“มหาสารคาม” ประกาศเขตโรคระบาดในสัตว์ปีก ด้านกลุ่มเลี้ยงไก่งวงชี้สร้างความเสียหายนับล้านบาท!

“มหาสารคาม” ประกาศเขตโรคระบาดในสัตว์ปีก หลังตรวจพบโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ ด้านกลุ่มเลี้ยงไก่งวงชี้สร้างความเสียหายนับล้านบาท

นางไพเราะ รอยตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า เนื่องจากในท้องที่บ้านดอนมัน หมู่ 13 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีสัตว์ปีก ไก่พื้นเมือง ไก่งวง เกิดโรคระบาด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยปศุสัตว์อำเภอ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุการป่วยตาย และเก็บตัวอย่างซากสัตว์ปีกส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการเพื่อชันสูตรหาสาเหตุการตาย ซึ่งพบว่าเป็นโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ ซึ่งโรคนี้พบได้ในไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง และสัตว์ปีกอื่น ๆ

ฉะนั้นสำนักงานปศุสัตว์อำเภอกันทรวิชัย จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 พระราชบัญญัติโรคระบาดในสัตว์ พ.ศ.2558 ประกาศให้บ้านดอนมัน หมู่ 13 ตำบลขามเรียง ตำบลศรีสุข ตำบลขามเรียง ตำบลท่าขอนยาง ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย และ ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมืองมหาสารคาม เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน-วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ทั้งนี้หากพบไก่ตายขอให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้นำซากไปตรวจสอบ และกำจัดซากอย่างถูกวิธี ไม่ควรนำซากไก่ไปทิ้งตามแหล่งน้ำ หรือทิ้งตามแหล่งชุมชน ควรขุดหลุมฝังกลบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและได้สั่งทำลายสัตว์ปีกชนิดไก่งวง

ขณะที่ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามได้ออกคำเตือนห้ามเคลื่อนย้ายเป็ด ไก่ ห่าน ไก่วงวง เข้าออกหรือผ่านในเขตนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาต เป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย และเมื่อพบเป็ด ไก่ ห่าน และไก่งวง ป่วยหรือตายโดยไม่รู้ว่าเป็นโรคระบาดหรือไม่ทราบสาเหตุในหมู่บ้านเดียวกัน และพื้นที่ใกล้เคียง สุนัขหรือแมวที่มีอาการคล้ายคลึงกันในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 7 วัน ให้เจ้าของควบคุมซากสัตว์นั้นให้อยู่ ณ ที่สัตว์ตาย และห้ามมิให้ผู้อื่นเคลื่อนย้าย ชำแหละหรือกระทำการอื่นแก่ซากศัตว์ ทั้งนี้ผู้ใดฝ่าฝืนอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้านนายอดิสร เหล่าสะพาน ประธานกลุ่มเลี้ยงไก่งวงบ้านดอนมัน เปิดเผยกรณีนี้ว่า ในกลุ่มมีไก่ที่ตายรวมทั้งที่ฆ่าทิ้งหลังผลการตรวจพบว่าเป็นอหิวาต์รวมกว่า 1,400 ตัว มีทั้งตัวโตเต็มวัย ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่น่าจะต่ำกว่าล้านบาท สร้างความเสียหายให้เกษตรกรมากพอสมควร ช่วงนี้ก็ต้องพักรอไปจนถึงเดือนกันยายน เมื่อพื้นที่ปลอดเชื้อแล้วก็จะเริ่มเลี้ยงกันใหม่ โดยพ่อแม่พันธุ์ไก่งวงรุ่นใหม่จะเป็นไก่ที่ปรับปรุงสายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามเป็นผู้ดำเนินการให้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์