เผยแพร่ |
---|
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับพันธมิตร และสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) จัดงาน Crea.verse: Portal to Future ขึ้นระหว่างวันที่ 15-27 พฤศจิกายน 2565 กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และจัดกลุ่มผู้มีสมรรถนะสูงเพื่อสร้างระบบนิเวศของงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม” (The Development of CREATIVITY Network in Digital Economy Transformation and Talent Clustering to fabricate Creative and Innovation ECOSYSTEM) ของคณะวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ.
ผศ.ดร.ปริยกร ปุสวิโร หัวหน้า Edutainment Socio-Interaction Computing Lab (ESIC Lab) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า จากประสบการณ์ที่ได้สอนเทคโนโลยีให้กับนักศึกษาสายศิลปะมากว่า 20 ปี และการทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ นอกจากจะเห็นอุปสรรคของการทำงานระหว่างคนสายวิทย์กับสายศิลป์แล้ว ยังเห็นถึงช่องว่างที่ทำให้ขาดการเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน หลายฝ่ายจึงพยายามในการนำเทคโนโลยีมารวมกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และสร้างคุณค่า ที่จะช่วยสร้างมูลค่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้คำว่า นิเวศอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Digital Ecosystem) แต่ที่ผ่านมากลุ่มคนทำงานเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างสรรค์ ยังมีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างน้อย และเป็นการทำงานแบบแยกส่วน
“ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นที่เป็นช่องว่างสำคัญของสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม คือภาคการศึกษานักศึกษาเรียนรู้ภาคทฤษฎีมากกว่าลงมือปฏิบัติและถูกสอนให้ทำงานเฉพาะด้าน ไม่ได้ถูกฝึกให้เชื่อมสาขาเข้าด้วยกัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมาใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะให้กับบุคลากรใหม่ทั้งหมดกว่าจะทำงานได้จริง ทำให้เกิดคำถามว่าจะเชื่อมโยงการทำงาน องค์ความรู้ ตลอดจนภาครัฐมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง”
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัย เพื่อหาความเชื่อมโยงของความเป็นศิลปะในลักษณะแบบพหุสาขา กับการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือศาสตร์ต่างๆ นำมาสู่งานวิจัยเพื่อศึกษาวิเคราะห์และจำแนกสาขาของงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงสร้างระบบฐานข้อมูลที่รวบรวมผู้สร้างสรรค์ที่มีอยู่ ภาคธุรกิจและแหล่งทุนสนับสนุน รวมถึงนโยบายของภาครัฐ โดยเป้าหมายหลักของงานวิจัยคือ เพื่อเก็บรวบรวมฐานข้อมูล Database จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และการเป็น Knowledge Hub ของ มจธ. รวมถึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนแบ่งปันองค์ความรู้ และยังเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่าย Digital Creative Talents เพื่อสร้างชุมชนเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์ขึ้น
สำหรับการดำเนินโครงการมีระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้จัดทำฐานข้อมูล Data visualization ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสามารถแยกหมวดหมู่หรือคุณลักษณะของนักคิดสร้างสรรค์ หรือครีเอทีฟ การเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกับหน่วยงานสร้างสรรค์ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) OKMD มิวเซียมสยาม หอภาพยนตร์ เป็นต้น อีกทั้งได้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ที่สอนเรื่องครีเอทีฟ มีเดีย ดนตรี งานบันเทิง กับการสร้างผลงานความคิดสร้างสรรค์ จึงได้พบข้อสังเกตจากงานวิจัยคือ การขาดการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพระหว่างภาคการศึกษากับภาคการผลิตจริง
“แม้ว่าเนื้อหาและหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยสอนอยู่จะมีความโดดเด่นด้านทักษะเชิงความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ยังมีลักษณะของการเรียนแบบแยกส่วน ขณะที่ภาคเอกชนต้องการคนที่มีทักษะที่หลากหลายและตรงกับลักษณะงานของบริษัท ทางออกหนึ่งของปัญหานี้คือ การพัฒนาหลักสูตรที่ไม่ใช่ระดับปริญญาตรี แต่เป็นหลักสูตรให้ประชาชนทั่วไปหรือพนักงานบริษัทที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเองเข้ามาเรียนรู้ได้ ในรูปแบบหน่วยกิตย่อยที่เรียกว่า R U N ( Reskill Upskill และ New skill)”
การดำเนินการโครงการในปีที่ 3 นั้น หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า “เป็นการจัดทำ Policy guideline ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยที่จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยก้าวกระโดดและเดินไปด้วยกันกับ Crea.verse”
ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มจธ. กล่าวว่า งานวิจัยนี้ไม่ใช่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในเรื่องการศึกษาด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะนำองค์ความรู้จากงานวิจัยนี้เพื่อเปลี่ยนการเรียนการสอนจากในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเป็นรูปแบบใหม่ โดยจะให้ทั้งมหาวิทยาลัยเป็นห้องเรียนของผู้เรียนรู้ ไม่เฉพาะนักศึกษา ยังรวมถึงคนทั่วไป โดยการนำความรู้และเทคโนโลยีใส่เข้าไปในทุกส่วนของมหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะทำให้ทั้งมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้หรือห้องสมุดความรู้ เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการให้ขึ้นภายใต้ KMUTT as a Living Lab
“โครงการนี้ จะทำให้เห็นประโยชน์ของชุมชนสร้างสรรค์ดิจิทัลกับการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงผสมผสานกับองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนากำลังคน ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา การวิจัย ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดคุณค่าที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เข้มแข็ง และกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือในอนาคต และเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวต่อไปเพื่อการพัฒนากำลังคนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต่อไป”
สำหรับการจัดงาน Crea.verse: Portal to Future จุดประสงค์หลัก เพื่อสร้างเครือข่ายคนในอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ ให้มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรมและศึกษาหาแนวทางในการสนับสนุนกลุ่มคนทำงานภาคธุรกิจ ด้าน Digital Creative Economy ให้คนเหล่านี้ เกิดการทำงานร่วมกัน และรวมตัวกันให้เกิดศักยภาพขั้นสูง จนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยได้ งานนี้มีจัดแสดงในระหว่างวันที่ 15-27 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00-19.00 น. ณ อาคาร KX Building ชั้น 1 ถนนกรุงธนบุรี กรุงเทพมหานคร (ใกล้บีทีเอส วงเวียนใหญ่) สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/creaverse.world