KomilO แอปฯ ตรวจจับการเป็นสัดของโคนม ฝีมือคนไทย ผลงานสร้างสรรค์โดยนักศึกษา มจธ.

จากโจทย์ “ต้นทุนต่ำ ใช้งานง่าย” สู่การพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น KomilO ระบบ IoT ฝีมือคนไทย โดยนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แอปพลิเคชั่นที่ตรวจจับการเป็นสัดของโคนม ด้วยเซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

โคนม

รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และทีมนักศึกษา โปรเจ็กต์ KomilO ได้แก่ คุณมินธร พันธ์ถาวรวงศ์ นักศึกษาปริญญาเอก คุณตรีเทพ แซ่โง้ว นักศึกษาปริญญาเอก คุณกฤษกร ลาศรี ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรี คุณกณวรรธณ์ ผึ่งผดุง ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรี คุณฐิติกร วังแสน นักศึกษาปริญญาโท และ คุณวรวลัญช์ ตรีทิพยะนันท์ ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนา แอปพลิเคชั่น KomilO เพื่อแก้ปัญหาการตรวจจับการเป็นสัตว์ของโคนม ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

ระบบเซ็นเซอร์ ที่ติดบริเวณหูของโค
Komilo-ตย. การตรวจพบว่าเป็นสัดในโค

ด้าน รศ.ดร.ราชวดี เล่าว่า จุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชั่น KomilO และระบบวิเคราะห์การเป็นสัดของโคนมด้วยเทคโนโลยี IoT ถูกวิจัยและสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหา “โคผสมติดยาก” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของฟาร์มโคนม เนื่องจากโคแม่พันธุ์จะไม่ผลิตน้ำนม หากไม่มีการผสมพันธุ์ ตั้งท้อง และคลอดลูกโคนม

“จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้มาจากฟาร์มโคนมส่วนใหญ่ มักเจอปัญหาโคที่เป็นสัดและผสมพันธุ์ไม่สำเร็จ ซึ่งเกิดจากที่ฟาร์มโคนมส่วนใหญ่นั้น มักใช้คนในการเฝ้า เพื่อดูอาการเป็นสัดของโคนม ก่อนที่จะเรียกสัตวแพทย์มาทำการผสมเทียม แต่เนื่องจากโคมักจะเป็นสัดในช่วงเวลากลางคืน ก็จะพลาดการตรวจจับการเป็นสัด ทุกครั้งที่พลาดการตรวจจับการเป็นสัด เกษตรกรก็ต้องเลี้ยงโคแบบท้องเปล่าไปอีกประมาณ 21 วัน ซึ่งจะเสียค่าอาหารตกวันละ 100 กว่าบาทนะคะ เพราะฉะนั้นใน 1 รอบ ก็จะเสียเงินไปประมาณ 1,000 กว่าบาท โดยที่ไม่ได้อะไรเลยค่ะ”

ตัวอย่างหน้าตา UX-UI ในส่วนของ Application

จากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าฟาร์มโคนมไทยส่วนใหญ่สามารถตรวจพบโคที่แสดงอาการเป็นสัดและผสมพันธุ์สำเร็จได้ไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตรวจจับสัดล่าช้าและผิดพลาด เกษตรกรจึงต้องเลี้ยงโคนมท้องเปล่าจนถึงรอบเป็นสัดครั้งต่อไป ซึ่งโดยปกติโคมีวงรอบการเป็นสัดเฉลี่ย 21 วัน

ด้านคุณมินธรฝ่ายเครือข่ายสื่อสารเล่าถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า การออกแบบและพัฒนาระบบวิเคราะห์การเป็นสัดของโคนมด้วยเทคโนโลยี IoT แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. เซ็นเซอร์
  2. ระบบเครือข่ายสื่อสาร
  3. แอปพลิเคชั่นและการจัดการข้อมูล

ซึ่งในส่วนสุดท้ายนี้เป็นการออกแบบและพัฒนาเว็บแอปพลิเคชั่น สำหรับแจ้งเตือนสภาวะการเป็นสัด รวมถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผสมเทียมแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟนของเกษตรกร

“ความยากของการทำระบบเน็ตเวิร์กคือ เนื่องจากระบบเน็ตเวิร์กต้องเป็นตัวกลางในการรับข้อมูลจากฝั่งเซ็นเซอร์และต้องส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังแอปพลิเคชั่น ซึ่งหากระบบเน็ตเวิร์กทำงานผิดพลาด ข้อมูลส่งไปไม่ถึงแอปพลิเคชั่นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และการทำนายการเป็นสัดของโคนม ดังนั้น จึงต้องออกแบบเน็ตเวิร์กให้เสถียรมากที่สุด”

ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น KomilO มีการทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์ 2 ตัว ติดบริเวณหูและโคนหางของโคนม โดยเซ็นเซอร์บริเวณหูมีขนาดเท่ากับนามบัตร ทำหน้าที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวของโคนม เพื่อนำไปแยกแยะพฤติกรรมต่างๆ ได้แก่ เดิน กิน ยืน นอน โดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรและนำพฤติกรรมที่แยกแยะได้ไปใช้ทำนายการเป็นสัด ผ่านเงื่อนไขที่กำหนดโดยมีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษาตลอดการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีเซ็นเซอร์บริเวณโคนหาง เนื่องจากขนของโคนมมีลักษณะมันและลื่น รวมทั้งโคนมมีการเคลื่อนไหวร่างกายค่อนข้างมาก จึงมีการออกแบบโดยใช้วัสดุซิลิโคนที่ยืดหยุ่นและเกาะติดเข้ากับโคนหาง โดยใช้ผ้าบางติดกาวยึดบนตัวโคนม และมีสายรัดหางปรับความยาวได้ เซ็นเซอร์ดังกล่าวทำหน้าที่ตรวจจับการถูกขึ้นขี่ของโคนมตัวเมียซึ่งการถูกขึ้นขี่เป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงการเข้าสู่สภาวะการเป็นสัด

โดยข้อมูลจากเซ็นเซอร์จะถูกส่งผ่านเครือข่ายสื่อสารแบบไร้สายไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อประมวลและวิเคราะห์ผลนั่นเอง ทั้งนี้ เซ็นเซอร์ทั้ง 2 แบบ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา กินพลังงานต่ำ โดยเซ็นเซอร์บริเวณหูสามารถใช้งานได้ถึง 14 วันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนเซ็นเซอร์บริเวณโคนหางสามารถใช้งานได้เป็นหลักเดือนต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ปัจจุบันยังอยู่ในการทดลองเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งทางทีมงานยอมรับว่าต้องมีการพัฒนาให้เสถียรมากขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานในเชิงพาณิชย์

Komilo-ตย. การตรวจพบว่าเป็นสัดในโค

ด้านคุณตรีเทพเล่าถึงการทำงานว่า แม้การทำงานในครั้งนี้จะเป็นการทำงานที่ต้องใช้เวลา ทั้งการหาข้อมูล การลงพื้นที่ และการพัฒนาแอปพลิเคชั่น แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์การทำงานเป็นทีมเวิร์กที่ดี มีการพูดคุยสนับสนุนการทำงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทั้งทีมงาน สัตวแพทย์ และเกษตรกร

“ในเบื้องต้นเรายังไม่ได้มีการเปิดใช้งานแบบหลากหลายผู้ใช้งาน ส่วนมากแอปฯ จะถูกใช้งานในฟาร์มโคนมที่เราทำวิจัยร่วมด้วย ก็คือตัวสัตวบาลกับตัวเจ้าของโคนม ผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะนี่เป็นการทำงานกับตัวสัตวบาลอยู่แล้ว ก็คือเราก็ถามเขาเลยว่า เขาต้องการอะไรที่จะแสดงผลบ้างแบบนี้ครับ เขาก็จะตอบกลับเรามาว่าอยากได้อะไร เราก็ทำไปให้เขาดูครับว่าถ้าเราออกแบบเป็นลักษณะนี้แล้ว สามารถใช้งานได้สะดวกไหมครับ คือเราพยายามออกแบบและทำตามสิ่งที่เขาต้องการเลยครับ ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานในท้องถิ่นนั้นๆ เลยครับ”

เช่นเดียวกับคุณกฤษกร เล่าว่า การได้ทำงานชิ้นนี้รู้สึกภาคภูมิใจมากและถือเป็นงานที่ท้าทาย เนื่องจากมีการแก้ไขในเรื่องการออกแบบดีไซน์หลายรอบเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด นอกจากนี้ ยังเห็นว่าหลายฝ่ายควรให้การสนับสนุนเกษตรกรในการเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ เพราะน้ำนมวัวที่มีคุณภาพจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม การทำงานในครั้งนี้ถือเป็นการใช้โจทย์จากความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นตัวตั้ง โดยในอนาคตยังต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อให้เกิดความเสถียรภาพมากที่สุด เพื่อเข้าสู่โหมดการนำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์นั่นเอง

ทีมงาน Komilo

“แอปฯ เราออกแบบมาให้ทำงานถึงกันกับตัวสัตวบาลที่อยู่ภายในฟาร์มครับ ซึ่งจะคอยแนะนำว่าตัวแอปฯ ของเราควรมีอะไรบ้างครับ เราจึงออกแบบมาให้งานง่ายที่สุด ส่วนในเรื่องความใช้ยากก็คือ หลักๆ ก็ไม่มีอะไร มีเพียงการกรอกข้อมูลนิดหน่อยก็สามารถใช้งานได้เลย เราพยายามที่จะออกแบบแอปฯ สามารถใช้งานกับตัวอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีอยู่ด้วย เพราะโค 1 ตัวเมื่อเราผสมเสร็จ เราก็สามารถที่จะถอดและนำไปใช้กับโคตัวอื่นได้ครับ”

ในอนาคตข้างหน้าทางทีม KomilO กำลังวางแผนเพื่อแก้ไขในเรื่องของต้นทุนการผลิต เพราะต้องการให้แอปพลิเคชั่น KomilO นั้น สามารถเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งรายหลักและรายย่อย

ระบบเซ็นเซอร์ ที่ติดบริเวณโคนหางของโค

“การผลิตอุปกรณ์หรือเครื่องมือเหล่านี้ขึ้นมาใช้เอง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการเกษตร สามารถต่อยอดงานวิจัยและไปใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรไทย และถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาทางด้านเกษตรปศุสัตว์โดยฝีมือคนไทยในราคาที่สามารถจับต้องได้” รศ.ดร.ราชวดี กล่าวทิ้งท้าย

Application Komilo

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่น KomilO สามารถติดต่อสอบถามได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก @KomilO.Smart.Cow หรืออีเมลสอบถามได้ที่ [email protected]