“เฮราโมน คอฟฟี่” ดอยช้าง คว้าสุดยอดกาแฟไทย 2 ปีซ้อน

“วริศ มันตาวลี” หนุ่มอาข่า วัย 39 ปี เจ้าของธุรกิจ “เฮราโมน คอฟฟี่ ฟาร์ม” หมู่บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด “สุดยอดกาแฟไทย” ถึง 2 ปีซ้อน ในประเภทกาแฟอาราบิก้า Semi-Dry กระบวนการแปรรูป Honey Process ปี 2564 และประเภทกาแฟโรบัสต้า ปี 2565

คุณวริศ มันตาวลี เจ้าของ เฮราโมน คอฟฟี่ ฟาร์ม

มฟล. ร่วมพัฒนาอาชีพ ชาวสวนกาแฟเชียงราย

เบื้องหลังความสำเร็จของ “เฮราโมน คอฟฟี่ ฟาร์ม” เกิดจากโครงการการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟอาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายตลอดห่วงโซ่อุปทาน ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่มี ดร.ชลิดา ธนินกุลภรณ์ หัวหน้าส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มฟล. เป็นหัวหน้าโครงการและคณะนักวิจัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.สิทธิ ดวงเพชร ดร.กิติพงษ์ คงพินิจบรรจง อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์

โครงการฯ ของ มฟล.มุ่งพัฒนาเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ในการยกระดับผลผลิตกาแฟอาราบิก้าที่มีคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการกาแฟอาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายให้ดีขึ้นกว่าเดิม คุณวริศ มันตาวลี เจ้าของเฮราโมน คอฟฟี่ ฟาร์ม เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ทีมนักวิจัย มฟล. สนับสนุนข้อมูลด้านปลูก แปรรูปกาแฟแก่เกษตรกร

คุณวริศได้เรียนรู้ข้อมูลวิชาการและภาคปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดกาแฟอาราบิก้า โดยใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพของเมล็ดกาแฟตามมาตรฐานโลก รวมถึงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการฟาร์มในเชิงธุรกิจ วางแผนการผลิตและการจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการ Coaching จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

ขณะเดียวกัน คุณวริศได้เรียนรู้การเพิ่มช่องทางการตลาดในรูปแบบใหม่ เพื่อกระจายผลผลิตกาแฟอาราบิก้าสู่วงกว้างในระดับสากลมากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อขายเมล็ดกาแฟคุณภาพที่มีความยั่งยืน ทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 10% และเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 15% โครงการฯ ของ มฟล.สร้างประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดเชียงรายในวงกว้าง ส่งผลให้ มฟล. ได้รับรางวัล Bronze Award ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ที่ผ่านมา

เมล็ดกาแฟเชอร์รี่สุกพร้อมเก็บเกี่ยว

วิถีคนทำกาแฟ

คุณวริศ เล่าว่า กว่าจะประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลังเรียนจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย เขาตัดสินใจไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ 1 ปี รู้สึกว่าการทำงานในเมืองวุ่นวาย ไม่มีความสุข จึงตัดสินใจกลับมาสืบทอดอาชีพทำสวนกาแฟ เนื้อที่ 5 ไร่ ของครอบครัว ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ปัจจุบัน เขาขยายพื้นที่ฟาร์มเพิ่มขึ้นเป็น 25 ไร่ มีรายได้หลักล้านจากการขายกาแฟภายใต้แบรนด์ “เฮราโมน” ซึ่งในภาษาอาข่า หมายถึง การแบ่งปัน

ดอกกาแฟ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาดอกกาแฟ

นอกจากนี้ คุณวริศยังทำสวนชา ปลูกไม้ผลเมืองหนาว เช่น มะคาเดเมีย พลัม อะโวกาโด และปลูกต้นเลือดมังกร ต่อยอดสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ “ชาเลือดมังกร” ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนรักสุขภาพอย่างแพร่หลาย “เลือดมังกร” เป็นสมุนไพรจีนที่ลำต้นและใบเป็นสีเขียว เมื่อนำมาชงดื่มเป็นน้ำชากลับมีสีแดงสด มีสรรพคุณด้านการบำรุงเลือด บำรุงหัวใจ บำรุงสายตา ช่วยในการนอนหลับดีขึ้น

เมล็ดกาแฟที่นำมาตากลดความชื้น

ทำสวนกาแฟแบบเกษตรอินทรีย์

ผลผลิตกาแฟคุณภาพดี รสชาติอร่อย กลมกล่อม ถูกใจผู้บริโภค ของ “เฮราโมน คอฟฟี่ ฟาร์ม” เกิดจากต้นกาแฟอาราบิกาและกาแฟโรบัสต้า อายุกว่า 20 ปี ปลูกที่ระดับความสูง 1,350 เมตร จากระดับน้ำทะเล ด้วยความสมบูรณ์ของภูมิประเทศและเอกลักษณ์ของแหล่งปลูกกาแฟดอยช้าง

คุณวริศ ซึ่งทีมนักวิจัย มฟล. ยกย่องว่าเป็น “เกษตรกรนักวิจัย” ไม่หยุดที่จะเรียนรู้พัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้น “พันธุ์กาแฟ” เป็นหนึ่งในหัวข้อที่เขาสนใจศึกษาเรียนรู้ เพราะเชื่อว่า การจะเป็นกาแฟพิเศษนั้นใช่อยู่ที่คุณภาพเมล็ดกาแฟอย่างเดียว ต้องมีสายพันธุ์กาแฟที่ดีด้วย คุณวริศ บอกว่า ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลกาแฟเป็นช่วงที่เหมาะแก่การคัดเลือกพันธุ์ที่ดีนำมาเพาะขยายพันธุ์พัฒนาต่อยอด เขาปลูกกาแฟพันธุ์ดีต่างๆ มากมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้แก่สินค้า เช่น กาแฟพันธุ์จาวา พันธุ์บลูเมาท์เทน พันธุ์ Tipica พันธุ์ Longberry และพันธุ์เกอิชา ซึ่งเป็นกาแฟตระกูลอาราบิก้า นิยมปลูกในพื้นที่สูง สามารถให้ผลผลิตได้ใน 3 ปี

ตรวจสอบคุณภาพดินอย่างต่อเนื่องทุกปี

คุณวริศประกาศตัวขอเป็นต้นน้ำที่ดีมีคุณภาพ สนับสนุนการปลูกป่าสร้างร่มเงาให้กาแฟ ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพปลูกกาแฟ คุณวริศใส่ใจในทุกขั้นตอนของการผลิตกาแฟเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี เริ่มจาก “คุณภาพดิน” โดยเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อบำรุงดินได้ถูกต้อง และใช้ชุดตรวจสอบดินเค็มภาคสนาม (Saline Soil Test Kit) ตรวจสอบปริมาณ N, P, K ของดินในสวนกาแฟ ว่ามีสารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟหรือไม่

ผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟในยี่ห้อ เฮราโมน คอฟฟี่ ฟาร์ม

ช่วงฤดูฝนต้องตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นร่มเงาให้กับต้นกาแฟในหน้าร้อน เพื่อให้แสงแดดส่องเข้าถึงต้นกาแฟ ผลผลิตกาแฟมีคุณภาพสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังตัดแต่งกิ่งกาแฟอย่างถูกต้องและเหมาะสมหลังฤดูการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ลำต้นกาแฟแข็งแรง มีการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มคุณภาพ รสชาติ ไม่เป็นที่ซ่อนของแมลง ทำให้ต้นกาแฟมีอายุยืนให้ผลผลิตยาวนานขึ้น ต้นกาแฟที่ตัดแต่งกิ่งอย่างเหมาะสม จะให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่มีการตัดแต่งกิ่ง ดังนั้น เพื่อให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพที่ดีควรตัดแต่งอยู่เสมอ เอากิ่งที่ไม่ติดผลออก เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับผลที่ติดอยู่สูงสุด

คุณวริศปลูกต้นกาแฟสายพันธุ์เกอิชา

“หลังปรับเปลี่ยนจากการปลูกโดยใช้สารเคมีมาเป็นสวนกาแฟออร์แกนิก ต้องทำใจและยอมรับสภาพผลที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาเพลี้ย มอดรบกวน ต้องหาวิธีอื่นมาใช้ป้องกัน เช่น ตัดหญ้าทุกๆ 2 เดือน ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย บาสเซียน่า สายพันธุ์ดีโอเอ บีสี่ กำจัดมอดและแมลงศัตรูของกาแฟโดยวิธีธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนระยะแรกหลังไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ผลผลิตกาแฟน้อยลง แต่มั่นใจว่า คุณภาพผลผลิตและผลตอบแทนได้ขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน การปลูกกาแฟต้องใส่ใจในคุณภาพมากๆ เพราะมันคือชีวิตและลมหายใจ การทำสวนกาแฟออร์แกนิกได้กาแฟคุณภาพดี รวมทั้งปลอดภัยทั้งผู้ปลูกกาแฟและผู้บริโภคด้วย” คุณวริศ กล่าว

ประมาณเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ก้าวสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว คุณวริศจะทำงานยุ่งกับกระบวนการโม่ หมัก ล้าง ตากกาแฟเพื่อทำกาแฟคุณภาพสูง คุณวริศเน้นเก็บผลกาแฟลูกสุกสีแดงหรือสีเหลืองเท่านั้น หลังตากได้ 3 วัน จะเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างลูกที่สุกฉ่ำกับสุกไม่ฉ่ำ จึงต้องคัดออกเพื่อให้ได้กาแฟคุณภาพตามที่ต้องการ สำหรับผลผลิตกาแฟในปีนี้ คาดว่ามีประมาณ 10 ตัน สีเป็นกะลาสารได้ประมาณ 1 ตันกว่าๆ

ต้นเลือดมังกร สมุนไพรจีน

ส่วนกระบวนการ wash process เริ่มจากเก็บผลกาแฟที่สุกแล้วจากต้นมาล้างทำความสะอาดและคัดแยกคุณภาพของผลกาเเฟ จากนั้นทำการกะเทาะเปลือกกาเเฟออกจนเหลือเเต่เมล็ดกาเเฟกะลาที่ยังมีเมือกติดอยู่ และนำไปหมักในถัง ให้ได้ค่าความเป็น “กรด-ด่าง” หรือค่า pH ที่กำหนด หลังผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว นำเมล็ดกาแฟกะลาไปล้างเมือกให้สะอาด นำเข้าไปในโรงตากที่มีอากาศไหลเวียนอย่างดี

น้ำชาสีแดงจากต้นเลือดมังกร

สำหรับขั้นตอนการทำ Honey Process เริ่มจากการล้างทำความสะอาดผลกาเเฟเชอร์รี่ เเละทำการคัดเเยกคุณภาพ จากนั้นจะปอกเปลือกกาเเฟเชอร์รี่ออกให้เหลือเเต่เมล็ดที่ยังมีเมือกติดอยู่ แล้วจึงนำไปตากในโรงเรือนที่มีอากาศหมุนเวียน ซึ่งกาเเฟกะลามีเมือกแห้ง ที่ได้จากกระบวนการนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มคล้ายกับเคลือบด้วยคาราเมล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะมีวิธีทำที่แตกต่างกันไปในกระบวนการผลิต

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก FB : Heqlaqmoq Coffee Farm เฮราโมน คอฟฟี่ ฟาร์ม