หมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา “พระมารดาแห่งไหมไทย”

ผ้าไหมและเส้นไหมสกลนคร

เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 กรมหม่อนไหม ได้จัดทำโครงการสำคัญหลายโครงการเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายในการพัฒนางานศิลปาชีพและส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมแก่พสกนิกรไทยมายาวนานกว่า 40 ปี และทรงเป็น “พระมารดาแห่งไหมไทย” ซึ่ง “โครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2559” เป็นหนึ่งโครงการที่กรมหม่อนไหมได้สนองพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งอนุรักษ์ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน วิธีการเลี้ยงไหม และการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านให้คงอยู่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของประเทศสืบไป

คุณอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม
คุณอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม

คุณอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 84 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย เลย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น มุกดาหาร นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ชุมพร อุทัยธานี ราชบุรี และนราธิวาส มีเกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านละไม่น้อยกว่า 10 คน เป้าหมายรวมกว่า 840 คน ทั่วประเทศ

ผลหม่อน ที่จังหวัดบุรีรัมย์
ผลหม่อน ที่จังหวัดบุรีรัมย์

ทั้งนี้ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ พร้อมสนองพระราชดำริของพระองค์ในการอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งยังมุ่งพัฒนายกระดับการเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านของเกษตรกรรายย่อยให้มีประสิทธิภาพ และเป็นแหล่งผลิตเส้นไหมที่มีคุณภาพมาตรฐานสำหรับนำไปผลิตผ้าไหมไทยภายใต้เครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานสีทอง (Royal Thai Silk) ขณะเดียวกันยังมุ่งให้ความรู้และฝึกทักษะอาชีพด้านหม่อนไหมให้แก่นักเรียนในโรงเรียน เป็นช่องทางสร้างรายได้เสริม และให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้านหม่อนไหมด้วย

เบื้องต้นได้สำรวจและคัดเลือกหมู่บ้านที่มีเกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเข้าร่วมโครงการ จากนั้นกรมหม่อนไหมก็บูรณาการร่วมกับเกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วางแผนพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การจัดการแปลงหม่อนเพื่อเพิ่มผลผลิตใบ เช่น พัฒนาระบบน้ำในแปลงหม่อน หรือสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี เพื่อใช้บำรุงแปลงหม่อนครอบคลุมทั้ง 84 หมู่บ้าน นอกจากนั้น ยังปรับปรุงพื้นที่และส่งเสริมการปลูกหม่อนพันธุ์ดีในโรงเรียน จำนวน 8 โรงเรียน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน พร้อมผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมของเกษตรกรไปสู่เยาวชนในสถานศึกษา ทั้งการผลิตหม่อน การเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสี ทอผ้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไป

แผ่นใยไหม จังหวัดเชียงราย
แผ่นใยไหม จังหวัดเชียงราย

ขณะเดียวกันยังส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพไหมไทยพื้นบ้าน โดยให้คำปรึกษาและวางแผนการผลิตไข่ไหม การเลี้ยงไหม และการผลิตเส้นไหมไม่น้อยกว่า 6 รุ่น/ปี ทั้งยังให้ความรู้เรื่องการคัดเลือกพันธุ์ไหมไทยพื้นบ้านเพื่อขยายพันธุ์ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น รวมถึงการสาวไหม การสาวไหมเส้นยืน การตีเกลียวเส้นไหม และให้การสนับสนุนวัสดุสำหรับทำห้องเลี้ยงไหมแบบประหยัด วัสดุการเลี้ยงไหมและการผลิตไข่ไหมให้แก่เกษตรกรในโครงการ

การคัดเลือกหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทย ที่ร้อยเอ็ด
การคัดเลือกหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทย ที่ร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนายกระดับคุณภาพเส้นไหมไทยสู่มาตรฐาน โดยส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการจัดทำเส้นไหมไทยตามมาตรฐานเส้นไหมไทย (มกษ. 8000-2555) มาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และมาตรฐานเส้นไหมอินทรีย์ เป็นต้น และคัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมในการผลิตเส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านสำหรับเป็นเส้นไหมยืน พัฒนารูปแบบป้ายติดเส้นไหม พัฒนาบรรจุหีบห่อเส้นไหม จัดทำระบบตรวจสอบรับรองคุณภาพเพื่อจัดชั้นคุณภาพเส้นไหม และระบบการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตเส้นไหม

แปลงหม่อนของเกษตรกรบุรีรัมย์
แปลงหม่อนของเกษตรกรบุรีรัมย์

ที่สำคัญยังส่งเสริมการผลิตและการตรวจรับรองผ้าไหมไทยของ 84 หมู่บ้าน ภายใต้เครื่องหมายมาตรฐานตรา “นกยูงพระราชทานสีทอง” ซึ่งเป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านเป็นทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน มีกระบวนการผลิตที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกรได้

ผลิตภัณฑ์ขายได้มีราคา
ผลิตภัณฑ์ขายได้มีราคา

คุณอภัย กล่าวอีกว่า ทั้ง 84 หมู่บ้าน ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนรับรองให้เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติฯ โดยกรมหม่อนไหมจะจัดทำฐานข้อมูลแหล่งผลิต สินค้าที่ผลิต และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ด้านหม่อนไหมประจำหมู่บ้าน ซึ่งพิจารณาจากจุดเด่นของแต่ละแห่ง อาทิ อัตลักษณ์ด้านเส้นไหม และลวดลายผ้า เป็นต้น และมีแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหม่อนไหมเชิงอนุรักษ์ และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกรด้วย

 

“อนาคตคาดว่า หมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้านฯ จะช่วยเพิ่มผลผลิตเส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่มีคุณภาพมาตรฐานสำหรับใช้ทอผ้า เกิดระบบการผลิตไข่ไหมและเส้นไหมยืนในชุมชนที่มีการผลิตตามหลักวิชาการและมีการควบคุมคุณภาพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไข่ไหม เลี้ยงไหม การผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้าน แก่นักเรียน เยาวชน และผู้สนใจทั่วไป มีการขยายผลทายาทด้านหม่อนไหม ซึ่งจะช่วยสืบสานและอนุรักษ์ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว