“ฟาร์มสินไพศาล” สวนเกษตรลุงอ้วนห้วยแถลง ทำเกษตรที่ดี มีระบบและระเบียบ

ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอดหลายปีนี้ บวกกับสถานการณ์โรคโควิดทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่วทุกครัวเรือน ราคาสินค้าขึ้นกันแทบทุกชนิด ยกเว้นราคาข้าวเปลือกของชาวนา มีราคา 1 กิโลกรัมเท่ากับบะหมี่สำเร็จรูป 1 ซอง แต่ดีที่ภูมิประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรมีดินฟ้าอากาศเป็นใจต่อการทำเกษตรและมีชาวบ้านเป็นเกษตรกรกันมากพอควรจึงสามารถหลุดพ้นความหิวท้อง เพราะอยู่กันในต่างจังหวัดมีพื้นที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารได้ 

ลุงอ้วน

ที่น่าเป็นห่วงกับลูกหลานเกษตรกรที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาเพื่อเป็นลูกจ้างในเมือง พอเศรษฐกิจพังก็ถูกปลดออกกันเป็นแถว จากประสบการณ์ทำงานในโรงงาน ห้างร้าน บริษัท ไม่สามารถนำมาทำเลี้ยงชีพได้ตอนกลับมาอยู่บ้านนอก ต้องปรับตัวเรียนรู้กันยกใหญ่ ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้างตามความสามารถของตนเอง

สระน้ำสำรอง

เรื่องราวในวันนี้ไม่ได้เขียนเรื่องการทำเกษตรโดยตรง แต่ถือเป็นแนวคิดและประสบการณ์ที่ล้มลุกคลุกคลานได้มาจากประสบการณ์ของตัวเองของเกษตรกรท่านหนึ่ง ที่ไม่มีความรู้เรื่องเกษตรเลย แต่ฝ่าฟันมาจนยืนหยัดมาได้

สวนกล้วยน้ำว้า
กล้วยให้ผลผลิตดี

เดิม คุณนพอนันต์ เลาหพูนรังสี หรือ ลุงอ้วน เรียนจบบัญชีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กลับมาเปิดร้านขายของชำอยู่ที่บ้าน ช่วงปี 2512-2518 เป็นช่วงที่อำเภอห้วยแถลงแล้งติดต่อกันหลายปี การทำการเกษตรไม่ได้ผล เกษตรกรไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ทำให้ร้านค้าพลอยย่ำแย่กันไปด้วย ทำให้คุณนพอนันต์ต้องออกไปหางานทำตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาให้กับบริษัทในเมือง ทำอยู่หลายสิบปี จนเมื่อ 7 ปีก่อนได้ลาออกมาทำการเกษตรบนผืนดินของตัวเองที่ให้คนเช่าทำมาตลอด

กล้วยคุณภาพดี คัดขายเพื่อบริโภคสด

ด้วยความมั่นใจว่ามีความรู้จากการศึกษาเรียนรู้ด้านเกษตรจากหนังสือบ้าง สื่อออนไลน์บ้าง จึงกลับมาทำการเกษตรบนพื้นที่ทั้ง 28 ไร่ของตัวเอง โดยการทำนาและปลูกมันสำปะหลัง ช่วงดังกล่าวเกิดภัยแล้งติดต่อกันสองปีทำให้เสียหายขาดทุนติดต่อกัน จึงเปลี่ยนความคิดว่าการเกษตรจะต้องมีน้ำ เพราะที่ผ่านมาเสียหายจากภัยแล้งโดยอาศัยน้ำจากฝน เลยปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เนื่องจากที่ดินมีลักษณะลาดไม่เท่ากัน จึงขุดสระเก็บน้ำขนาด 1 ไร่ไว้บนที่ดินที่มีระดับต่ำสุด พืชที่ปลูกได้น้ำสม่ำเสมอจึงให้ผลผลิตดี แต่มีค่าใช้จ่ายมาก จึงเพิ่มการขุดสระใหม่เพิ่มในพื้นที่ระดับกลางอีก 1 ไร่กว่า และต่อมาได้ขุดสระเพิ่มอีก 1 สระในพื้นที่ระดับสูงซึ่งสูงจากระดับล่างประมาณ 8 เมตร เนื่องจากการถ่ายน้ำลงมาด้านล่างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย ไม่ว่าน้ำมันหรือไฟฟ้า

ปลูกตามแนวคลองไส้ไก่ ไม่ต้องรดน้ำ

โดยใช้คลองไส้ไก่ที่ขุดไว้ จะสามารถกระจายความชื้นรอบๆ คลองกว้างได้ทั้งสองข้างหลายเมตร เพราะคลองไส้ไก่ที่ขุดจะมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร และความลึกประมาณ 1-2 เมตร ในคลองไส้ไก่สามารถเลี้ยงปลาได้เพื่อเป็นอาหารสำหรับตัวเองและคนงาน

ตะไคร้ ปลูกเพื่อกันแมลงและวัชพืช

ปัจจุบันการปลูกพืชแทบจะไม่ต้องรดน้ำ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการปลูกกล้วย เมื่อมีความชื้นทั่วสวนเราก็สามารถปลูกพืชอย่างอื่นได้หลากหลาย เช่น มะละกอ น้อยหน่า มะม่วง ฝรั่ง การทำเกษตรแปลงใหญ่เลยโดยที่มีความรู้จากแผ่นกระดาษหรือสื่อออนไลน์ไม่สามารถนำมาใช้ในการทำจริงได้หมด ส่วนใหญ่ที่เราเห็นเป็นการนำแสดงให้เห็นเมื่อเกษตรกรเหล่านั้นประสบความสำเร็จแล้ว เราจึงลอกโมเดลของเขามาใส่ลงในพื้นที่เราซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับโมเดลนั้น ความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศ ปริมาณฝน ลักษณะดิน และธาตุอาหารในดินไม่เหมือนกัน รวมถึงการกักเก็บน้ำของพื้นที่ว่าทำได้หรือไม่

คลองสาธารณะ
ปล่อยลูกปลาเลี้ยงหลังจากอนุบาลในคลองไส้ไก่

อีกอย่างหนึ่งที่ยังไม่ได้พูดถึงคือ เมื่อลุงอ้วนประสบปัญหาในการทำเกษตรแปลงใหญ่จึงแบ่งเนื้อที่ให้เขาเช่าโดยให้เหลือพื้นที่ทำเองแค่ 10 ไร่ สามารถเอาเงินค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายได้อีก จากสวนกล้วยเพียง 1 ไร่ ค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ เนื่องจากสวนไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอีกแล้ว ทำให้ปัจจุบันสามารถปลูกกล้วยได้ทั้งสิบไร่ ผลผลิตที่ได้แล้วจาก 6 ไร่ ส่วนอีก 4 ไร่จะเก็บผลผลิตได้ปลายปีนี้ เฉพาะรายได้ขายกล้วยน้ำว้า 20,000-40,000 บาท

ไผ่ ปลูกเพื่อขายหน่อและใช้ลำ

ส่วนหนึ่งขายปลีกที่ร้านค้าเอง กล้วยน้ำว้าของสวนมีผลผลิตและรสชาติดีมาก ไม่มีโรคและแมลงรบกวน เพราะในส่วนช่องว่างระหว่างต้นกล้วยได้ปลูกตะไคร้แซมไปตลอด แต่กล้วยไข่กล้วยหอมไม่สามารถปลูกได้เนื่องจากลมค่อนข้างแรง การปลูกตะไคร้แซมในร่องกล้วยทำให้ไม่ต้องทำรุ่นทุก 3 เดือน ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง และยังมีผลดีคือแมลงศัตรูพืชไม่ค่อยมี วัชพืชก็น้อยลง การทำรุ่นทำครั้งเดียวใน 1 ปีในฤดูแล้งเพื่อไม่ให้ไฟลามเข้ามาในสวน ก่อนปลูกกล้วยได้ปลูกทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้แพง แต่ไม่ได้ผล

เลี้ยงสัตว์ เพื่อกำจัดของเหลือในฟาร์มและได้มูลสัตว์ทำปุ๋ย

นาที่ทำเป็นนาข้าว 22 ไร่ การทำสวนผสมทุกอย่างทำให้เราไม่มีเวลาว่าง คือต้องเอาใจใส่สวนทุกวัน ในพื้นที่ว่างก็ปลูกพืชผักสวนครัวเหลือกินเอามาขาย เช่น พริก ถั่วฝักยาว แตงกวา การทำผลผลิตแปลงขนาดใหญ่จะต้องมีข้อตกลงกับคนซื้อไว้ก่อน ถ้าตกลงกันไว้แล้วไม่ว่าจะราคาสูงหรือต่ำเขาก็จะซื้อผลผลิตนั้น เขาจะซื้อของเกษตรกรอิสระก็ต่อเมื่อของเขาไม่พอเท่านั้น ถ้าของล้นแทบจะขายไม่ได้เลย ทางสวนเคยทำแตง 2 ไร่ขายได้เกือบแสนบาท เพราะของในตลาดขาด พอทำรุ่นสองไม่มีราคาเพราะแตงเกลื่อนตลาดทำให้ขาดทุน พ่อค้าเขารับซื้อเฉพาะลูกไร่ของเขา

นาข้าว ปลูกเพื่อขายข้าวสารและแกลบ ฟางสำหรับใช้ทำสวน

จากบทเรียนนี้ ทำให้เรารู้ซึ้งถึงระบบกลไกราคาที่นอกเหนือการควบคุม จึงทำให้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์โดยการปลูกพืชให้หลากหลาย และนำไปสู่ตลาดขายปลีกในชุมชน เช่น กล้วยที่สวนรสชาติดี คัดเฉพาะกล้วยที่สวยงามเต็มที่ขายเป็นกล้วยกินสด ส่วนกล้วยรองลงมาขายสำหรับเอาไปแปรรูป กล้วยทอด กล้วยปิ้ง กล้วยฉาบ ส่วนกล้วยที่ไม่สวยก็นำมาให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้เองกิน ส่วนต้นกล้วยหลังจากที่ตัดแล้วก็จะนำมาให้สัตว์กินเช่นกัน ข้าวที่ผลิตได้ก็นำมาสีขายเอง บางส่วนที่ไม่ได้คุณภาพก็นำมาทำอาหารสัตว์ ผลพลอยได้จากการทำนาคือ ฟางและแกลบก็นำมาใช้ในสวนเอง

ตากจนแห้ง แล้วเก็บเข้ายุ้ง

ลุงอ้วนแห่งสวนเกษตรแห่งนี้ บอกเราว่า การพัฒนาการเกษตรต้องสร้างระบบแบบเป็นระเบียบที่ดีพอจึงจะสามารถพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรให้มีศักยภาพและความรู้ความสามารถได้อย่างแท้จริง การเรียนรู้แบบหว่านแห เป็นการเรียนรู้ที่เสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์มากในอาชีพเกษตร จึงขอแบ่งการเรียนรู้ของการเกษตรออกเป็น 4 ระดับ คือ

1. ระดับประถม เกษตรกรควรเรียนรู้พื้นฐานของการเกษตร การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ในปริมาณไม่มากก่อน เรียนรู้ว่าพืชแต่ละชนิดหน้าตาเป็นเช่นไร มีคุณสมบัติและประโยชน์อย่างไรกัน พืชและสัตว์แต่ละชนิดต้องการอะไร มีอะไรเป็นพิเศษเพื่อการดูแลพืชและสัตว์เหล่านั้นและผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลักก่อน

2. ระดับมัธยม เป็นการพัฒนาการเรียนรู้สูงกว่า การดูแลพื้นฐานเพราะต้องรับผิดชอบในปริมาณการผลิตที่มากกว่าระดับประถม เรียนรู้อุปสรรคและปัญหาเมื่อขยายการผลิตมากขึ้นต้องพบปัญหามากขึ้น ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน เรียนรู้ช่องทางการตลาดเบื้องต้นก่อน ทำการค้าภายในชุมชนและหมู่บ้านของตนเองก่อนสูงสุดคือภายในอำเภอ

3. ระดับวิทยาลัย คือพัฒนาการเรียนรู้ที่ยากขึ้นมาอีกเพื่อปรับปรุง ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ของพืชสัตว์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น อาจใช้พื้นที่ทดลอง ทดสอบ ต้องมีระยะเวลารอคอย ให้การตรวจสอบติดตามการพัฒนาเป็นไปอย่างใกล้ชิดถูกต้อง การตลาดแค่ภายในจังหวัดหรือภายในประเทศ

4. ระดับมหาวิทยาลัย เป็นการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องยากๆ เกินกว่าบุคคลทั่วไปจะเข้าใจได้ง่ายๆ ต้องมีห้องแล็บ ห้องวิจัย ต่อยอดการผลิตแบบขั้นสูงสุด เลี้ยงเนื้อเยื่อ ผสมเทียม เรียนรู้การตลาด การส่งออกระดับประเทศ

หน่อไม้มีมากก็ตัดขาย

บทเรียนจากการทำเกษตรนี้อาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยแก่ผู้ที่ตัดสินใจจะเข้ามาในวงการเกษตรนี้ สวนเกษตรลุงอ้วนห้วยแถลง ตามความตั้งใจต้องการเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่อยากทำเกษตร สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ ฟาร์มสินไพศาล อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา หรือในเฟซบุ๊ก NopA-nunt Loahahoonrangsri โทร. 091-828-1457

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2565