ปลูกไม้ประจำถิ่น สร้างอาชีพ

สำนักงาน กศน. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ราชการ รวมถึงการส่งเสริมความรู้เรื่องการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรที่สนใจปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกำหนดแนวทางส่งเสริมการตลาดในด้านดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน

สำนักงาน กศน. ภายใต้การนำของ นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. จึงได้มอบนโยบายให้สถานศึกษาทุกแห่ง จัดกิจกรรมฝึกอาชีพ “เพาะพันธุ์ไม้พื้นถิ่น สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความสนใจในการฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรมเกิดกระบวนการเรียนรู้ การเพาะพันธุ์ การปลูก การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ไม้พื้นถิ่นอันเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีช่องทางในการประกอบอาชีพจากการเพาะพันธุ์และการปลูกไม้พื้นถิ่น ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565

ประชาชนที่สนใจอาชีพเพาะกล้าไม้

ทั้งนี้ พบว่ามีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน. จัดกิจกรรมหลักสูตรฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรม ภายใต้โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน จำนวน 813 แห่ง โดยมีหลักสูตรฝึกอาชีพเพาะพันธุ์กล้าไม้พื้นถิ่นระดับจังหวัด รุ่นที่ 1 ทั้งสิ้น 831 หลักสูตร เช่น ไผ่ตงลืมแล้ง ส้มโอทับทิบสยาม เห็ดฟางในตะกร้า ไผ่ซางนวล มะขามเทศเพชรโนนไทย บอนสี มะค่าโมง จำปาดะมังกรทอง และทองอุไร เป็นต้น

โดยมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมอาชีพดังกล่าว จำนวน 18,398 คน ผู้เข้ารับการอบรมอาชีพในโครงการนี้ต่างมีความพึงพอใจระดับมากที่สุดถึง 58.53% กิจกรรมฝึกอาชีพ “เพาะพันธุ์ไม้พื้นถิ่น สร้างอาชีพ สร้างรายได้” นอกจากเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่น เพิ่มพื้นที่สีเขียว สนับสนุนการลดคาร์บอนในอากาศแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสในการฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกด้วย

ในยามนี้ หากใครที่ยังไม่มีอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงดูครอบครัว ขอแนะนำให้เดินเข้าไปสมัครเรียนโครงการอบรมอาชีพระยะสั้น กับครู กศน. ใกล้บ้าน โดยเฉพาะหลักสูตรอาชีพ “เพาะพันธุ์ไม้พื้นถิ่น สร้างอาชีพ สร้างรายได้” แนะนำให้เรียนรู้การเพาะพันธุ์พืช 6 ชนิด คือ ไผ่ตงลืมแล้ง ส้มโอทับทิบสยาม เห็ดฟางในตะกร้า ไผ่ซางนวล มะขามเทศเพชรโนนไทย บอนสี เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกดูแลง่าย สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงได้ไม่ยาก

ความสำเร็จของโครงการ

ไผ่ตงลืมแล้ง

ไผ่ตงลืมแล้ง เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุด เพราะมีจุดเด่นสำคัญคือ ให้หน่อดก และออกหน่อนอกฤดูได้ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ แถมยังให้หน่อโต คุณภาพดีกว่าไผ่พันธุ์อื่นๆ หลายเท่าตัว หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี ให้ผลผลิตสูง 30-50 กิโลกรัมต่อกอต่อปี นอกจากนี้ ไผ่ตงลืมแล้งยังมีคุณสมบัติเด่นคือทนทานต่อปัญหาน้ำท่วมได้ดีมาก สามารถนำไปแปรรูปอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งต้ม แกง ซุป หมก ผัด ต้มกระดูกหมู รวมทั้งแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง แต่ละปีหน่อไม้ดองมีมูลค่าทางการตลาดสูงมากทีเดียว

ด้านตลาดต้องการหน่อไม้นอกฤดูจำนวนมาก เกษตรกรสามารถขายสินค้าหน่อไผ่ตงลืมแล้งได้ในราคาสูง ไม่ต่ำกว่า 40-80 บาทต่อกิโลกรัม ทุกวันนี้การผลิตหน่อไม้นอกฤดูยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานมีความต้องการสูงสุด รองลงมาคือภาคเหนือ

ไผ่ตงลืมแล้ง

เกษตรกรนิยมปลูกไผ่ตงลืมแล้ง เพราะต้องการหน่อเป็นหลัก จึงสามารถปลูกไผ่ตงได้ในอัตราระยะประชิด โดยปลูกในระยะห่าง 2×3 เมตร เฉลี่ย 1 ไร่ ปลูกได้จำนวน 265 กอ ต้นไผ่สามารถออกหน่อได้ดีและเร็ว เกษตรกรควรปลูกไว้ลำแม่ แค่ 1-2 ลำเท่านั้น การปลูกไผ่ตงลืมแล้งในระยะถี่ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ประหยัดเวลาและพื้นที่ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแล

ไผ่ 1 กอ จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 6-10 กิโลกรัมต่อ 1 นอกฤดูกาล ราคาที่ขายได้ 40-70 บาทต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 250 บาทต่อกอ มีรายได้ไร่ละ 50,000 บาทขึ้นไป หากต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้น ควรปลูกพืชผักริมสวนอื่นๆ เสริมรายได้ เช่น ชะอม ใบย่านาง ใบแมงลัก เห็ด มะละกอ เพราะพืชผักพื้นบ้านเหล่านี้ ถือเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารที่แปรรูปจากหน่อไม้ สินค้าทุกชนิดขายดี เป็นที่ต้องการของตลาด

ส้มโอทับทิมสยาม

ส้มโอทับทิบสยาม

ส้มโอทับทิมสยาม เป็นไม้ผลขายดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในประเทศและส่งออก เพราะส้มโอทับทิมสยามมีรสชาติหวาน เนื้อสีชมพูคล้ายสีทับทิม จนถึงสีแดง ผิวของผลอ่อนนุ่ม เนื้อส้มโอไม่แฉะน้ำ เนื้อแห้งกรอบ ขนาดผล 1.5-2 กิโลกรัม ขายได้ราคา 200 บาทต่อผล

เห็ดฟางในตะกร้า 

เห็ดฟางในตะกร้า

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมเมืองที่มีค่าครองชีพสูง และบริเวณที่พักอาศัยมีพื้นที่ว่างไม่มาก การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติกจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

สภาพอากาศที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดฟาง ประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส เนื่องจากเห็ดฟางชอบอากาศร้อน เจริญเติบโตได้ดีทั้งในฤดูฝนและในฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนช่วยเร่งการเจริญเติบโตของดอกเห็ดได้ดี ช่วงฤดูหนาว อากาศที่เย็นเกินไปไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของดอกเห็ดฟาง การเพาะเห็ดฟางในตะกร้ามีต้นทุนต่ำ เหมาะกับทุกบ้านเรือน เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตทุกฤดูกาล ที่สำคัญเป็นพืชปลอดสารพิษ นอกจากนำผลผลิตมารับประทานในบ้านเรือนแล้ว ผลผลิตที่เหลือยังสามารถนำไปขายเป็นรายได้เสริมอย่างดี

เห็ดฟางนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น ยำเห็ดฟาง เห็ดฟางผัด ต้มยำเห็ดฟาง และแกงเลียงใส่เห็ดฟาง ฯลฯ เห็ดฟางยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย เพราะเห็ดฟางมีสาร Vovatoxin ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของไวรัส ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับไขมันในเส้นเลือดและโรคหัวใจได้

ไผ่ซางนวล

ไผ่ซางนวล

ไผ่ซางนวล (ภาคเหนือ), ไผ่ซางดอย, ไผ่ซาง, ไผ่ไล่ลอ (น่าน), ไผ่นวล (กาญจนบุรี) เป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 8-20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำ ประมาณ 6-16 เซนติเมตร ลำมีสีเขียวนวล เนื้อไม้หนา 1-3 เซนติเมตร หน่อมีขนาดกลาง 2-4 กิโลกรัม ปลูกได้ในสภาพดินที่เป็นหิน เพราะเป็นไม้ภูเขา ทนแล้งได้ดี กอไผ่ซางนวลดูแลง่าย ไม่ยุ่งยากในการตัดแต่งกิ่ง การขยายพันธุ์จะทำโดยการตอนกิ่งแขนงข้างเหมือนกับไผ่อื่นทั่วไป

ลำไผ่ซางนวลนิยมใช้ในอุตสาหกรรมไม้เส้น ไม้ตะเกียบ ไม้เสียบอาหาร งานจักสาน งานหัตถกรรม โครงนั่งร้านงานก่อสร้าง ไม้ไผ่เสริมคอนกรีตแทนเหล็ก หน่อนำมาปรุงอาหาร นิยมตัดหน่อใต้ดิน เพราะมีรสหวานดีกว่าในบรรดาหน่อไม้ด้วยกัน นอกจากนี้ ไผ่ซางนวลยังเป็นที่อยู่อาศัยของหนอนรถด่วน สามารถจับมาขายได้ราคาดี

มะขามเทศพันธุ์เพชรโนนไทย

มะขามเทศเพชรโนนไทย

มะขามเทศพันธุ์เพชรโนนไทย เป็นพืชทางเลือกที่เหมาะสำหรับเพาะปลูกในแหล่งดินเค็มและสภาพแห้งแล้ง เพราะต้นมะขามเทศเติบโตได้ดีในสภาพดินเค็ม และให้ผลผลิตดีมาก เกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา จึงเลิกอาชีพปลูกข้าว หันมาปลูกมะขามเทศเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 60 ล้านบาท

เกษตรกรนิยมปลูกมะขามเทศพันธุ์เพชรโนนไทย โดยมีต้นทุนการผลิต 24,395 บาทต่อไร่ (1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 25 ต้น) มะขามเทศเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 700 กิโลกรัมต่อไร่ มะขามเทศพันธุ์เพชรโนนไทยมีรสหวาน กรอบ อร่อย เริ่มติดดอกช่วงปลายเดือนธันวาคม และเริ่มเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี ราคาดีมาก จำหน่ายหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-80 บาท ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 25,605 บาทต่อไร่

บอนสี

บอนสี

บอนสี เป็นไม้ประดับขายดีติดตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะบอนสีสามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ หรือมีลูกไม้ใหม่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ราคาบอนสี เริ่มต้นตั้งแต่ 35 บาทขึ้นไป จนถึงหลักพันต่อกระถาง หลายรายขายบอนสีได้ราคาแพงเพราะสินค้ามีจำนวนน้อย เป็นสายพันธุ์ที่หายาก หรือเป็นสายพันธุ์ที่ผสมขึ้นมาใหม่ จึงตั้งราคาขายได้ค่อนข้างแพง ตลาดส่วนใหญ่นิยมบอนสีที่มีใบสีแดง สีสดสวยงาม    

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ