภาครัฐ สำนักงานเกษตรอำเภอลองจะส่งเสริมให้มีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ผลผลิตมีมาตรฐาน มีตลาดนำ สนับสนุนเกษตรกรมีความเข้มแข็ง โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน หนุนเสริมในแต่ละด้าน ส่วนกลุ่มต้องมีกฎ กติกา การบริหารจัดการ ตามวัตถุประสงค์ของเกษตรแปลงใหญ่

เรื่องสำคัญที่อยากฝากให้กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ส้มโออำเภอลอง ได้ยึดถือปฏิบัติ คือ
1. เกษตรกรต้องระลึกอยู่เสมอว่า ส้มโอไม่ใช่มีที่ลองที่เดียว มีพื้นที่ปลูกได้ทั่วประเทศ มีขายตามตลาดสด และตลาดข้างทาง หรือตลาดในระดับล่าง ระดับกลาง และระดับสูง เราต้องเน้นจุดขายที่มีความโดดเด่นความเป็นเอกลักษณ์ในตัวของผลผลิต มีคุณค่าและความอร่อยอย่างไร
2. เน้นความซื่อสัตย์ของเกษตรกรต่อผู้บริโภคในด้านคุณภาพ รสชาติ ราคา ให้มีความสม่ำเสมอ มีตลาดที่ยั่งยืนตลอดไป

สมาชิก “ปลื้ม” ที่เข้าร่วมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่
คุณอุดมศักดิ์ สอนแก้ว อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 12 บ้านแม่ลานใต้ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทร. 089-888-8576 ได้แสดงทัศนะที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ว่า เข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อเป็นพลังในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่ม และเชิญชวนเกษตรกรเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งตัวผมเองและสมาชิกหลายๆ คน ต่างก็ต้องการช่วยขับเคลื่อนกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง เพราะกลุ่มจะต้องอยู่กับเราตลอดไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิกก็ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งประวัติ การปลูก ดูแลส้มโอมากขึ้น ทำให้ผมและสมาชิกตื่นตัวที่จะผลิตส้มโอตามความต้องการของตลาด และที่สำคัญได้รับแรงบันดาลจากการสนับสนุนของส่วนราชการทั้งระดับอำเภอ จังหวัด ทั้งในด้านความรู้และการตลาด และยิ่งมีความภาคภูมิใจ ปลื้มใจที่มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด สถิติจังหวัด เกษตรอำเภอลอง และอีกหลายท่านได้มาเยี่ยมเยียนที่สวนผม ได้แนะนำ ชี้ช่องทางการตลาด ทำให้ผลผลิตส้มโอของผมได้รับการตอบรับที่ดี มีตัวแทนห้างโมเดิร์นเทรดเข้ามาดูและขอให้นำส้มโอไปวางขายในห้างตามเงื่อนไขของห้าง

ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีสมาชิก 95 ครัวเรือน พื้นที่รวมเป็นแปลงใหญ่ 356 ไร่ 3 งาน ปริมาณผลผลิตส้มโอ (จากการประเมินผลผลิตปี 2565) จำนวน 318 ตัน ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และทยอยออกระหว่างปี แต่มีปริมาณไม่มากนัก

ช่องทางการติดต่อสื่อสารทางเพจเฟซบุ๊ก : กลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอเมืองลอง หรือทางโทรศัพท์ 084-739-9239 หรือติดต่อสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ 054-511-214 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแพร่ 054-511-118 สำนักงานเกษตรอำเภอลอง 054-581-486