ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ “Young Smart Farmer” เกษตรกรรุ่นใหม่ กับการพลิกแนวคิด เพิ่มมูลค่าผลผลิต ตอบเทรนด์ผู้บริโภค

“ชนะอะไรไม่เท่าชนะใจตัวเอง” นี่คือจุดเริ่มต้นของ ธนวัฒน์ ว่องไวตระการ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ที่พลิกฟื้นผืนดินจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องฟันฝ่าอุปสรรคและใช้เวลามากกว่า 2 ปี ในการสร้างแปลงผักออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานส่งถึงมือผู้บริโภคผ่านสาขาต่างๆ ของแม็คโคร

“ครอบครัวผมเป็นเกษตรกรชาวไร่ที่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละครั้ง เมื่อเรียนจบออกมา จึงมองหาช่องทางที่จะปลูกพืชผักชนิดอื่น เพื่อหารายได้หมุนเวียนเข้ามาเสริม” ธนวัฒน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกผักเสริมรายได้จากการทำไร่อ้อยและมันสำปะหลัง

พลิกชีวิตสู่วิถีเกษตรอินทรีย์

ช่วงแรกเขาลองผิดลองถูกกับการปลูกผักหลายชนิดที่ต้องใช้สารเคมี เพราะให้ผลตอบแทนดี ตามคำบอกเล่าที่ว่า…จะทำให้มีรายได้ มีโอกาสรวยเหมือนถูกหวย…ซึ่งเมื่อลงมือทำ สิ่งที่เขาต้องเจอหลังจากนั้น ทำให้ธนวัฒน์เปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรไปอย่างสิ้นเชิง

“การเริ่มต้นปลูกผักของเรา ยอมรับว่าใช้สารเคมีเยอะมาก จนตัวผมเองได้รับผลกระทบจากการฉีดพ่น ทำให้แสบและคันไปทั้งตัว เห็นถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี จึงมองหาวิธีใหม่ในการทำเกษตร และเห็นว่าผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษเป็นคำตอบ”

ธนวัฒน์จึงเริ่มหาความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์แบบเจาะลึก ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเรียนรู้จากวิสาหกิจชุมชน จนพบกับเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายผู้ส่งผลผลิตให้กับแม็คโคร จึงได้แลกเปลี่ยน พูดคุย รวมถึงให้คำแนะนำภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน ที่ทีมงานผู้เชี่ยวชาญของแม็คโครบอกเขาว่า หลังจากสถานการณ์โควิด ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ความต้องการผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิกปลอดสารพิษในกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคทั่วไปก็มีมากขึ้นตามลำดับ

จากขาดทุนสู่กำไรชีวิต

ด้วยความมุ่งมั่นของธนวัฒน์ ที่จะก้าวเดินสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ เขาจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา เพื่อสร้างผลผลิตที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยก้าวแรกของเขาเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ และด่านสำคัญที่เขาต้องผ่านไปให้ได้ก็คือ การเปลี่ยนแนวคิดของครอบครัวที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรเครือข่ายผู้ส่งผลผลิตให้กับแม็คโคร ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่จะเดินหน้า เขาขอทางบ้าน เปลี่ยนพื้นที่กว่า 60 ไร่ มาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักออร์แกนิก โดยใช้เวลากว่า 2 ปี ในการพัฒนาและปรับสภาพแวดล้อม ให้ได้มาตรฐานออร์แกนิกและมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ซึ่งต้องลงทั้งเงินทุน ช่วงแรกก็ขาดทุนไปเป็นหลักล้านบาท แต่ด้วยความมุ่งมั่น เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจ จนได้พื้นที่เกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จอย่างปัจจุบัน

“ช่วงแรกผมปลูกผักที่มีอายุสั้น ให้ได้ผลตอบแทนเร็ว เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า ก็โตบ้าง ไม่โตบ้าง เลยพยายามหาความรู้เพิ่มเติม และลองผิดลองถูก รวมทั้งไปศึกษาดูงานจากที่ต่างๆ จึงรู้ว่าตลาดมีความต้องการสินค้าชนิดใด เราก็ปลูกพืชชนิดนั้น ส่งผลให้มีรายได้ต่อเนื่องและมั่นคงมากขึ้น” ธนวัฒน์ กล่าว

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ส่งผักปลอดสารพิษไปจำหน่ายยังสาขาต่างๆ ของแม็คโครมากกว่า 30 ชนิด มีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน โดยไม่หยุดที่จะพัฒนาพืชผักเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพ พัฒนาผักอินทรีย์ใหม่ๆ ป้อนตลาดที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพริกหวานและมะเขือเทศโทมัส จากจังหวัดเชียงใหม่

ล่าสุด ธนวัฒน์คิดทำผักดูโอ้ (Duo) ที่นอกจากจะนำมาประดับตกแต่งแล้ว ยังนำมาใช้ประโยชน์คู่กันและเป็นที่ต้องการของร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม อย่างโรสแมรี่และเลม่อน เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ยกระดับผักออร์แกนิกให้มีมูลค่าสูงขึ้น

“การทำผักอินทรีย์ ทำให้ได้ราคาผลผลิตที่สูงขึ้น เหมือนเป็นรางวัลชีวิตให้กับเรา ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจของเราคิดว่า จะมุ่งมั่นและพัฒนาต่อไป อนาคตยังคิดที่จะแปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า โดยมีทีมงานของแม็คโครคอยให้คำแนะนำที่ดี เรียกว่าเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับเราจริงๆ” ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ธนวัฒน์กลายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง เขาเป็น “Young Smart Farmer” ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ มีผู้คนเดินทางมาดูงาน ศึกษาแนวคิดของเขาและสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีโอกาสเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ และเขายังส่งผลผลิตอินทรีย์ขายให้แม็คโครในหลายเวที รวมถึงงานมหกรรมครบเครื่องเรื่องอาหารและอุปกรณ์ ครั้งที่ 15 ที่เมืองทองธานี ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่านอกเหนือจากผลลัพธ์ที่เป็นรายได้ ความรู้ที่ธนวัฒน์ได้จากการลงมือทำจริง เป็นเหมือนกำไรที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565