อิสราเอล จ้าวแห่งเทคโนโลยีทะเลทราย

บ้านเรานั้นพูดอีกก็ถูกอีกว่าเป็นเมืองเกษตรกรรม ด้วยว่าเงื่อนไขทั้งหมดทั้งปวงเอื้ออวยเต็มที่ ภูมิประเทศเหมาะเหม็ง ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป มีแผ่นดินติดต่อกันเป็นผืนใหญ่เหมาะแก่การเพาะปลูก มีแหล่งน้ำภายในมหาศาล พื้นที่ติดทะเลอีกยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร น่านน้ำกว้างขวางกว่า 300 ตารางกิโลเมตร ปลูกข้าวได้ปีละเกือบ 30 ล้านตัน จับปลาทะเลได้ปีละ 1.5 ล้านต้น จับปลาน้ำจืดได้ปีละ 5 แสนตัน มีข้าวในนามีปลาในหนองของจริง

แต่ถ้าพูดว่าอิสราเอล ประเทศที่มีขนาดหนึ่งในสิบของไทย แถมโด่เด่กลางทะเลทราย แถมอีกหน่อยว่ามีการสู้รบกับปาเลสไตน์มาจะร้อยปีเข้าไปแล้ว คือบ้านเมืองร้อนรุ่มมะรุมมะตุ้มปานนี้ ก็เป็นเมืองเกษตรกรรมด้วย

อันนี้ก็ยากจะเชื่อ

แต่ไม่เชื่อก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นไปแล้ว อิสราเอลเป็นเมืองเกษตรกรรม เมืองเรือกสวนไร่นาจริงๆ ทั้งที่ก็อยู่กลางทะเลทราย และสู้รบกันอึงคะนึงไม่หยุดหย่อน แถมพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตรมีแค่ 20% เทียบกับของไทยที่มีมากกว่า 80%

คนไทยไปทำงานรับจ้างทำสวนทำนาที่อิสราเอลมาหลายสิบปี เสี่ยงกับระเบิดว่อนข้ามหัว แล้วก็กลับมาเล่าว่าการทำเกษตรกรรมของอิสราเอลก้าวหน้าขนาดไหน เกษตรกรรมแบบน้ำหยดก็เจอกันที่แรกที่นี่ ทุกวันนี้อิสราเอลก็ทำเกษตรกรรมน้ำหยด ซึ่งมันก็ไม่แปลก เพราะเขาเป็นทะเลทราย น้ำแต่ละหยดมีค่าเหลือคณานับ พื้นที่ก็ยิ่งมีน้อยกว่าน้อย ไหนจะหลบระเบิดอีก ฟังแล้วเหนื่อย

แต่เขาเป็นประสบความสำเร็จ เขาทำการเกษตรแบบเข้มข้น คือทำในทุกตารางนิ้วเท่าที่มี ถ้าปีนบันไดขึ้นไปปลูกอะไรบนอากาศได้เขาก็คงทำไปแล้ว ผลผลิตที่ได้เกือบครึ่งคือใช้บริโภคกันเอง อีกครึ่งแบ่งระหว่างแปรรูปกับส่งออกไปสัดส่วนเท่าๆ กัน

Advertisement

ผลผลิตของเขามีพืชผัก ทั้งผักเมืองร้อนเมืองหนาวมีหมด อันไหนหนาวเขาปลูกในเรือนกระจก เขายังมี ส้ม มะม่วง อะโวกาโด อินทผลัม ทับทิม ส่งออกปีละหลายหมื่นล้านบาท เอาแค่ที่ส่งไปใกล้ๆ คือย่านอาหรับ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ถูกชะตากันสักหน่อย ก็ปาเข้าไปปีละ 5 พันล้านบาท ซึ่งน่าอัศจรรย์ใจมากสำหรับประเทศเล็กๆ แบบนี้ ส่วนดอกไม้ เอาแค่กุหลาบที่เป็นดอกไม้ที่ส่งออกเยอะหน่อยก็ส่งออกปีละ 5 พันล้านบาท

เมื่อพื้นที่น้อยแต่ต้องการให้มีมูลค่าสูง สิ่งหนึ่งที่อิสราเอลทำคือ ผลิตพืชผักผลไม้อินทรีย์ เกษตรกรรมอินทรีย์ มีพื้นที่ประมาณ 1% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด แม้จะยังไม่มากแต่เขามีเป้าหมายว่าจะส่งเสริมสุดลิ่มทิ่มประตู

Advertisement

ที่เล่ามานั่นเรื่องเก่าทั้งสิ้น แต่ตอนนี้อิสราเอลกระโดดไปข้างหน้า (ไม่อยากเรียกว่าก้าว มันช้าไป) อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โลกมีประชากร 7 พันกว่าล้านคน และคาดว่าจะทะลุหมื่นล้านคนใน 28 ปีข้างหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นในขณะที่โลกมีพื้นที่เท่าเดิม น้ำเท่าเดิม อากาศเท่าเดิม แถมยังมีปัญหามลภาวะไปเสียทั้งหมด ดิน น้ำ อากาศ

ดังนั้น นอกจากปัญหาจะอยู่กันยังไงในบ้านหลังเท่าเดิม แต่คนมากขึ้นเกือบหนึ่งในสาม ก็ยังมีปัญหาจะเอาอะไรมาใส่ปากใส่ท้องให้ได้อิ่มกันครบ

เกษตรกรนับแต่วันนี้ไป ต้องทำสวนทำนายากลำบากขึ้น ในดินที่เสื่อมสภาพมากขึ้น น้ำหายากขึ้น แมลงโรคภัยมากขึ้น โลกร้อนมากขึ้น เอาให้กินกันอิ่มท้องทุกวันนี้ยังลำบาก จะไปถึงวันที่ต้องผลิตอาหารเลี้ยงคนหมื่นล้านได้อย่างไร  จะไหวไหม? จะมิตายกันก่อนรึ?

อิสราเอล ซึ่งอย่างที่บอกไปข้างต้น เป็นประเทศเล็กๆ อยู่กลางทะเลทราย ซ้ำยังมีภาระในการยิงสู้รบปรบมือกับปาเลสไตน์ทุกเมื่อเชื่อวัน จะทำอย่างไร

ที่แน่ๆ คือเขาไม่ยอมแพ้ คนที่เคยไปดูสวนผลไม้เขียวชะอุ่มของอิสราเอลที่เขาทำสำเร็จกลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง ก็จะรู้ว่า คำว่ายอมแพ้ หรือท้อ นี่อิสราเอลไม่รู้จัก

ตอนนี้ที่เขาทำแล้ว โดยทำกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ 350 กลุ่ม ก้าวไปไกลกว่าการให้น้ำแบบหยด แบบหยดตรงเป๊ะที่โคนต้นเหมือนที่ผ่านมา ก็ให้มันเป๊ะไปในเสียทุกเรื่องเลย ทั้งน้ำทั้งยา สารพัดนานาพันธุ์

เขาวิจัยและคำนวณเป๊ะว่า ต้นไม้ชนิดนี้ พันธุ์นี้ ปลูกในดินเท่านี้ เริ่มปลูกเดือนนี้ จะต้องได้น้ำเท่าไหร่ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี คำนวณกันออกมาเป็นจำนวนหยด จากนั้นก็รดน้ำไม่มีหกตกหล่น ปุ๋ยยาอันใดก็เช่นกัน เขาคำนวณเป๊ะ แล้วใส่ไปเท่านั้นเป๊ะ คำนวณกระทั่งเวลาที่จะรดน้ำใส่ปุ๋ยใส่ยา ว่าตีสี่ตีห้าอะไรก็ตามที ที่มันเหมาะกับต้นไม้ชนิดนี้ ผลไม้ชนิดนี้ แล้วก็ใส่ลงไปเป๊ะๆ

เขาบอกว่าเมื่อทำเช่นนี้แล้ว เขาจะคำนวณได้ว่าต้นไม้จะให้ผลวันไหน เดือนไหน ให้ต้นละกี่กิโล ขนาดผลจะประมาณเท่าไหร่ หากเป็นผักจะได้ต้นละกี่กิโล สิ้นฤดูการเพาะปลูกนี้จะได้ผลผลิตเท่าไหร่ จะออกจากสวนเมื่อไหร่ ไปถึงตลาดค้าส่งเมื่อไหร่ ไปถึงตลาดในแต่ละท้องถิ่นเมื่อช่วงเวลาเดินทาง ผักจะเก็บความชื้นไว้ได้กี่วัน เมื่อถึงปลายทางจะเหลือความชื้นกี่เปอร์เซ็นต์

ทั้งหมดนี้เขาทำจริงจัง ควบคู่ไปกับการพัฒนาพันธุ์พืชอย่างสุดชีวิต ให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพสูงสุดเหมือนเด็กสอบได้ที่หนึ่งตลอดชีวิต นางงามสิบมง คือต้องผลผลิตดีเลิศ สู้ได้ทุกภาวะอากาศ ทนโรค ทนแมลง เรียกว่าเจียระไนกว่าเพชรพลอย

ตอนนี้ในเวียดนาม อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ก็พากันทำเกษตรเป๊ะๆ นี้กันอย่างจริงจัง เพราะเขารู้ว่าเราไม่มีทรัพยากรที่จะใช้กันอย่างเหลือเฟืออีกแล้ว และเกษตรกรรมต้องได้ผลผลิตที่ดีที่มากขึ้นเท่านั้น

ไม่งั้นไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะได้อดตายกัน

แถมท้ายหมาดๆ ตอนช่วงโควิดระบาด นี่คืออิสราเอล บัดนี้ใช้หุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยสมองอัจฉริยะ (Intelligent Artificial :AI) บินเก็บผลไม้แล้ว เจ้าไอเอจะคำนวณละเอียดยิบแล้วสั่งให้หุ่นยนต์เก็บเฉพาะผลที่สุกได้ขนาด และเก็บโดยไม่ให้ช้ำ หุ่นยนต์ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีหยุด ไม่มีโอดครวญ คนไม่ต้องเกี่ยวแม้แต่น้อย

เขาบอกว่า นอกจากจะลดความสูญเสียราว 3 หมื่นล้านบาท ต่อปี จากการต้องปล่อยให้ผลไม้เน่าคาต้นแล้ว ยังประหยัดค่าแรง ค่าจัดการวีซ่า ค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าสาธารณสุข และค่าขนส่ง สำหรับคนงานที่ทำงานในสวน

ฟังตรงนี้แล้วใจแป้วแทนแรงงานไทยที่ไปทำงานในไร่สวนบ้านเขาจริงๆ