ล้ำได้อีก!! ใช้น้ำปัสสาวะในนาข้าวทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้

วิธีผสมน้ำปัสสาวะ

น้ำปัสสาวะ เกิดจากระบบการขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยการแยกกาก คือ อุจจาระออกจากกัน ฉะนั้น น้ำปัสสาวะ จึงต่างจากอุจจาระที่เป็นของเสีย

            เมื่อน้ำปัสสาวะใช้ประโยชน์ในคนได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีผู้นำมาทดลองใช้กับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย นั่นก็คือ การใช้น้ำปัสสาวะใช้ในนาข้าว ซึ่งผู้ทดลองในเรื่องนี้ก็คือ นายสุธี ชิวหากาญจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมการเกษตร

อุปกรณ์ในการทดลอง
อุปกรณ์ในการทดลอง

            ปกติคนเราจะถ่ายน้ำปัสสาวะ วันละ 1-1.5 ลิตร องค์ประกอบของน้ำปัสสาวะของผู้ใหญ่ 1 คน ต่อวัน ประกอบไปด้วย

            – ยูเรีย (ไนโตรเจน) 6-180 กรัม

            – ครีเอไทน์ (ไนโตรเจน) 0.3-0.8 กรัม 

            – แอมโมเนีย (ไนโตรเจน) 0.4-1.0 กรัม

            – กรดยูลิก (ไนโตรเจน) 0.008-0.2 กรัม

            – โซเดียม 2.0-4.0 กรัม 

            – โพแทสเซียม 1.5-2.0 กรัม

            – แคลเซียม 0.1-0.3 กรัม

            – แมกนีเซียม 0.1-0.2 กรัม

            – คลอไรด์ 4.0-8.0 กรัม

            – ฟอสเฟต (ฟอสฟอรัส) 0.7-1.6 กรัม

            – อนินทรีย์ ซัลเฟต (ซัลเฟอร์) 0.6-1.8 กรัม

            – อินทรีย์ ซัลเฟต (ซัลเฟอร์) 0.006-0.2 กรัม

1470905822

            ธาตุอาหารเหล่านี้ สามารถนำไปปลูกพืชโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย สรุปว่า น้ำปัสสาวะ ที่มนุษย์ขับถ่ายและทิ้งในแต่ละวันสามารถตอบสนองต่อความต้องการปุ๋ยในการปลูกพืชของโลกได้ทั้งหมดโดยธรรมชาติ นายสุธี จึงได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ เพื่อข้อมูลที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้ สามารถที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำปัสสาวะเพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้

            วัตถุประสงค์ คือ ศึกษาอัตราการใช้น้ำปัสสาวะที่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของข้าว (การแตกกอ)

แบ่งเป็น 4 การทดลอง
แบ่งเป็น 4 การทดลอง

การศึกษาวิจัย ทำโดยใช้พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 ปลูกในกระถาง กระถางละ 1 ต้น จำนวน 4 Treatment (วิธีการ) Treatment ละ 4 Replication (ขบวนการ) ใช้อัตราน้ำปัสสาวะที่แตกต่างกัน คือ

            Treatment ที่ 1    ใช้น้ำปัสสาวะ ต่อน้ำ 1:50 (ลิตร)

            Treatment ที่ 2    ใช้น้ำปัสสาวะ ต่อน้ำ 1:100 (ลิตร)

            Treatment ที่ 3    ใช้น้ำปัสสาวะต่อน้ำ 1:150 (ลิตร)

            Treatment ที่ 4    ไม่ใช้น้ำปัสสาวะ

            และหาค่าเฉลี่ยจำนวนการแตกกอของข้าว

ผลการศึกษาวิจัย

            จากการศึกษาพบว่า Treatment ที่ 1 ใช้น้ำปัสสาวะ ในอัตรา 1 ลิตร ต่อ น้ำ 50 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 81 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 77, 70 และ 62 โดยมีค่าเฉลี่ย 72.50 ต้น

            Treatment ที่ 2 ใช้น้ำปัสสาวะ ในอัตรา 1 ลิตร ต่อ น้ำ 100 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 72 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 54, 53 และ 49 โดยมีค่าเฉลี่ย 57 ต้น

            Treatment ที่ 3 ใช้น้ำปัสสาวะ ในอัตรา 1 ลิตร ต่อ น้ำ 150 ลิตร ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 64 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 35, 24 และ 20 โดยมีค่าเฉลี่ย 31.25 ต้น

            Treatment ที่ 4 ไม่ใช้น้ำปัสสาวะ (ใช้น้ำธรรมดา) ปริมาณการแตกกอของข้าวสูงสุด จำนวน 27 ต้น ต่อกอ รองลงมาคือ 25, 25 และ 20 โดยมีค่าเฉลี่ย 24.25 ต้น

ผลผลิตที่ได้
ผลผลิตที่ได้

            จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า น้ำปัสสาวะมีผลต่อการเจริญเติบโตของข้าว (การแตกกอ) จริง สามารถนำผลการศึกษาไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับอำเภอและจังหวัด นำไปส่งเสริมให้เกษตรกรนำน้ำปัสสาวะมาใช้ในนาข้าว เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยในนาข้าว และรณรงค์การใช้น้ำปัสสาวะทดแทนปุ๋ยเคมี

 

หากสนใจและต้องการข้อมูล การใช้น้ำปัสสาวะในนาข้าวของ นายสุธี ชิวหากาญจน์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถนนธราธิบดี ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือโทรศัพท์ (077) 311-525 มือถือ (081) 416-3095 ได้ทุกวัน