ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง “ฟื้นฟูข้าวไร่ถวายพ่อ ร.9”

ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ได้ทอดพระเนตรแปลงทดลอง แล้วมีพระราชดำรัส ว่า

“…ในอนาคต ข้าวไร่มีบทบาทมากเพราะไม่ต้องใช้น้ำมาก และอาศัยฝนตามธรรมชาติ”

พระองค์ท่านทรงเห็นความสำคัญของการค้นคว้าวิจัยการทดลองพืชในสิ่งแวดล้อมแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่มีสภาพใกล้เคียงกับเขตตั้งถิ่นฐานของชาวไทยภูเขา ในปี พ.ศ. 2522 พระองค์ได้พระราชทานที่ดินของสถานีเกษตรหลวงสะเมิง ซึ่งตั้งบนที่สูงในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ให้อยู่ในความดูแลของกรมวิชาการเกษตร โดยมีวัตุประสงค์ในการศึกษาวิจัยการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกข้าวไร่ ข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ข้าวโอ๊ต และพืชเมืองหนาวอื่นๆ โดยมีชื่อใหม่ว่า “สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 กรมวิชาการเกษตรได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า”

นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กล่าวว่าข้าวไร่อยู่คู่กับคนใต้มาตั้งแต่โบราณ เป็นวิถีที่คู่กับคนใต้เหมาะสมกับภูมิสังคมคนใต้ที่ปลูกข้าวไร่แซมยาง ต่อมาข้าวไร่ได้สูญหายไปหลายสายพันธุ์ ปัจจุบันถือว่าเป็นข้าวที่หายากมาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ได้สนองพระราชดำริองค์ในหลวง ร.9 ทรงพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชทำให้พันธุ์พืชพื้นเมืองได้รับการฟื้นฟูพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างมาก และทางศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงก็ได้สืบสานพระราชดำริทั้ง 2 พระองค์ท่านทำการฟื้นฟูข้าวไร่กลับคืนมา

ผอ. กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงในการฟื้นฟูข้าวไร่คือ การรวบรวบพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ดีเด่นที่จะได้อย่างน้อย 10 สายพันธุ์ ตลอดจนการกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อให้ชุมชนได้ปลูกเป็นอาหารเป็นรายได้ นอกจากนั้นจะร่วมกับผู้ประกอบการเอกชน และร้านอาหาร เช่น นาญ่าคาเฟ่  ทรายขาวริเว่อร์กรีนฮิลล์ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวอื่นๆ ในการส่งเสริมการจัดเมนูข้าวไร่ร่วมกับอาหารดีพัทลุง และส่งเสริมการตลาดในวงกว้างต่อไป และมีแนวคิดในการฟื้นฟูข้าวไร่วิถีใหม่นอกเหนือจากขยายพื้นที่ในสวนยางปลูกใหม่แล้ว คือการปลูกในพื้นที่ว่างบริเวณบ้าน ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ซึ่งปกติในช่วงฤดูที่ฝนตกหนักเกษตรกรจะปลูกพืชผักไม่ได้ แต่ข้าวไร่จะเจริญเติบโตได้ดี

นายเอกราช แก้วนางโอ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิชาการ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ผู้รับผิดชอบโครงการข้าวไร่ กล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมาศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ได้สำรวจและรวบรวมข้าวไร่ภาคใต้ไว้และส่งเก็บรักษาที่ศูนย์ปฏิบัติและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จำนวน 33 เชื้อพันธุกรรม ในขณะเดียวกันสำนักเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรโดย รศ.ดร. ร่วมจิตร นกเขา ก็ได้เก็บรวบรวมเชื้อพันธุกรรมข้าวไร่ไว้ 50 เชื้อพันธุกรรม

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้เป็นหน่วยงานหลักในการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวไร่ภาคใต้ได้ทั้งหมด 83 เชื้อพันธุกรรม นำมาปลูกอนุรักษ์พันธุ์ไว้ในแปลงนาทดลองของหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น ก่ำกัลยา กูนิงขาว ข้าวเข็ม ขาวไร่ ข้าวไร่โบราณ ข้าวเหลือง ขี้ช้าง จาเต๊ะ จ่านองี จ๋านองี จ่านอนะ จ๋านางสีดอย จ๋าบอแตโม๊ะ เจ๊ะว๊า เจ้ายำกระบี่ เจ้ายำสารขาว แจก แจ๊ะสัน ช่อจำปา ช่อไผ้ ช่อใหม่ ดอกข่า ดอกขาม ดอกญวนดอกดู่ ดอกมุด ดอนน้อย ดอน้อย ดำกาต้นดำ ดำร้อยรวง ดำไร่ ไทร นางเขียน นางครวญ นางดำ นางรัง นางหรั่ง บือมะพอ บือมิออิซู บือมิอีซุ ปลาแข็ง ปลาซิวทอง ป้องแอ๋ว ปาแซะ ปือเกอะซอแม ปือมะพอ ฝืนดิน พญาลือแดง พม่า ภูเขาทอง มายอบุแวห์ เม็ดในฝ้าย แม่ผึ้ง แม๊ะปูเต๊ะ  ยายอ ลือผัว ลูกดำ เล็บนก เล็บนกไร่ เล็บมือนาง สันป่าตอง สามเดือน สาวน้อย สีคอน ห่อหลวงราม หมีหอม หอมจัน หอมดอย หอมนิลไร่ หอมบอน หอมเบา หอมพูพาน เหนียวดอกยง เหลืองกำแมด เหลืองพวง เหลืองใหญ่ และอีเหลือง

นายธัชธาวินท์ สะรุโณ อดีตผู้เชี่ยวชาญ สวพ. 8 กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อคิดเห็นหลังจากการเยี่ยมชมแปลงข้าวไร่ว่า การวิจัยและพัฒนาข้าวไร่ภาคใต้ ควรจะต้องศึกษาคุณค่าทางโภชนเภสัช และความงาม  ที่มีอยู่ในสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่นหลายพันธุ์ การผสมพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของผลผลิตสูง อายุสั้น เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และให้คุณค่าทางโภชนาการ การขยายเมล็ดพันธุ์ดี การส่งคืนพันธุ์ดีสู่ชุมชน และขยายพื้นที่ปลูกให้เพียงพอต่อการทำตลาดของผู้ประกอบการ การปลูกข้าวไร่ในระบบเกษตรผสมผสานรูปแบบต่างๆ การแปรรูปข้าวที่มีคุณลักษณะเด่นเพื่อเป็นอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง การรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่แล้วพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ การเชื่อมโยงข้าวไร่กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งทางด้านวิชาการ ด้านการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับจังหวัด ท้องถิ่น ชุมชน เพื่อบรรจุในแผนยุทธศาตร์การพัฒนา การเชื่อมโยงผู้ประกอบการตลอดจนการจัดทำศูนย์เรียนรู้วิถีข้าวไร่ในอดีต เพื่อเป็น Soft Power ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวไร่ต่อไป